วิกฤต COVID-19 ถือเป็นตัวเร่งให้ตลาด Fintech (Financial Technology) ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่คุ้นเคยกับการใช้เงินสดเป็นหลักอย่างเวียดนาม ส่งผลให้มีผู้เล่นจากทั้งในและนอกประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจ Fintech ในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจ Digital Payment จนทำให้มูลค่าธุรกรรมในตลาด Fintech ของเวียดนามเติบโตก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละกว่า 20% (ปี 2560-2564) อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันตลาด Fintech ของเวียดนามยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อีกทั้งยังตามหลังประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ในด้านจำนวนบริษัท Fintech ที่น้อยกว่า แต่ที่ผ่านมาตลาด Fintech ของเวียดนามก็มีพัฒนาการที่โดดเด่นและเติบโตอย่างรวดเร็วจากปัจจัยสนับสนุนในหลากหลายมิติ จนหลายฝ่ายมองว่า มีโอกาสขึ้นแท่นเป็นตลาด Fintech ชั้นนำของอาเซียนในระยะข้างหน้า ตลาด Fintech ของเวียดนามจึงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามในปัจจุบัน
จำนวนผู้เล่นในตลาด Fintech : บริษัท Fintech ที่เปิดดำเนินการในเวียดนามมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จาก 39 บริษัทในปี 2558 เป็น 188 บริษัท ณ เดือนกันยายน 2564 เทียบกับสิงคโปร์ที่มีบริษัท Fintech จำนวน 1,350 บริษัท อินโดนีเซีย 785 บริษัท มาเลเซีย 549 บริษัท ไทย 268 บริษัท และฟิลิปปินส์ 268 บริษัท
ธุรกิจ Fintech ที่เป็นที่นิยม : ปัจจุบันธุรกิจ Fintech เข้ามามีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจเวียดนามเป็นอย่างมาก ซึ่งครอบคลุมการให้บริการที่หลากหลาย แต่ธุรกิจที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ E-wallet & Digital Payment สัดส่วน 31% ของส่วนแบ่งตลาด Fintech ทั้งหมดของเวียดนาม รองลงมา ได้แก่ สินเชื่อออนไลน์ (P2P Lending) 17% ธุรกิจ Blockchian/Cryptocurrency 13% ระบบบริการจัดการหน้าร้าน (POS) 7.5% และธุรกิจ Wealth Management 7.5%
สถานการณ์ตลาด Fintech : ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัท Fintech ในเวียดนามมีการระดมทุนได้ทั้งหมด 15 ดีล คิดเป็นมูลค่า 355 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยดีลที่มีมูลค่าระดมทุนสูงสุด คือ บริษัท VNPay แพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์รายใหญ่ของเวียดนาม ซึ่งระดมทุนได้ราว 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการระดมทุนรอบ Series B* จาก Venture Capital รายใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง General Atlantic และ Dragoneer Investment Group ร่วมกับ Venture Capital รายอื่น ๆ จากสิงคโปร์และญี่ปุ่น
ตลาด Fintech ของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับข้อมูลของ Statista ซึ่งระบุว่า จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 15% ในปี 2564-2568 และมูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็มีความเชื่อมั่นที่จะป้อนเม็ดเงินลงทุนเพื่อสนับสนุน Fintech Startup ในเวียดนาม รวมถึงการเข้ามาลงทุนเอง โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้
เวียดนามเป็นประเทศ Rising Star ที่โดดเด่นจากเศรษฐกิจที่เติบโตสูงและตลาดขนาดใหญ่
- เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย โดย IMF คาดการณ์ว่า จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6.8% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน และคาดว่าจะมีสัดส่วนราว 20% ของ GDP เวียดนามภายในปี 2568 ซึ่งจะสร้างโอกาสอย่างมากให้กับหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ Fintech ในเวียดนาม
- เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน โดยเกือบ 70% เป็นประชากรวัยหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่มีทักษะและความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยมาเป็น Digital Payment มากขึ้น
ประชากรส่วนใหญ่ยังเป็น Unbanked Population แต่ใช้ Mobile Internet ในระดับสูง
- เวียดนามเป็นประเทศที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคาร (Unbanked Population) เกือบ 70% ของประชากรทั้งหมด และชาวเวียดนามที่มีเครดิตการ์ดมีเพียง 4% ขณะที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 71.5% ของประชากรทั้งหมด
- ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายผ่าน Digital Payment ในเวียดนามยังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจาก Digital Payment จะตอบโจทย์และแก้ Pain Point ของกลุ่ม Unbanked Population ได้อย่างตรงจุด สะท้อนได้จากจำนวนผู้ใช้บริการ Digital Payment ในเวียดนามคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากราว 50 ล้านคนในปี 2564 เป็น 70 ล้านคนในปี 2568 นอกจากนี้ สัดส่วน Unbanked Population ที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Fintech ในเวียดนาม
ภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนา Fintech อย่างจริงจัง
- รัฐบาลเวียดนามได้ก่อตั้ง National Agency for Technology, Entrepreneurship and Commercialization Development (NATEC) ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านการเงินแก่ Fintech Startup ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ในประเทศ นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรายใหม่
- ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เตรียมจัดตั้ง Fintech Sandbox ในภาคธนาคารของเวียดนาม ซึ่งจะเอื้อให้การพัฒนา Fintech ในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้ SBV สามารถควบคุมเสถียรภาพและความเสี่ยงที่เกิดจากการพัฒนา Fintech ได้ดียิ่งขึ้น
- ธุรกิจ E-wallet & Digital Payment ปัจจุบันผู้ให้บริการ E-wallet และ Digital Payment ในเวียดนามมีมากกว่า 30 ราย แต่ส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดครอบครองโดยผู้ให้บริการไม่กี่ราย อาทิ
MoMo เป็นผู้ให้บริการ E-wallet รายใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในเวียดนาม โดยเริ่มให้บริการในปี 2556 ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% มียอดผู้ใช้บริการกว่า 25 ล้านคน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 50 ล้านคนในอีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะก้าวสู่การเป็นแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกบริการแบบครบวงจร หรือ Super App รวมถึงการเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ภายในปี 2568 ล่าสุด MoMo ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท Startup ด้าน AI เพื่อต่อยอดในการพัฒนาบริการและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้บริการ
- ธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ (P2P Lending) ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเจาะตลาดลูกค้า SMEs
- ธุรกิจ Blockchian/Cryptocurrency เป็นกลุ่มธุรกิจที่กำลังมาแรงและเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม
ตลาด Fintech ในเวียดนามที่มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับจะมีบทบาทสำคัญในภาคการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นแรงหนุนในการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามทั้งด้านการบริโภค การค้า และการลงทุน ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพดังกล่าวจึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนและขยายธุรกิจไปเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ Venture Capital ในการเข้าร่วมลงทุนกับ Fintech Startup ในเวียดนาม รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่เป็น Fintech Startup ในการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายตลาดลูกค้าในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในตลาด Fintech ของเวียดนาม จำเป็นต้องทำความเข้าใจกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน รวมถึงข้อจำกัดและข้อห้ามต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การเข้าไปลงทุนในเวียดนามดำเนินไปอย่างราบรื่น
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2565