ปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่โลกเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในหลายด้าน โดยหนึ่งในกระแสหลักที่ทวีความสำคัญมาหลายปีต่อเนื่องและนับเป็น ?Big Issue? ในปีนี้ คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวโยงกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับประเทศ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ สังคม ไปจนถึงครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในปี 2564 ที่เกิดภัยธรรมชาติทั่วโลกบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเกือบ 5 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก World Meteorological Organization) ทั่วโลกจึงตื่นตัวและร่วมกันเร่งแก้ปัญหาผ่านเวทีการประชุมต่าง ๆ ทั้งการประชุม APEC 2022 ณ กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศสมาชิกร่วมกันตั้งหมุดหมายสำคัญไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 และลดการใช้พลังงานต่อ 1 หน่วย GDP ลง 45% ภายในปี 2578 รวมถึงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP 27) ณ ประเทศอียิปต์ มุ่งมั่นให้ 90% ของอุตสาหกรรมพลังงานโลกต้องปลอดคาร์บอนภายในปี 2593 จะเห็นได้ว่า การที่ทั่วโลกมุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จะทำให้ภูมิทัศน์และโมเดลธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยขอยกตัวอย่าง ?ปรากฏการณ์สีเขียว? ที่จะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2566 ดังนี้
หนึ่งในปรากฏการณ์สีเขียวที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่อง คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังขยายตัวในวงกว้างไปทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Kantar บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ประเมินผู้บริโภคทั่วโลก พบว่ามีกลุ่ม Eco-Actives (ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 16% ของประชากรโลกในปี 2562 เป็น 22% ในปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 50% หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกภายในปี 2572 โดยผู้บริโภคที่มองหาสินค้า Eco-friendly มักให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ เช่น สามารถรีไซเคิลได้ ปริมาณการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภค Eco-Actives สร้างมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงถึง 446 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับ GDP มาเลเซีย) ขณะที่เมื่อหันมาพิจารณาในมุมของผู้ผลิตก็พบว่าบริษัทที่ปรับโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมก็ได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเช่นกัน สะท้อนจากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างบริษัทในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคใน 3 ประเทศ พบว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมักมีผลการดำเนินงานดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม นับเป็นการตอกย้ำว่าการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่เส้นทางสีเขียวเป็นอีกหนึ่งแต้มต่อสำคัญที่จะซื้อใจและเจาะตลาดผู้บริโภคหัวใจสีเขียวที่กำลังเติบโตและจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญในระยะถัดไป
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ ปรากฏการณ์มาตรการสีเขียวหรือมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตให้ครอบคลุมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่ามาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ณ ปี 2564 อยู่ที่ราว 17,000 มาตรการ เพิ่มขึ้นราว 6 เท่าจากปี 2554 (10 ปีที่ผ่านมา) ที่มีเพียง 2,652 มาตรการ โดยมีข้อสังเกตว่าประเทศที่ออกมาตรการจำนวนมาก มีทั้งประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เช่น จีน บราซิล ฟิลิปปินส์
มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนมาแรง...คู่ค้าสำคัญของโลก ทั้ง EU และสหรัฐฯ เตรียมบังคับใช้
กำหนดให้สินค้านำเข้าจากนอกกลุ่ม EU ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย ต้องซื้อใบรับรองการปล่อยคาร์บอน (CBAM Certificate) เพื่อเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับในการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้กำหนดราคาใบรับรองฯ และจะเริ่มทดลองใช้ในปี 2566-2568 (Transitional Period) ก่อนจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2569
กำหนดให้สินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม กระดาษ ต้องเสียภาษีคาร์บอน โดยในเบื้องต้นจะเริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตในประเทศภายในปี 2567 ก่อนจะขยายขอบเขตไปยังกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในปี 2569
ปรากฏการณ์สีเขียวสุดท้ายที่กำลังมาแรงและทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในตลาดการเงินโลก คือ ปรากฏการณ์กลไกทางการเงินสีเขียวหรือ Green Finance ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ครอบคลุมทั้งด้านแหล่งที่มาของเงินทุนและการใช้เงินทุนที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยรายงานของ TheCityUK ระบุว่าในปี 2564 ตลาด Green Finance โลกมีมูลค่า 540.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 หรือขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงปีละ 68% (CAGR) ยิ่งไปกว่านั้น ยังทวีบทบาทสำคัญต่อตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีสัดส่วน 4% ของมูลค่าตลาดการเงินโลก เพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในปี 2555 ทั้งนี้ เครื่องมือทางการเงินที่มีบทบาทมากที่สุดในตลาด Green Finance คือ การระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร (Green Bond) ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดราว 90% โดยมีจีนและสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 14% และ 12% ตามลำดับ ขณะที่ในส่วนของการให้สินเชื่อ (Green Loan) กว่าครึ่งหนึ่งกระจุกอยู่ที่ยุโรป นอกเหนือจากนี้ ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ เช่น การออกตราสารทุน (Green Equity) เป็นต้น เป็นที่คาดว่าตลาด Green Finance ทั่วโลกจะเติบโตอีกมากและมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เนื่องจากนโยบายภาครัฐในหลายประเทศต่างหันมาส่งเสริมตลาด Green Finance อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โปรแกรม Carbon Emission Reduction Facility (CERF) ของจีนที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินที่ 1.75% สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โปรแกรม Climate Lending Facility ของญี่ปุ่น ซึ่ง Bank of Japan จะให้เงินกู้แก่สถาบันการเงินสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษแก่ภาคธุรกิจต่อ ซึ่งนับเป็นการจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ เร่งปรับโมเดลธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้อีกทางหนึ่ง
ปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับภูมิทัศน์ทางธุรกิจของโลกที่มุ่งสู่การใส่ใจและช่วยกันปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยเองก็ตระหนักดีถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยหันมาปรับกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลภายใต้ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยตั้งเป้าภายในปี 2569 จะเพิ่มเม็ดเงินจาก BCG Economy อีก 1 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานอีก 3.5 ล้านราย รวมถึงลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมลง 50% ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำแนวคิดหรือรูปแบบของ BCG มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน โดยเร่งปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหัวใจสีเขียว การปรับธุรกิจให้สอดรับกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินสีเขียว เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสใหม่ ๆ ที่รออยู่ พร้อมไปกับการเป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้นในอนาคตอีกด้วย
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2566