เวียดนามเป็นประเทศดาวเด่นที่บริษัทต่างชาติเข้าไปปักหมุดขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายด้านทั้งตลาดขนาดใหญ่และความพร้อมด้านแรงงาน ไปจนถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจในเวียดนามมีความต้องการเงินทุนสำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งการกู้เงินจากต่างประเทศ (Offshore Loan) ถือเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนของธุรกิจในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาตลาดการเงินโลกอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำบริษัทในเวียดนามหลายแห่งจึงหันมาพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งบางส่วนเป็นการนำเงินกู้ไปใช้ลงทุนในภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงพยายามควบคุมการกู้เงินจากต่างประเทศให้เข้มงวดขึ้น โดยล่าสุดธนาคารกลางเวียดนามได้เผยแพร่ร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ว่าด้วยเงื่อนไขการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินกู้จากต่างประเทศที่รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกัน (Draft circular on conditions for enterprises? offshore loans without government guarantee) ซึ่งบทความนี้จะขอพาท่านผู้ประกอบการไปทำความรู้จักกับกฎระเบียบของ Offshore Loan ในเวียดนาม และประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับใหม่ ดังนี้
ธนาคารกลางเวียดนามอนุญาตให้ทั้งบริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนและมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในเวียดนาม สามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดและต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคารกลางเวียดนาม ซึ่งโดยทั่วไปการกู้เงินจากต่างประเทศจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
การลงทะเบียนกับธนาคารกลางเวียดนาม
- การกู้ระยะสั้น (อายุเงินกู้ต่ำกว่า 1 ปี) ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนกับธนาคารกลางเวียดนาม
- การกู้เงินระยะกลาง-ยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) และเงินกู้ระยะสั้นที่มีเงื่อนไขการต่ออายุเงินกู้ได้มากกว่า 1 ปี จะต้องลงทะเบียนกับธนาคารกลางเวียดนาม โดยสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ 1) การลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของธนาคารกลางเวียดนาม ซึ่งธนาคารกลางเวียดนามจะใช้เวลาอนุมัติ 12 วัน และ 2) การยื่นเอกสารด้วยตนเอง ซึ่งจะใช้เวลาอนุมัติ 15 วัน
การเปิดบัญชีทุนกับธนาคารพาณิชย์ในเวียดนามที่ได้รับอนุญาต โดยการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้จากต่างประเทศทั้งการเบิกจ่ายเงินกู้และชำระคืนเงินกู้ จะต้องทำผ่านบัญชีที่ธนาคารกลางเวียดนามกำหนด โดยการกู้เงินจากต่างประเทศประเภทเงินกู้ระยะกลาง-ยาว จะต้องทำธุรกรรมผ่านบัญชี Direct Investment Capital Account (DICA) ขณะที่เงินกู้ระยะสั้นสามารถทำธุรกรรมผ่านบัญชี DICA และ Offshore Loan Account (OLA) โดยผู้ประกอบการต้องเปิดบัญชีดังกล่าวกับธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ธนาคารกลางเวียดนามได้เผยแพร่ร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ว่าด้วยเงื่อนไขการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินกู้จากต่างประเทศที่รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกัน โดยร่างกฎระเบียบฉบับนี้มีการเพิ่มเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านภาระหนี้ต่างประเทศของเวียดนามและสนับสนุนการนำเงินกู้ไปลงทุนในธุรกิจที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
ร่างกฎระเบียบใหม่มีการกำหนดเพดานต้นทุนการกู้ Offshore Loan โดยต้นทุนดังกล่าวรวมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มาคำนวณเป็นอัตราร้อยละต่อปีของเงินต้นทั้งหมด ซึ่งต้องไม่เกินอัตราเพดานที่ธนาคารกลางของเวียดนามกำหนดไว้ ดังนี้
1. Offshore Loan ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ :
- กรณีใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate)* ในการทำธุรกรรมเงินกู้เพดานต้นทุนการกู้เงิน = อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง + 8% ต่อปี
- กรณีอื่น ๆ ที่ไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพดานต้นทุนการกู้เงิน = อัตราดอกเบี้ย Secured Overnight Financing Rate (SOFR)** + 8% ต่อปี
