?เยลลี่? เป็นขนมขบเคี้ยวที่รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย มีความหวานหอมสดชื่นของผลไม้และมีรสสัมผัสที่นุ่มนวลเคี้ยวหนึบหนับ แถมยังได้รับความนิยมนำมาตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงามและรสชาติความอร่อยในขนมหวานอื่น ๆ อย่างเช่น เค้ก คุกกี้ ชานมไข่มุก อีกด้วย คุณโอม สมพัฒน์ สธนวรรธน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โอมมี่ เยลลี่ จำกัด บอกเล่าถึงการเดินทางของ SMEs ผู้กล้าฝันอยากมีสินค้าเยลลี่ที่มีแบรนด์เป็นชื่อของตัวเอง และเดินหน้าพัฒนาสินค้าอย่างไม่ย่อท้อ จนวันนี้จากบริษัทเยลลี่เล็ก ๆ ที่ขายใน 5 จังหวัดภาคใต้ได้ขยายกิจการจนมียอดขายทั่วไทยและขยายต่อไปตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) แล้ว
ผมเคยเป็นเซลล์ขายเยลลี่ของบริษัทแห่งหนึ่งมาก่อน หลังจากทำงานสักระยะหนึ่งก็พบว่า ตลาดเยลลี่มีความหลากหลายและใหญ่มาก ลูกค้ามีความต้องการสินค้าหลายรูปแบบ แต่สินค้าในตลาดมีเพียงไม่กี่รูปแบบ ไม่ตอบสนองความต้องการ จึงอยากลองเจาะตลาดใหม่ดู เริ่มต้นด้วยการค้นคว้าสูตรผลิตเยลลี่เอง ลองผิดลองถูกอยู่นานถึง 7-8 เดือน ใช้วัตถุดิบไปเกือบ 4 ตัน ก็เริ่มได้สูตรที่เหมาะสมจะนำไปผลิตและจำหน่าย โดยใช้ชื่อเล่นของตัวเองนำมาตั้งชื่อบริษัทว่า ?โอมมี่ เยลลี่? โรงงานของเราเริ่มต้นที่ จ.สงขลา ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก เราจึงผลิตเพื่อเจาะตลาดชาวมุสลิมก่อน ใช้วัตถุดิบที่เป็นฮาลาลทั้งหมด เริ่มขายใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ จนได้รับการตอบรับอย่างดี จึงกระจายออกไปในจังหวัดอื่น ปัจจุบันกระจายครอบคลุม 60 จังหวัดแล้ว โดยขายทั้ง Offline และ Online
กว่าจะมาเป็น ?โอมมี่ เยลลี่? ไม่ง่าย เพราะตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจมาพยายามหาเงินกู้มาตลอด แต่ไม่มีธนาคารไหนให้กู้เลยจนเริ่มท้อว่าทำไม SMEs ถึงได้ขอกู้ยากเย็นนัก วันหนึ่งได้เข้าไปร่วมอบรมหลักสูตร Genius the Idol ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็ส่งโครงการโอมมี่ เยลลี่เข้าประกวดแต่ตกรอบ แต่สิ่งที่เกินความคาดหมายคือ มีเจ้าหน้าที่สาขาหาดใหญ่ของ EXIM BANK ติดต่อมาขอพบเพราะสนใจจะสนับสนุนธุรกิจที่เราทำอยู่ โดยรู้จักเราจากการประกวด จึงได้คุยกันโดยที่บริษัทไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อ สิ่งที่ได้จากการหารือกันเป็นประโยชน์มากคือ EXIM BANK แนะนำว่าเราจะต้องปรับปรุงตัวเองในหลายเรื่องเพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะยื่นขอกู้ได้ ตั้งแต่การมีระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐาน มีระบบการเสียภาษีที่ถูกต้อง ทำแผนธุรกิจ เป็นต้น ติดขัดตรงนี้แล้วจะแก้ไขตรงไหน ก็ใช้เวลาแก้ไขประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงยื่นขอสินเชื่อและได้รับการอนุมัติจาก EXIM BANK ทำให้ค้นพบว่าถ้าเรามีที่ปรึกษาธุรกิจที่ดีเขาจะแนะนำเราได้ว่า ต้องทำอะไรเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ในระยะยาว ดีกว่าที่เราคลำทางไปเองโดยไม่รู้ว่า เมื่อไรจะเจอทางออก
