กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ หนำซ้ำยังทำให้เศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ Recession และฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังสูง เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ รวมถึงปัญหา Supply Chain Disruption ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ Economic Intelligence Unit (EIU) ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2565 ลงเหลือ 3.4% จากเดิม 3.9% ขณะที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2565 ลงเหลือ 3.2% จากเดิม 3.4%
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจว่า การที่สงครามทางการทหารเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับสงครามทางเศรษฐกิจผ่านมาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกและรัสเซียตอบโต้กัน ไม่ได้มีเพียงผู้ที่เสียประโยชน์เท่านั้น แต่ในระยะสั้นอาจมีผู้ผลิตในบางประเทศที่ได้ ?ส้มหล่น? จากความขัดแย้งดังกล่าวในบางมิติ ดังนี้
- ผู้ผลิตธัญพืช เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และน้ำมันดอกทานตะวัน ที่ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันราว 25% 30% และ 75% ของทั้งโลกตามลำดับ ซึ่งการที่ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การขนส่งก็ทำได้ยากขึ้นส่งผลให้ตลาดธัญพืชโลกเกิดภาวะอุปทานตึงตัวสวนทางกับความต้องการที่สูงขึ้น ผลักดันให้ปัจจุบันราคาของธัญพืชทั้ง 3 ชนิดในช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้นถึงราว 40% เทียบกับต้นปี 2565 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกธัญพืชสำคัญรายอื่น ๆ อาทิ ออสเตรเลียและสหรัฐฯ (มีส่วนแบ่งตลาดข้าวสาลี 13% และ 11% ของโลก) รวมถึงออสเตรเลียและแคนาดา (มีส่วนแบ่งตลาดข้าวบาร์เลย์ 26% และ 5% ของโลก) อาจได้ประโยชน์จากคำสั่งซื้อและราคาที่ขยับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นความมั่นคงด้านอาหารก็อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้บางประเทศไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากนัก อย่างล่าสุดอาร์เจนตินาและฮังการีก็ห้ามส่งออกธัญพืชเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศแล้ว
- ผู้ผลิตพลังงาน รัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติถึงราว 11% และ 17% ของโลก ซึ่งราคาของสินค้าพลังงานทั้งสองในช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 40% และ 90% จากต้นปีตามลำดับ ทั้งนี้ การที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้หลักคิดเป็นราว 40% ของรายได้ประเทศรัสเซียทำให้ที่ผ่านมามาตรการลงโทษของชาติตะวันตกพยายามมุ่งเป้าไปที่การตัดท่อน้ำเลี้ยงดังกล่าว ล่าสุด สหรัฐฯ และชาติตะวันตกบางแห่งประกาศห้ามหรือพยายามลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประเทศผู้ผลิตพลังงานอื่น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ OPEC ที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบเกือบ 40% ของโลก รวมถึงสหรัฐฯ กาตาร์และนอร์เวย์ (สัดส่วนผลิตก๊าซธรรมชาติราว 20% 4% และ 3% ของโลก ตามลำดับ) อาจได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บางประเทศ อาทิ จีนและอินเดียอาจได้ประโยชน์จากการที่รัสเซียต้องหาผู้ซื้อรายใหม่หรือเพิ่มปริมาณการขายกับผู้ซื้อรายเดิมด้วยราคาที่ต่ำลงเพื่อทดแทนคำสั่งซื้อที่หายไปจากประเทศคู่ขัดแย้ง
- ผู้ผลิตแร่โลหะและก๊าซหายาก ทั้งพาลาเดียม (ใช้ผลิตเครื่องฟอกไอเสียรถยนต์) นิกเกิล (ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า) รวมถึงก๊าซนีออน (ใช้ผลิตชิป) โดยหลายฝ่ายกังวลว่า การผลิตแร่โลหะหายากทั้งสองจากรัสเซีย (สัดส่วนผลิตพาลาเดียมและนิกเกิลราว 37% และ 9% ของโลก) และการผลิตก๊าซนีออนจากยูเครน (ผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก) อาจสะดุดลงจากผลของสงคราม ปัจจัยดังกล่าวทำให้ปัญหาคอขวดในหลายอุตสาหกรรมอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ผลิตต้องเร่งหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นมาทดแทน ซึ่งอาจเป็นโอกาสของผู้ผลิตพาลาเดียมจากแอฟริกาใต้และแคนาดา (สัดส่วนผลิตพาลาเดียมราว 40% และ 9% ของโลก) ตลอดจนอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (สัดส่วนผลิตนิกเกิลราว 37% และ 14% ของโลก) รวมถึงจีนที่เป็นผู้ผลิตก๊าซนีออนสำคัญของโลกที่อาจได้คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ระยะสั้น แม้สงครามที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยไม่มากนัก เนื่องจากไทยมีการค้ากับรัสเซียและยูเครนเพียง 0.6% ต่อการค้ารวม ขณะที่สินค้าไทยบางชนิดอาจได้อานิสงส์จากการเข้าไปทดแทน อาทิ การส่งออกข้าวไปทดแทนข้าวสาลี การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปสหรัฐฯ หรือสินค้าประมงไป EU เพื่อแทนสินค้าจากรัสเซียที่อาจถูกมาตรการลงโทษ อย่างไรก็ตาม หากสงครามยืดเยื้อ ผลกระทบจะยิ่งมากขึ้นผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง และกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลมากขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2565