การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เข้าขั้นวิกฤต เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ประชาคมโลกกำลังเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่เว้นแม้แต่เวียดนามที่ตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2593 เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกัน เวียดนามก็กำลังเร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งราว 85% ของขยะทั้งหมดในเวียดนามที่มีจำนวน 13 ล้านตันต่อปี ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดปัญหามลพิษตามมา ทั้งนี้ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและในประเทศ ทำให้รัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในเวียดนามในระยะข้างหน้า
รัฐบาลเวียดนามบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ (Law on Environmental Protection : LEP) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 และทยอยออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมาย LEP ซึ่งมุ่งดำเนินการเชิงรุกในการลดการปล่อยคาร์บอนและลดปัญหามลพิษในประเทศ โดยกฎระเบียบใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ มีดังนี้
การจัดตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศ ภายใต้ Decree No. 06/2022/ND-CP เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยมีขั้นตอนและกรอบเวลาในการจัดตั้งตลาดคาร์บอน ดังนี้
การกำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้าในการจัดการรีไซเคิลสินค้าที่กำหนด ภายใต้ Decree No. 08/2022/ND-CP กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าที่วางจำหน่ายในเวียดนามตามที่รัฐบาลกำหนด ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลสินค้า ดังนี้
1. รีไซเคิลด้วยตนเองหรือว่าจ้างธุรกิจจัดการรีไซเคิลเพื่อดำเนินการ โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องลงทะเบียนกับ Ministry of Natural Resource and Environment (MONRE) และยื่นแผนการจัดการรีไซเคิล รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการตามแผนต่อ MONRE เป็นประจำทุกปี
2. สนับสนุนเงินทุนให้แก่ Vietnam Environmental Protection Fund (VEP Fund) เพื่อนำไปใช้ดำเนินการรีไซเคิลตามที่รัฐบาลกำหนด โดยจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญ อาทิ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิล (Fixed Recycling Cost) ของแต่ละหมวดสินค้าตามที่รัฐบาลกำหนดและจะมีการทบทวนทุก 3 ปี ปริมาณการผลิตหรือการนำเข้าและปริมาณการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในเวียดนามเป็นรายปี รวมถึงอัตราการรีไซเคิลที่กำหนดในแต่ละหมวดสินค้า
อย่างไรก็ตาม ระเบียบดังกล่าวยกเว้นการบังคับใช้กับผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าเพื่อส่งออก รวมถึงผู้ผลิตที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 30 พันล้านด่อง (ราว 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และผู้นำเข้าที่มีมูลค่านำเข้าต่อปีต่ำกว่า 20 พันล้านด่อง (ราว 8.7 แสนดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ภายใต้ LEP ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีส่วนสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน* ของเวียดนาม โดยเฉพาะการกระตุ้นให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการจัดการขยะ ขยายตัวในระยะข้างหน้า ขณะที่การจัดตั้งตลาดคาร์บอนจะเป็นกลไกที่ช่วยผลักดันภาคธุรกิจในเวียดนามให้ก้าวเข้าสู่วิถีคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียว** เท่าทันกระแสโลกได้มากขึ้น
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ รูปแบบหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยมุ่งเน้นไปที่ Zero Waste หรือการลดปริมาณของเสียให้เป็นศูนย์ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การรีไซเคิล และการผลิตสินค้า/บรรจุภัณฑ์จากขยะหรือวัสดุที่ใช้แล้ว
** เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ รูปแบบหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การผลิตสินค้าที่ช่วยลดการใช้พลังงานหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยมลพิษและพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติแผน National Green Growth Strategy (NGGS) เมื่อปลายปี 2564 เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวที่มุ่งตอบโจทย์การเติบโตไปพร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งภายใต้ NGGS มีการกำหนดกรอบการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2573 อาทิ
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อ GDP (Greenhouse Gas Intensity***) ลงอย่างน้อย 15%
- สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน
- ส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Agriculture) และเกษตรอินทรีย์
- สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (New Green Manufacturing Industries) รวมทั้งลด/จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมลภาวะและของเสียจำนวนมาก
- สนับสนุนการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการฉลากประหยัดพลังงาน (Energy Labels) และฉลากสิ่งแวดล้อม (Green Labels) เป็นต้น
*** การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศต่อหนึ่งหน่วยของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยในแผนดังกล่าวกำหนดให้ลดเทียบจากปี 2557
ปัจจุบันเวียดนามอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับรองรับการดำเนินการภายใต้ NGGS อย่างเป็นรูปธรรม
การดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น รวมถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ NGGS ที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะมีส่วนเกื้อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวในเวียดนาม รวมทั้งสร้างโอกาสและเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจในเวียดนาม ดังนี้
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายให้การสนับสนุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงานฟอสซิล ธุรกิจจัดการขยะและรีไซเคิล เพื่อรองรับความต้องการที่จะขยายตัวจากการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ และ Smart Farming ธุรกิจเกษตรที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งใช้ทรัพยากรและแรงงานลดลง รวมถึงธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่ตอบโจทย์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการลดใช้สารเคมี
การบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีส่วนทำให้ต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวก็สอดรับไปกับกระแสโลก ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคเวียดนามที่ปัจจุบันมีแนวโน้มสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยทั้งที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนามอยู่แล้วและที่เตรียมขยายการลงทุนไปเวียดนาม ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ รวมถึงควรหาแนวทางปรับโมเดลธุรกิจเพื่อเตรียมเข้าสู่ธุรกิจในยุคคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของบริษัทชั้นนำของโลกที่มีฐานการผลิตในเวียดนามที่ล้วนมีเกณฑ์ด้านคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจในการเลือกซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้การขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดเวียดนามเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2565