2. Offshore Loan ในสกุลเงินด่อง :
เพดานต้นทุนการกู้เงิน = อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเวียดนาม + 8% ต่อปี
หมายเหตุ : * อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางกำหนดขึ้นสำหรับใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ
** อัตราดอกเบี้ย Secured Overnight Financing Rate คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะข้ามคืนโดยมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักประกัน
ร่างกฎระเบียบฉบับใหม่กำหนดให้ผู้กู้ Offshore Loan ต้องใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) อาทิ Forward Contract, FX Swap และ FX Options เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินและเพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
- Offshore Loan ระยะสั้นที่มีวงเงินมากกว่าหรือเท่ากับ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้กู้จะต้องดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่ต่ำกว่า 30% ของจำนวนเงินที่เบิกจ่ายจริง และต้องดำเนินการปิดความเสี่ยงก่อนหรือภายในวันที่เบิกจ่ายในแต่ละครั้ง
- Offshore Loan ระยะกลาง-ยาวที่ยอดชำระคืนเงินกู้ (เฉพาะเงินต้น) ในแต่ละงวดมากกว่าหรือเท่ากับ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้กู้จะต้องดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่ต่ำกว่า 30% ของยอดชำระคืนเงินกู้งวดนั้น ๆ โดยจะต้องดำเนินการปิดความเสี่ยงอย่างน้อย 3 เดือนก่อนวันครบกำหนดชำระเงินในแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้กู้บางกลุ่มอาจได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดดังกล่าว อาทิ ผู้กู้ที่เป็นสถาบันการเงิน (Credit Institution) และ สาขาของธนาคารต่างชาติ (Foreign Bank Branches) รวมถึงผู้กู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ ทั้งนี้ ผู้กู้ที่ทำสัญญากู้ยืม Offshore Loan เสร็จสิ้นก่อนวันที่ร่างกฎระเบียบฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ จะต้องใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหากยังมีการเบิกจ่ายไม่ครบวงเงินหรือยังชำระคืนเงินกู้ไม่ครบจำนวน
ร่างกฎระเบียบฉบับใหม่มีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การนำเงินกู้ Offshore Loan บางประเภทไปใช้สำหรับผู้กู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและสาขาของธนาคารต่างชาติ โดยเงินกู้ระยะสั้นใช้ได้เฉพาะกับการชำระหนี้ระยะสั้นหรือหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ทำสัญญากู้ยืม และไม่สามารถนำไปใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ การโอนโครงการ (Project Transfer) และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่เงินกู้ระยะกลาง-ยาว นำไปใช้ได้ใน 3 กรณี คือ สำหรับการลงทุนในโครงการของผู้กู้ สำหรับการเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจของผู้กู้ และสำหรับการรีไฟแนนซ์ (Refinance) เงินกู้ต่างประเทศที่ผู้กู้มีอยู่เดิม
- การบังคับให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับวงเงินกู้ที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดมีแนวโน้มทำให้ต้นทุนการกู้ยืม Offshore Loan ในเวียดนามปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยทำให้การกู้ Offshore Loan ของเวียดนามมีความรัดกุมและปลอดภัยจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
- การกำหนดเพดานต้นทุนเงินกู้ Offshore Loan คาดว่าไม่กระทบการลงทุนของไทยในเวียดนาม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ (อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของไทย ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 6.24%) ช่วยให้สถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ยังสามารถเสนอเงินกู้ให้กับโครงการลงทุนของไทยได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าระดับ
ปัจจุบันแม้ร่างกฎระเบียบดังกล่าวจะยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยรายละเอียดในขั้นสุดท้ายยังต้องได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมจากรัฐบาลเวียดนาม แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการในเวียดนามควรรับทราบและทำความเข้าใจแต่เนิ่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2565