CEO Talk: "ผึ้งน้อยเบเกอรี่" ความอร่อยธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 9, 2023 14:26 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

?ผึ้งน้อยเบเกอรี่? เป็นแบรนด์ขนมเบเกอรี่ที่ผู้คนในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงรู้จักดี ทั้งขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ เอแคลร์ เป็นขนมอร่อยในราคาที่ใคร ๆ ก็เอื้อมถึง แถมยังโด่งดังในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย คุณรัตน์ ปาละพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง "บริษัทผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด" บอกเล่าเส้นทางกว่าจะมาเป็นโรงงานขนมท้องถิ่นที่โด่งดังที่สุดในภาคเหนือว่า ต้องฟันฝ่าความท้าทายอะไรบ้าง

จากเบเกอรี่ตลาดนัดสู่ซูเปอร์มาร์เก็ต

ร้านเบเกอรี่ เริ่มต้นจากคุณผ่องพรรณ ปาละพงศ์ ภรรยาของคุณรัตน์ ริเริ่มทำขนมขายตามตลาดและแหล่งชุมชนเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว แต่เนื่องจากคุณรัตน์ประกอบอาชีพรับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ต้องย้ายไปประจำการในหลายจังหวัดของภาคเหนือทำให้ร้านขนมต้องเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ จนมาลงตัวที่จังหวัดพิษณุโลก เพราะคุณรัตน์เรียนต่อระดับปริญญาโทที่นี่ จึงได้ทำขนมขายอีกครั้งและครั้งนี้ได้มีการทำขนมที่เป็น Signature ออกขายคือ เอแคลร์หัวเป็ด ซึ่งได้รับความนิยมมาก จนในที่สุดได้ถูกชักชวนให้นำขนมไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ต่อมาเมื่อคุณรัตน์ย้ายมารับราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงคิดจะลงหลักปักฐานที่จังหวัดนี้ คุณผ่องพรรณจึงตัดสินใจเปิดร้านขายขนมอบขึ้นโดยใช้ชื่อ ?ผึ้งน้อยเบเกอรี่? เพราะคิดถึงชีวิตครอบครัวที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานบ่อยและความขยันขันแข็งของผึ้ง โดยมีเอแคลร์หัวเป็ดเป็นสินค้านำร่อง

ผึ้งน้อยสยายปีก

คุณรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้สินค้ามีมากกว่า 600 รายการ ตามคอนเซ็ปต์ ?หลากหลายความอร่อยที่คุณเลือกได้? แต่จะเลือกผลิตสินค้าออกมาขายให้ตรงกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง โดยมีสินค้าหลักคือ ขนมปัง ครัวซองต์ เค้กโรล และขนมเปี๊ยะ ขายอยู่ตลาด ยึดหลักทำให้อร่อยและคุณภาพดีเหมือนที่ทำให้ครอบครัวของเรารับประทานเอง โดยใช้วิธีบริหารต้นทุนด้วยการซื้อวัตถุดิบเป็นล็อตใหญ่ ทำให้ร้านของเราสามารถขายสินค้าคุณภาพสูงได้ในราคาไม่แพง สินค้าจึงได้รับความนิยมจนต้องขยายสาขาอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันผึ้งน้อยเบเกอรี่มีสาขาทั้งภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่างมากกว่า 40 สาขา และมีโรงงาน 2 แห่งที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน โดยใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในการผลิต แยกไลน์การผลิต โรงงานที่จังหวัดลำพูนใช้ผลิตสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาที่นาน เช่น ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วไข่เค็ม เค้กกล้วยตาก เค้กลำใย ส่วนโรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ใช้ผลิตเดนิช ครัวซองต์ เค้ก และขนมปังรูปแบบต่าง ๆ ที่จะต้องจำหน่ายให้หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันมียอดขายรวมเดือนละประมาณ 60 ล้านบาท

ปัจจุบันผึ้งน้อยเบเกอรี่แบ่งธุรกิจเป็น 4 ประเภทคือ

1. ผึ้งน้อยเบเกอรี่ ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ประเภทเดนิช ครัวซองต์ เค้ก และขนมปังรูปแบบต่าง ๆ

2. บริษัท บีบี เบเกอรี่ จำกัด ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ประเภทของฝาก

