สำหรับผู้ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ การที่เศรษฐกิจโลกปีนี้มีทิศทางชะลอตัว รวมถึงมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่อาจคาดเดาตอนจบ และสถานการณ์ค่าเงินบาทผันผวน ตลอดจนมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์กระแสดูแลโลกที่นับวันจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเดือนแห่งความรัก ?ส่องเทรนด์โลก? ฉบับนี้ ขอเสนอกลยุทธ์ L-O-V-E ซึ่งจะเป็นลายแทงนำพาธุรกิจของท่านให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ในปีนี้
L-O-V-E?ลายแทงนำพาธุรกิจก้าวข้ามเศรษฐกิจโลกแผ่ว
Loyalty
มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะหันไปเลือกซื้อสินค้าราคาถูกกว่าหากไม่ได้ผูกพันกับแบรนด์นั้น ๆ ดังนั้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าให้มั่น นอกจากผู้ประกอบการต้องยึดมั่นในการรักษาคุณภาพสินค้าและบริการแล้ว ควรมีกลยุทธ์รักษาความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าให้แนบแน่นขึ้น เช่น การเพิ่มระบบสมาชิกและสะสมคะแนนเพื่อรับส่วนลดพิเศษ และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งได้ผลดีและมีต้นทุนไม่สูงมาก รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มลูกค้าในการมาใช้บริการหรือเลือกซื้อ
สินค้าจากทุกช่องทาง
- 62% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มซื้อสินค้ากับแบรนด์มากขึ้นหลังสมัครเป็นสมาชิก (ที่มา : McKinsey)
- 50% ของผู้บริโภคจะภักดีต่อแบรนด์น้อยลงหากเคยได้รับประสบการณ์ไม่ดีในการซื้อสินค้าออนไลน์ (ที่มา : PwC)
กล้าบุกตลาดใหม่ ๆ นอกจากการมัดใจลูกค้าเดิมแล้ว การสร้างฐานลูกค้าใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในปีนี้ที่เศรษฐกิจประเทศตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น อาจเติบโตไม่ถึง 2% การแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ที่ขยายตัวดีจึงจะช่วยกระจายความเสี่ยงของฐานลูกค้าเดิม สำหรับตลาดส่งออกที่คาดว่าจะเป็นโอกาสของไทย เช่น
กลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบียที่กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยในรอบ 32 ปี กาตาร์ บาห์เรน โอมาน คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง และเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตต่อได้ในปีนี้ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจของ GCC ในปี 2566 จะขยายตัว 3.6% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าทั้งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยเตรียมที่จะเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ GCC ในปี 2566 เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ไทยส่งออกไป GCC อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ และอาหารทะเลกระป๋อง
เวียดนามและอินเดีย IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจของ 2 ประเทศจะเติบโตสูงถึงราว 6% ในปี 2566 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ไทยส่งออกไป 2 ตลาดนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลาง อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก
ปิดความเสี่ยงธุรกิจ ในปีนี้ธุรกิจส่งออกมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้าน อาทิ ค่าเงินบาทผันผวน โดยเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วถึง 5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือน ต.ค. 2565-ปลายเดือน ม.ค. 2566 และกลับมาอ่อนค่าลงเกือบ 2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.พ. 2566 และแนวโน้มการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 9% ในปี 2566 ผู้ทำธุรกิจระหว่างประเทศจึงไม่ควรละเลยการป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยการทำ Forward Contract รวมถึงการทำประกันการส่งออก เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่สูญเงินทั้งจากการขาดทุน อัตราแลกเปลี่ยน และจากการที่คู่ค้าไม่ชำระค่าสินค้า
ไม่รีรอรุก ESG (Environment Social and Governance) ผู้ประกอบการบางท่านลังเลที่จะลงทุนด้าน ESG โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มไม่สดใส เพราะมองเป็นต้นทุน แต่ความจริงแล้วการลงทุนด้าน ESG หากดำเนินการได้ดีไม่เพียงช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะตลาดใหม่ได้มากขึ้น รวมถึงจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น เพราะ ESG ได้ถูกยกระดับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบลงมือทำไม่แพ้การแก้วิกฤตเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น อีกทั้งหลายประเทศยังเริ่มออกมาตรการที่สอดคล้องกับ ESG มากขึ้น อาทิ การลดการปล่อยคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของ EU มาตรการจำกัดการใช้บรรจุภัณฑ์ของจีน Clean Competition Act ของสหรัฐฯ มาตรการของ EU ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า อาทิ น้ำมันปาล์ม ปศุสัตว์ ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้ และยางพารา
German Watch ชี้ว่าไทยได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 0.82% ของ GDP ระหว่างปี 2543-2562 ซึ่งอัตราความเสียหายนี้สูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์รุก-รับให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต และคว้าประโยชน์ได้ทันยามเมื่อโอกาสมาถึง
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566