กว่า 2 ปีแล้วที่ประชากรโลกต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่จากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งในช่วงแรกได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง ทั้งจากการระบาดของโรคเองที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และจากมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะการ Lockdown ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขณะเดียวกัน การปรับตัวเพื่อรับมือกับโรคดังกล่าวก็ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home/Work from Anywhere) ที่ได้กลายเป็นความปกติใหม่ไปแล้ว หรือการชอปปิงออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ บางเรื่องอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่มกลับมาถอดหน้ากากแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางเทรนด์ที่ผู้บริโภคเคยชินกับการเปลี่ยนแปลงนั้นจนกลายเป็นพฤติกรรมถาวร และก่อให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ อาทิ
แม้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือปัญหาโลกร้อนจะเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมานาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระดับความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวเพิ่งจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากโลกเผชิญภัยธรรมชาติต่าง ๆ บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เช่น ไฟป่าในออสเตรเลียที่กินเวลายาวนานตั้งแต่กลางปี 2562 จนถึงเดือนมีนาคม 2563 น้ำท่วมใหญ่ในยุโรป และฝนที่คาดว่าตกหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี จนเกิดน้ำท่วมในเมืองเหอหนานของจีน ในปี 2564 โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่อาจกล่าวว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การแพร่รระบาดของ COVID-19 ที่นำไปสู่การ Lockdown ขนานใหญ่ในปี 2563 ซึ่งทำให้ผู้คนในหลายเมืองได้มองเห็นท้องฟ้าที่ใสสะอาดขึ้นหลังฝุ่นควันจากรถยนต์และโรงงานหายไป การได้เห็นภาพข่าวน้ำทะเลที่ใสสะอาดหรือผืนป่าที่ดูอุดมสมบูรณ์ขึ้น ก็ทำให้ผู้คนตระหนักมากขึ้นว่าที่ผ่านมากิจกรรมในชีวิตประจำวันของตนเองมีส่วนทำลายสภาพแวดล้อมมากเพียงใด และทำให้มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่ตั้งใจจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคไม่เพียงแต่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน แต่ยังมีความตั้งใจจะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโลกร้อนอีกด้วย กล่าวคือ หากพิจารณาจากผลสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนกับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกจะเห็นว่าก่อนปี 2563 สัดส่วนของผู้บริโภคที่รับรู้และมีความกังวลต่อปัญหาโลกร้อนจะสูงกว่าสัดส่วนของผู้บริโภคที่พยายามปรับพฤติกรรมของตนเองเพื่อลดความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว (ยกตัวอย่างเช่น ลดการใช้พลาสติก ลดอาหารเหลือทิ้งและพยายามรีไซเคิลของใช้ต่าง ๆ) เสมอ แต่ตั้งแต่ปี 2563 สัดส่วนของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่มนี้ ก็ขยับเข้าใกล้กันจนแทบจะไม่แตกต่างนอกจากนี้ จากผลสำรวจผู้บริโภคในปี 2564 ยังพบว่ามีผู้บริโภคถึง 1 ใน 3 ที่ลดการปล่อยคาร์บอนในชีวิตประจำวัน และ 1 ใน 4 มีการใช้กลไกเพื่อชดเชยคาร์บอนที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของตนเอง (Carbon Offset)
เมื่อผู้บริโภคพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัญหาโลกร้อน สินค้าและบริการต่าง ๆ จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค ดังเช่นที่ Izzy แบรนด์เครื่องสำอางจากสหรัฐฯ ได้เปิดตัวมาสคาร่าแบบ Zero Waste เป็นเจ้าแรก โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reusable) ได้ และใช้โมเดลการสมัครสมาชิกเพื่อเติมมาสคาร่า ผู้บริโภคที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกจะได้รับมาสคาร่าใหม่ทุก 3 เดือน ซึ่งจะส่งมาในซองที่ใช้ซ้ำได้โดยไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ (ซอง/กล่อง) ใด ๆ เพิ่มเติม และจะได้รับอีเมลเตือนให้ส่งคืนบรรจุภัณฑ์เก่า (โดยใช้ซองที่ส่งมาสคาร่ามา) เพื่อนำกลับไปทำความสะอาดและนำไปใช้ซ้ำ ซึ่งหลอดมาสคาร่าที่ผลิตจากสแตนเลสได้ถูกออกแบบมาให้นำไปทำความสะอาดและเติมมาสคาร่าใหม่ได้กว่า 10,000 ครั้ง ส่วนแปรงซึ่งผลิตจากพลาสติกจะถูกนำไปรีไซเคิล ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับมาสคาร่าที่จำหน่ายโดยทั่วไปแล้ว มาสคาร่าของ Izzy จะมี Carbon Footprint น้อยกว่าถึง 78% หลังการเติม 25 ครั้ง