3. บริษัท เบบี้ บี เบฟเวอเรจ จำกัด ผลิตและจำหน่ายน้ำดื่ม ชา กาแฟ น้ำผลไม้

4. ร้านเบเกอรี่ มองบลังค์ เป็นร้านเค้กฝรั่งเศสสไตล์ญี่ปุ่น เป็นสินค้าเจาะตลาดบน ผู้บริโภคเป็นนักท่องเที่ยว กลุ่มครอบครัว

ทั้งนี้ การแตกไลน์ธุรกิจออกมาเนื่องจากการแข่งขันตลาดเบเกอรี่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด ผลิตสินค้าประเภทของฝากไม่ทัน จึงก่อตั้ง บริษัท บีบี เบเกอรี่ จำกัด ขึ้นเพื่อรองรับการผลิตสินค้าประเภทของฝากที่มีอายุยาว และสามารถส่งจำหน่ายต่างประเทศได้

โดยในปัจจุบัน บริษัทฯ มีนโยบายรุกตลาดให้เข้าถึงแหล่งชุมชนให้มากขึ้น โดยการขยายตั้งศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัดเชียงราย แม่สาย ลำปาง พะเยา แพร่ และพิษณุโลก เพื่อขายส่งสินค้าเบเกอรี่ ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งค้าขายเป็นเงินสด ทำให้ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีแรงงานและซัพพลายเชนที่ขายส่งวัตถุดิบทั้งระบบมากกว่า 1,000 คน ส่วนการจ้างงานแม้จะมีเครื่องจักรที่ทันสมัย ก็ยังจ้างแรงงานคนตามอัตรากำลังที่เหมาะสม

เริ่มต้นส่งออก

หลังจากครองตลาดเบเกอรี่ในภาคเหนือหลายจังหวัด เริ่มมีลูกค้าที่ซื้อสินค้าออกไปขายตามตลาดชายแดนเมียนมาและ สปป.ลาว ทำให้ขนมปังผึ้งน้อยเบเกอรี่เป็นที่รู้จักของประเทศเพื่อนบ้าน คุณรัตน์และคุณผ่องพรรณจึงคิดว่าควรจะส่งออกเองเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า โดยได้เจรจากับตัวแทนจำหน่ายให้ซื้อสินค้าจากบริษัท บีบี เบเกอรี่ จำกัด โดยตรง ซึ่งได้เริ่มส่งออกไปยัง 2 ประเทศนี้มานาน 2 ปีแล้ว ได้รับการตอบรับที่ดีมียอดขายมูลค่าหลักแสนบาทต่อเดือน และคาดว่าในอนาคตจะขายตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมียนมาเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงเพราะขนส่งด้วยรถยนต์ผ่านทางแม่สายและแม่สอดสะดวกมาก สามารถส่งสินค้าได้ทุกวัน

การช่วยเหลือจาก EXIM BANK

เราได้รับความช่วยเหลือจาก EXIM BANK ในรูปของเงินทุนเพื่อขยายกิจการ ทำให้สามารถสร้างโรงงานใหม่ที่ได้มาตรฐานในจังหวัดลำพูน ขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้นและมีผลิตภัณฑ์หลากหลายตามความต้องการของลูกค้า มียอดขายเพิ่ม สำหรับความต้องการให้ EXIM BANK ช่วยเหลือหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย คือ ลู่ทางขยายตลาดส่งออก ความรู้เกี่ยวกับการส่งออก โลจิสติกส์ และธุรกรรมระหว่างประเทศ

ฝากถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก

การทำธุรกิจไม่ว่าจะขายในประเทศหรือส่งออก ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีวินัยในการทำงาน ต้องขยันและอดทนเหมือน ?ผึ้ง? ที่เป็นต้นแบบของความขยันขันแข็ง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทุกคนต่างก็ลำบาก เราต้องหยุดโรงงานที่จังหวัดลำพูนชั่วคราว ลดการจ้างงาน ก็ต้องประคองตัวไปเพราะมีความหวังว่าปัญหาจะต้องจบสักวันหนึ่ง และจะต้องมองหาลู่ทางการขยายตลาดใหม่ ๆ ไว้เสมอ เมื่อมีโอกาสก็คว้าเอาไว้ หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ การมีผู้ช่วยอย่าง EXIM BANK ทำให้เรามีที่ปรึกษาคอยช่วยแก้ไขปัญหาและเดินไปข้างหน้ากับเรา

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566


แท็ก ขนมปัง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