ในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่หลายท่านได้ยินได้ฟังกันแทบทุกวันคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่ดูจะไม่ค่อยสดใสมากนัก โดยหากเปรียบเศรษฐกิจโลกเป็นเพลง เพลงที่น่าจะเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้มากที่สุดคือ เพลงทรงอย่างแบด ที่กำลังฮิตในหมู่วัยรุ่นฟันน้ำนม เนื่องจากหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะ ?แบด? ค่อนข้างแน่ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจจะไม่ ?แซด? อย่างที่คิด จาก 3 เหตุผลที่อาจช่วยให้ Mood & Tone ของเศรษฐกิจโลกดู Soft ลงได้ ดังนี้
- ผูกเองได้?ก็แก้เองได้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า Recession ที่อาจเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปดูจะเป็นความตั้งใจของธนาคารกลางทั้ง Fed และ ECB ในการดับไฟเงินเฟ้อที่อาจลุกลามบานปลาย ผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบดั้งเดิมอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการแก้ปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นดูจะแตกต่างจาก Recession 2 ครั้งในอดีตที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด หรือมีการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไป อย่างวิกฤต Hamburger ที่เกิดจากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ซุกอยู่ใต้พรม พอปะทุขึ้นมาก็ทำให้วานิชธนกิจขนาดใหญ่อย่าง Lehman Brothers ล้มชั่วข้ามคืน หรือวิกฤต COVID-19 ที่ในช่วงที่พบการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นของจีนในเดือน ธ.ค. 2562 มีผู้ติดเชื้อเพียงหลักพัน หลายฝ่ายยังประเมินกันอยู่เลยว่าไม่น่าจะรุนแรง แต่สุดท้ายใครจะคิดว่าจะทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 700 ล้านคน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบ 90 ปี ดังนั้น หากมองในแง่ดี วิกฤตครั้งนี้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว อีกทั้งเป็นวิกฤตที่ผู้กำหนดนโยบายผูกเอง และสามารถแก้เองได้ พูดง่าย ๆ คือ Fed และ ECB จงใจเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เศรษฐกิจชะลอ เพื่อลดเงินเฟ้อได้ ก็สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้เช่นกัน
- แค้นนี้?เริ่มชำระไม่สาย การที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด ประเด็นนี้น่าจะสร้าง Multiplier Effects ต่อเศรษฐกิจโลกได้ในหลายมิติ ไม่เพียงภาคการท่องเที่ยวที่ล่าสุด McKinsey คาดว่าปีนี้ชาวจีนจะออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 70 ล้านคน หรือกลับมากว่า 50% ก่อนเกิด COVID-19 รวมถึงการที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกด้วยสัดส่วนราว 12% ก็น่าจะช่วยพยุงการค้าโลกได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ในช่วง 3 ปีที่จีนใช้นโยบาย Zero-COVID ชาวจีนมีมูลค่าการออมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 80% ปัจจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายล้างแค้นที่อั้นมาในช่วง Lockdown (Revenge Travel & Spending) ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อจีนที่ยังอยู่ระดับต่ำอันดับต้น ๆ ของโลกที่ 2.1% ทำให้จีนยังมีช่องว่างอีกมากในการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุด หลังจีนประกาศเปิดประเทศ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 จาก 4.4% เป็น 5.2% ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้นจาก 2.7% เป็น 2.9% อีกด้วย
- งานยังมี?เงินยังแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงานและภาคการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในอดีตหากเกิด Recession ภาคส่วนดังกล่าวมักได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น ๆ อย่างวิกฤต Hamburger และ COVID-19 ที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และยุโรปพุ่งเกิน 10% แต่สถานการณ์ปัจจุบันดูจะต่างออกไป แม้เราจะได้ยินข่าวบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ประกาศปลดพนักงานกว่าแสนอัตรา แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่กว่า 165 ล้านคน ทำให้ล่าสุดอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ยังอยู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 53 ปีที่ 3.4% เช่นเดียวกับในยุโรปที่เกือบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6% นอกจากนี้ หากดูในภาคการเงินที่เคยเป็นต้นตอของวิกฤตหลายครั้ง ปัจจุบันสุขภาพก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จาก NPLs ของสหรัฐฯ (Q3/2565) ที่ต่ำเพียง 1.2% น้อยกว่าช่วงวิกฤต Hamburger ที่ 5% หรือ NPLs ในยุโรปที่ 1.8% ต่ำกว่าช่วงวิกฤตหนี้ยุโรปที่ 7.5% ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปก็มีความแข็งแกร่งกว่าแต่ก่อน สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสหรัฐฯ และยุโรปที่อยู่ในระดับสูงถึง 14.7% และ 18.9% (Q2/2565) ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ Basel III ที่ 8% ทำให้ความเสี่ยงที่นำไปสู่วิกฤตภาคการเงินยังค่อยเบาใจได้
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 อาจจะไม่ได้แย่อย่างที่คิด ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสที่รอผู้ประกอบการไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะโอกาสในการเจาะตลาดใหม่ ๆ ท่ามกลางตลาดหลักที่อาจชะลอลง ที่สำคัญต้องอย่าลืมป้องกันความเสี่ยงการค้าการลงทุน และค่าเงินอย่างครบวงจร เพื่อความไม่ประสาทและเสริมความมั่นใจก่อนก้าวออกไปยึดหัวหาดในเวทีการค้าการลงทุนโลก
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566