World Travel & Tourism Council (WTTC) รายงานว่าปัญหา Climate Change มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงราว 8-11% โดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรรมท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (จาก 5% ในปี 2551 เป็น 8-11% ในปี 2562) ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญ คือ การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 934 ล้านคน เป็น 1,468 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 60% ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่สนใจลงทุนปรับธุรกิจให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกิจกรรมดังกล่าวมักทำให้ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวก็ยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการสนับสนุนธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้การดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่แพร่หลาย แต่กระจุกตัวอยู่เฉพาะตลาด Niche หรือกลุ่มผู้ที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาพการท่องเที่ยวในอดีตกำลังจะเปลี่ยนไปจาก 3 แรงประสาน โดยนักท่องเที่ยวยุคใหม่เลือกเดินทางอย่างใส่ใจโลก ขณะที่ผู้ประกอบการส่งสัญญาณชัดเจนที่จะปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่สนใจทำ Green Financing เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน
การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่จึงมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยว โดยเลือกทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สะท้อนได้จากผลวิจัยของ Expedia ที่รายงานว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเดินทางอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรายงาน Sustainable Travel Report 2022 ของ Booking.com ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากนักท่องเที่ยวที่มีแผนเดินทางในปี 2565 มากกว่า 30,000 คน จาก 32 ประเทศ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า
71% ต้องการเดินทางโดยคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น (เพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปี 2564)
51% ตั้งใจจะทำกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทาง อาทิ เลือกทำกิจกรรมใกล้ที่พัก เดินทางไปจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วยการปั่นจักรยานหรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะและพกขวดน้ำส่วนตัวเพื่อลดการใช้พลาสติก
1 ใน 3 นำประเด็นเรื่องความยั่งยืนมาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกสถานที่พักและบริการขนส่ง
ขณะเดียวกันการเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Trip) ขององค์กรธุรกิจก็มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากธุรกิจถูกคาดหวังจากกลุ่มผู้บริโภคและนักลงทุนให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ทำให้กิจกรรมการเดินทางเพื่อธุรกิจบางส่วนเปลี่ยนเป็นการประชุมหรือติดต่อธุรกิจผ่านทาง Online ส่วนการเดินทางที่ยังจำเป็นก็ปรับรูปแบบเป็นการเดินทางที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลง อาทิ เลือกสถานที่พักที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สอดคล้องกับที่ TripActions แพลตฟอร์มธุรกิจและการท่องเที่ยว ได้ให้ข้อสังเกตว่า ยอดจองที่พักของการเดินทางเพื่อธุรกิจซึ่งมีการดำเนินการแบบยั่งยืนมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงบางบริษัทได้ร้องขอให้มีบริการรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮบริด เพื่อใช้เดินทางในสถานที่ปลายทางอีกด้วย ขณะที่ Deloittle Insights ให้ข้อมูลว่า การปรับรูปแบบ/กิจกรรมการเดินทางเพื่อธุรกิจเป็นวิธีที่หลายบริษัทเลือกใช้เป็นลำดับต้น ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และราวครึ่งหนึ่งจาก 150 บริษัท ที่ได้สำรวจมีนโยบายเลือกการเดินทางที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว
ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ Accor, Dallas Fort Worth International Airport, Iberostar Group และ Intrepid Travel และบริษัทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวรายใหญ่มากกว่า 300 แห่ง ได้ร่วมลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพอากาศในการท่องเที่ยว (Glasgow Declaration for Climate Action in Tourism) ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งนอกจากจะให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และลดเหลือศูนย์ภายในปี 2593 แล้ว แต่ละบริษัทที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ยังต้องแสดงแผนปรับลดก๊าซเรือนกระจกภายใน 1 ปีหลังจากลงนาม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีที่พักถึงกว่า 100,000 แห่งทั่วโลกที่ได้รับสัญลักษณ์ Travel Sustainable หรือการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนบน Booking.com แล้ว
ตัวอย่างการบริหารจัดการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
1 Hotel เครือโรงแรมในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้รีไซเคิล
- ใช้ผ้าปูที่นอน หมอน และผ้าห่ม ที่ทำจากเส้นใย Organic
- ใช้หินเป็นป้ายสัญลักษณ์แทนป้ายพลาสติก
- ใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้บริการแขกที่มาพัก
ที่มา : https://www.salika.co/2021/02/25/sustainable-hotel-management-trends-2021/
Intrepid Travel บริษัทท่องเที่ยว ออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- ใช้บริการรถสาธารณะมากที่สุดเท่าที่ทำได้
- ให้นักท่องเที่ยวพกพาขวดน้ำส่วนตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำขวดที่ก่อให้เกิดขยะ
- จัดกิจกรรมทำร่วมกันกับชุมชน นอกจากนี้ สำนักงานของบริษัทยังใช้พลังงานหมุนเวียนเกือบทั้งหมด
ที่มา : https://www.intrepidtravel.com/en/climate
ANA Group เปลี่ยนรถเข็นที่พนักงานต้อนรับใช้ในการให้บริการบนเครื่องบินเป็นรุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักเบาลงจากเดิม 10 กิโลกรัม จำนวน 17,000 คัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตรประมาณ 17,500 สระ
ที่มา : https://www.ana.co.jp/th/
สถาบันการเงินหลายแห่งหันมาสนใจออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม (Green Finance) เช่น การให้สินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนคลายหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับโครงการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน อนุรักษ์พลังงาน และการให้ใช้คาร์บอนเครดิตและไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพราะนอกจากจะช่วยให้โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งยังเล็งเห็นว่าธุรกิจที่ปรับสู่แนวทางดังกล่าวจะได้รับการชื่นชมจากผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตในระยะยาว ทั้งนี้ ในการประชุม COP26 สถาบันการเงินขนาดใหญ่กว่า 400 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธนาคาร กองทุน บริษัทประกัน และหน่วยงานกำกับจากหลายประเทศ ได้ร่วมกันให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการเพื่อช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
การปรับตัวเข้าสู่เทรนด์ดูแลโลกของทั้งนักเดินทาง กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และแหล่งทุน คาดว่าจะส่งผลให้รูปแบบการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกกลายเป็นมาตรฐานการทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในระยะต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งรวมถึงสถานที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของฝาก จึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การปรับใช้พลังงานสะอาด เช่น ฟาร์มกังหันลม และแผงโซลาร์ เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟเป็นแบบ LED เพื่อช่วยประหยัดการใช้พลังงาน ใช้วัสดุรีไซเคิล ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเพิ่มยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเดิน นั่งรถม้า หรือขี่จักรยาน ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลแทนการใช้รถยนต์ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกของไทยก็อาจใช้จังหวะการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงในระยะอันใกล้ มุ่งขยายตลาดส่งออกสินค้าที่สนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลิตภัณฑ์ Organic เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชง ชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า พลาสติกรีไซเคิล แผงโซลาร์ รวมถึงการให้บริการติดตั้งพลังงานทดแทน หลังจากที่กิจกรรมต่าง ๆ ในภาคการท่องเที่ยวอยู่ต่ำกว่าระดับปกติต่อเนื่องกันมานานกว่า 2 ปี
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2565