วงเงินสินเชื่อก้อนแรกในชีวิตที่ได้มาไม่ได้เยอะ แต่สิ่งที่ได้คือ โอกาส เป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ EXIM BANK เป็นคนแรกที่มาหาเราแล้วบอกว่า ทำไมเราถึงกู้ไม่ได้ สาขาหาดใหญ่ของ EXIM BANK ติดตามดูแลและช่วยเหลือเราอย่างใกล้ชิด ทั้งยังได้ชวนไปอบรมเพิ่มพูนความรู้ในหลักสูตรต่าง ๆ ที่ธนาคารจัดขึ้น ได้เข้าร่วมกิจกรรม Business Matching ที่เมียนมา ช่วยแนะนำการทำ Presentation ให้น่าสนใจ ทาง EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศเหมือนเป็น Trader ให้เรา นี่เป็นการทำงานเชิงลึก ต้องเดินเข้ามาถามแล้วถึงจะทราบ ทาง EXIM BANK ได้ปลูกต้นไม้ที่ชื่อโอมมี่เยลลี่จนผลิดอกออกผล ทุกครั้งที่เราเจอทีมของ EXIM BANK เขาจะถามเราว่า มีอะไรให้ช่วยไหม นี่คือสิ่งที่ไม่เคยผิดหวังจากการได้เจอกันแม้แต่ครั้งเดียว
เราต้องพัฒนาสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ต้องสร้างสินค้าใหม่ที่มีนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่ากับการส่งออก เช่น เยลลี่วิตามิน เยลลี่ผลไม้ เราตั้งใจว่า เราจะเป็นบริษัทเยลลี่ที่มีนวัตกรรมของไทย ส่วนเรื่องของการส่งออกเราโฟกัสที่ CLMV ก่อนเพราะซื้อขายง่ายและใช้มาตรฐานภายในประเทศได้ การขนส่งก็สะดวกสบาย การขนส่งทางเรือใช้เวลาไม่กี่วัน เพราะเยลลี่อ่อนไหวต่อความร้อน ขณะนี้ก็ได้เริ่มส่งออกไปยังกัมพูชาแล้ว และในเร็ว ๆ นี้ก็กำลังเจรจากับผู้ซื้อในอีกหลายประเทศ เช่น เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม หลังจากนั้นอาจจะข้ามไปเจาะตลาดอินโดนีเซีย จีน และตะวันออกกลางเพิ่มเติม
จากสถานการณ์ COVID-19 เราได้รับผลกระทบก็จริงแต่เป็นผลกระทบเชิงบวก เนื่องจากว่า ก่อนหน้านั้นเราเตรียมตัวปูพรมไว้ค่อนข้างดี โดยเริ่มขยายเข้าไปในตลาดออนไลน์ทางแพลตฟอร์ม Lazada และ Shopee เนื่องจากผมเป็นคนชอบฟังข่าว วันหนึ่งระหว่างที่ขับรถขายของ ผมก็ได้ฟังคุณสุทธิชัย หยุ่น บอกว่าต้องปรับตัว ต้องทรานส์ฟอร์ม ต้องพัฒนาสู่โลกออนไลน์ เลยเอาสิ่งนั้นมาเป็นไอเดีย ปรากฏว่า การขายสินค้าออนไลน์กลายเป็นภูมิคุ้มกันให้เราในวันที่ COVID-19 มาเยือน ยอดขายออนไลน์โตขึ้นมาทดแทนยอดขายปกติที่ลดลง ทำให้ตลอดช่วงที่ COVID-19 ระบาดรุนแรง ภาพรวมของบริษัทเติบโตสวนทางคนอื่น
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ อยากจะแนะนำจากประสบการณ์ของตัวเองว่า ถ้าอยากจะเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออกต้องมีความชัดเจนด้านการตลาดว่าคุณจะขายใคร สินค้าของคุณตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร การค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ หรือเข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น ต้องมีเพื่อน มีพันธมิตรที่ดี ถ้าคุณไม่รู้จะไปหาใครคุณเดินมาหา EXIM BANK ผมเสียเวลาไปเยอะที่ไม่ได้เดินมาหา EXIM BANK ตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นอยากฝากคนที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจแล้วไม่รู้จะทำไงดี ลองปรึกษา EXIM BANK บอกว่าคุณมีสินค้าอะไร ลูกค้าคือใคร แล้ว EXIM BANK จะช่วยคุณได้ ผมเชื่อว่า บุคลากรและทรัพยากรของ EXIM BANK พร้อมที่จะเดินไปสู่ตลาดโลกกับธุรกิจของคนไทยอย่างแน่นอน
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2565