ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ รายงานล่าสุดในปี 2565 ของ We Are Social (ดิจิทัลเอเจนซี) และ Hootsuite (ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions) ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2565 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกทั้งสิ้น 4.95 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 62.5% ของจำนวนประชากรโลก เพิ่มขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน และพบว่า ในแต่ละวันผู้คนทั่วโลกใช้เวลาออนไลน์เฉลี่ย 6 ชั่วโมง 58 นาที โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยใช้เวลาออนไลน์เฉลี่ยสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ถึงวันละ 9 ชั่วโมง 6 นาที การใช้เวลาออนไลน์อยู่ในโลกที่ทำทุกอย่างได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส เมื่อประกอบกับการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางถูกจำกัดในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในแทบทุกกลุ่มธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์ จนมูลค่าตลาด E-Commerce โลกสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) ในปี 2564 แตะ 3.85 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2559 ดังนั้น การเข้าใจพฤติกรรมหรือทัศนคติของนักชอปออนไลน์จึงเป็นอีกกุญแจสำคัญสำหรับผู้ประกอบการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องใน Supply Chain ของการค้าออนไลน์
ข้อดีประการหนึ่งของการซื้อสินค้าออนไลน์คือเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตผู้ซื้อก็สามารถสั่งสินค้าจากที่ไหนในเวลาใดก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลกับเวลาเปิด-ปิดร้าน ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับความนิยมสั่งสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นคือ ความคาดหวังของผู้ซื้อที่จะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการจัดส่งสินค้า โดยผู้บริโภค 42% ระบุว่าไม่พึงพอใจหากต้องรอสินค้าที่จัดส่งนานกว่าที่คาด ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์จึงต้องให้ความสำคัญกับความเร็วในการจัดส่งสินค้าเป็นอันดับต้น ๆ
- GoPuff บริษัท Startup จัดส่งสินค้าตามสั่งที่เปิดให้บริการในสหรัฐฯ และ EU โดยชูจุดขายที่การจัดส่งสินค้ารวดเร็วโดยใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 30 นาที และเปิดให้บริการเกือบตลอด 24 ชั่วโมง (บางพื้นที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และบางพื้นที่เปิดถึงตี 4) โดยมีสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้เลือกกว่า 4,000 รายการ ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ภายในบ้าน ยา สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สินค้าสำหรับเด็ก สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง จนถึงเครื่องใช้ในสำนักงาน ซึ่งสินค้าทั้งหมดจะจำหน่ายในราคาใกล้เคียงกับที่วางจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างสะดวกซื้อ และคิดค่าบริการจัดส่งครั้งละ 2.95 ดอลลาร์สหรัฐ หรือสมัครเป็นสมาชิกในอัตราเดือนละ 5.95 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับบริการจัดส่งฟรีทุกออร์เดอร์ สำหรับจุดแข็งของ GoPuff ที่ทำให้จัดส่งสินค้าได้เร็ว คือ การมีสต็อกสินค้าเป็นของตัวเอง ทำให้พนักงานส่งสินค้าไม่ต้องเสียเวลาไปรอสินค้าที่ร้าน แต่สามารถรับสินค้าจากโกดังของ GoPuff ที่มีอยู่หลายร้อยแห่ง ไปส่งให้ผู้บริโภคได้ทันที นอกจากนี้ การเปิดให้บริการตลอดหรือเกือบตลอด 24 ชั่วโมงยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าอย่างเร่งด่วนในยามค่ำคืนแต่ไม่อยากออกจากที่พักได้อย่างตรงจุด
- Rappi แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารและสินค้าในทวีปอเมริกาใต้ที่ให้บริการจัดส่งสินค้าภายใน 30 นาทีเช่นเดียวกับ GoPuff และล่าสุดได้เปิดตัวบริการใหม่ ?Rappi Turbo-Fresh? ที่เริ่มให้บริการเฉพาะบางพื้นที่ เช่น กรุง Mexico City เมือง Monterrey เมือง Guadalajara และเมือง M?rida ในประเทศเม็กซิโก โดยการันตีว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าภายใน 10 นาที และมีสินค้าให้เลือกราว 1,500 รายการ ซึ่งบริการดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะ Rappi มีโกดังขนาดย่อมกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเมือง โดยจะมีการวิเคราะห์และสต็อกสินค้าต่างกันตามสถิติการสั่งซื้อสินค้าของแต่ละโกดัง รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการหยิบและจัดสินค้า ซึ่งพนักงานในโกดังจะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 3 นาทีในการสแกนสินค้าเพื่อตัดสต็อกและจัดสินค้าใส่ถุงตามคำสั่งซื้อที่เข้ามา จากนั้นพนักงานส่งของจะจัดส่งสินค้าในรัศมี 2 กิโลเมตรจากโกดังภายในเวลา 7 นาที บริการดังกล่าวช่วยให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องกังวลกับการวางแผนซื้อสินค้าล่วงหน้า หรือลำบากกับการหาสินค้าที่จำเป็นในยามฉุกเฉิน