หรือในกรณีของ Klarna บริษัท Fintech ที่ทำธุรกิจแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ (เช่นเดียวกับ PayPal, American Express และ Capital One) จากสวีเดนที่ได้รับความนิยมจากแบรนด์ดังจำนวนมาก อาทิ H&M, Calvin Klein และ Sephora โดยมีร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกว่า 4 แสนร้านทั่วโลก ได้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนของสินค้า เพื่อให้ลูกค้าซึ่งมีอยู่กว่า 147 ล้านคนทั่วโลกเข้าถึงข้อมูล Carbon Footprint ของสินค้าได้ฟรีตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้แนวคิดที่ว่า หากผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณน้ำตาลหรือเกลือในอาหารที่ซื้อได้ ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ควรเข้าถึงข้อมูลการปล่อยคาร์บอนได้เช่นเดียวกัน โดยสินค้าทุกชิ้นที่ชำระเงินผ่านระบบของ Klarna จะมีข้อมูล Carbon Footprint อยู่ด้วย และผู้บริโภคแต่ละรายจะได้เห็นปริมาณ Carbon Footprint จากสินค้าทั้งหมดที่ตนเองเคยซื้อ ข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดความตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี Carbon Footprint ต่ำ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และกำลังขยายตัว โดยมีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2583) จะเพิ่มขึ้น 65% จากปี 2564 เป็นกว่า 2 พันล้านคน หรือมากกว่าประชากรจีนและสหรัฐฯ ทั้งประเทศรวมกัน เมื่อประกอบกับผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง เพราะอยู่ในวัยที่หมดภาระในการผ่อนบ้านหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ แล้ว และยังมีทรัพย์สินที่เก็บสะสมมาตลอดช่วงอายุการทำงาน จึงทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของสินค้าและบริการต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพราะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ไม่อยากเริ่มเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งมองเห็นตัวหนังสือไม่ชัดเพราะมีขนาดเล็ก ทำให้ไม่อยากเรียนรู้ แต่การ Lockdown ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนไปมาหาสู่กันลำบากขึ้น อีกทั้งผู้สูงอายุยังจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตหากติดเชื้อ COVID-19 จึงมีหลายครอบครัวที่หลีกเลี่ยงการไปพบปะผู้สูงอายุ เพราะเกรงว่าตนเองจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปติดญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้ผู้สูงอายุต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงเริ่มใช้งานและทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้ยังสามารถติดต่อกับลูกหลานและมิตรสหาย รวมทั้งมีกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ และแสวงหาความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตได้เช่นเดิม สังเกตจากผลสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกของ Euromonitor ในปี 2564 ที่พบว่าในแต่ละสัปดาห์มีผู้สูงอายุถึงกว่า 80% ที่เปิดดูหรือหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต กว่า 70% เข้าเว็บไซต์ข่าว กว่า 60% เข้าไปดูหรืออัพเดตสถานะใน Social Media ของตนเอง และมีผู้ที่ใช้บริการธนาคารออนไลน์เกือบ 50%
ทั้งนี้ สินค้าหรือบริการเกี่ยวกับดิจิทัลที่จะดึงดูดผู้สูงอายุได้ดี จึงต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถอดใจหรือหันไปใช้สินค้าหรือบริการของเจ้าอื่นที่ใช้ได้ง่ายหรือสะดวกกว่าแทน ตัวอย่างของเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุที่น่าสนใจ อาทิ Evering ซึ่งเป็นแหวน (Smart Ring) ที่ใช้เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ในญี่ปุ่น โดยทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ใช้สามารถผูกแหวนดังกล่าวเข้ากับบัญชีบัตรเครดิตที่เปิดในญี่ปุ่น จากนั้นก็ใช้แหวนที่สวมอยู่ชำระเงินค่าสินค้าและบริการได้โดยนำแหวนไปแตะหรือจ่อที่เครื่องรับชำระเงิน และหากแหวนหายก็สามารถระงับบริการผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้ทันที หรือ JD.com เว็บไซต์ e-Commerce รายใหญ่ในจีนที่ออกโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่ถึง 6.53 นิ้ว รวมทั้งออกแบบให้ Icon ต่าง ๆ ในโทรศัพท์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้สะดวกแก่การใช้งานของผู้สูงอายุ รวมทั้งยังสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อดูแลกันภายในครอบครัว อาทิ ลูก ๆ สามารถแชร์รูปภาพกับพ่อแม่ได้อย่างปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ขณะที่พ่อแม่ติดต่อและแชร์ Location ได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงเตือนพ่อแม่ให้รับประทานยาในแต่ละมื้อได้ นอกจากนี้ JD.com ยังได้พัฒนาให้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวเชื่อมต่อกับบริการของ JD Health ซึ่งผู้สูงอายุสามารถพบแพทย์และสั่งซื้อยาออนไลน์ได้อีกด้วย
หากการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนต้องอาศัยความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา การประคองธุรกิจเพื่อฝ่าคลื่นลมของความแปรปรวน ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ก็จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องมีความตื่นตัวและเรียนรู้ที่จะรับฟังความต้องการของผู้บริโภค เพื่อล็อกกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้องและเลือกวิธีการปรับปรุงทั้งตัวสินค้าและบริการให้ถูกใจผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจก้าวข้ามกระแสความเปลี่ยนแปลงและคว้าชัยมาได้อย่างมั่นคง
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2565