นอกจากการเร่งเวลาจัดส่งสินค้าให้เร็วขึ้นแล้ว จากผลสำรวจยังพบว่า ผู้ประกอบการออนไลน์มีแผนจะลงทุนเพิ่มในช่องทาง ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและรวดเร็วขึ้นในการใช้บริการ เช่น การใช้ข้อความแจ้งเตือน (Push Notification) เพื่อนำเสนอโปรโมชันหรือแจ้งสิทธิพิเศษแก่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ทันทีที่ลูกค้าเข้ามาในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของร้าน หรือการมีช่องทางให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และเข้ามารับสินค้าเองที่ร้านเพื่อความรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอพนักงานจัดส่ง ซึ่งอาจรวมถึงการมีจุดรับสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าเลือกรับสินค้าในจุดที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานได้
การชอปปิงออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดถึงกว่า 30% ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมดในปี 2569 อย่างไรก็ตาม การค้าออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลให้มีขยะบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันก็ตระหนักเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
จากผลสำรวจของ We Are Social และ Hootsuite พบว่า ผู้บริโภคถึง 65% กังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ขณะที่ผลสำรวจของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระบุว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ 60-70% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนขึ้น (รีไซเคิลได้ย่อยสลายได้) กระแสรักษ์โลกที่เกิดขึ้นดังกล่าวผลักดันให้แบรนด์ธุรกิจต่างหันมาปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานหรือตัวสินค้าให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในแง่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของแบรนด์ และในแง่ธุรกิจที่อาจช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไร หรือช่วยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งปัจจุบันแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ก็ถูกกระแสเรียกร้องให้สนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืนเช่นกัน
เพื่อตอบรับกับกระแสรักษ์โลก alfred24 ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าในฮ่องกงที่มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการขนส่งได้ดำเนินการต่าง ๆ อาทิ
- เปลี่ยนยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
- ร่วมมือกับ INVISIBLE ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ?INVISIBLEBAG? ซึ่งเป็นถุงที่ละลายน้ำได้ ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวัตถุดิบที่ใช้ผลิตถุงไม่มีส่วนผสมของเม็ดพลาสติก แต่เป็นส่วนผสมของโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (โพลิเมอร์สังเคราะห์ที่ใช้ในแคปซูลยา และใช้เป็นสารเคลือบ) กลีเซอรีน แป้ง และน้ำ ส่วนสีที่ใช้พิมพ์ลายบนถุงก็เป็นหมึกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีส่วนผสมของโลหะหนัก โดย alfred24 จะเสนอ INVISIBLEBAG ให้เป็นตัวเลือกแก่ร้านค้าที่ใช้บริการขนส่งของ alfred24 ในราคาพิเศษ (200 ดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับถุง 100 ใบ จากราคาเต็ม 370 ดอลลาร์ฮ่องกง) เพื่อสนับสนุนร้านค้าที่ต้องการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน
- ใช้โมเดลการจัดส่งสินค้าไปไว้ยังตู้รับสินค้าของบริษัทฯ (Smart Locker) ที่กระจายอยู่ในจุดต่าง ๆ เช่น ในอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ และห้างต่าง ๆ และให้ผู้บริโภคมารับสินค้าจากตู้แทนการจัดส่งสินค้าแต่ละชิ้นให้ถึงมือผู้บริโภค ทำให้ประหยัดทั้งเวลา แรงงาน และยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งจากผลการศึกษาของ McKinsey ระบุว่า การจัดส่งสินค้าแบบนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนต่อสินค้าแต่ละชิ้นลงถึง 70% และลดเวลาที่ใช้ในการจัดส่งต่อชิ้นลง 60% เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบปกติที่ต้องส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการของบริษัทแล้ว ยังช่วยให้บริษัทจัดส่งสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
การทำธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องบริหารความคาดหวังของผู้บริโภคในทุกมิติ ทั้งคุณภาพของสินค้าและบริการที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก การจัดการกับประสบการณ์ของลูกค้า เช่น ความสะดวกและรวดเร็วในการสั่งซื้อหรือจัดส่งสินค้า และการให้บริการหลังการขาย รวมถึงความคาดหวังเกี่ยวกับคุณค่าหรือค่านิยมอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น สวัสดิภาพสัตว์ การคุ้มครองแรงงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทวีความสำคัญขึ้น ในยุคที่ความยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลักของโลก ผู้ประกอบการจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานหรือบรรทัดฐานใหม่ของโลกอยู่เสมอ เพื่อรักษาโอกาสในการเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2565