Share โลกเศรษฐกิจ: ลมเปลี่ยนทิศ...ลิขิตภูมิทัศน์ใหม่ FDI โลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 8, 2023 13:59 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เป็นเครื่องยนต์สำคัญและทวีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP โลก (FDI Stock) อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงของบริบทและปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่นับวันจะทวีความรุนแรงและรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนขั้วของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเกิด Disruption ในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยี การเกิดโรคอุบัติใหม่ COVID-19 ตลอดจนภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของ FDI โลกพลิกโฉมจากในอดีตไปหลายมิติ ขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้

Reshoring Investment?ย้ายฐานการลงทุนกลับประเทศแม่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญ คือ Supply Chain Shock การสะดุดลงของห่วงโซ่อุปทานในสายการผลิต โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนทำให้ยอดการผลิตยานยนต์ทั่วโลกลดลงราว 15% ในปี 2563 หลังจากผู้ผลิตชั้นนำของโลกหลายราย เช่น Hyundai ของเกาหลีใต้ Nissan ของญี่ปุ่น ต้องปิดโรงงานผลิตยานยนต์ชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากจีนได้ ทั้งนี้ Supply Chain Shock เกิดจากหลายสาเหตุ เช่นภัยธรรมชาติ ปัญหาความไม่สงบ โรคระบาด สร้างความเสียหายแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นวงกว้าง โดยข้อมูลจาก McKinsey Global Institution (MGI) ประเมินว่า ในทุก 10 ปี ปัญหา Supply Chain Shock ทำให้ภาคธุรกิจต้องสูญเสียกำไรเฉลี่ยปีละกว่า 40% หรือในช่วง COVID-19 มีบริษัทกว่า 1 ใน 3 ของโลกต้องเผชิญปัญหาการผลิตหยุดชะงักจากห่วงโซ่อุปทานสะดุด ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์นี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น โดย MGI ประเมินว่า อย่างน้อยในทุก 2 ปี จะเกิดปัญหา Supply Chain Shock กินเวลา 1-2 สัปดาห์ ทำให้หลายบริษัทเริ่มปรับโมเดลธุรกิจจาก Globalization มาเป็น Deglobalization ลดการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานข้ามโลกมาเป็นในประเทศ หรือภูมิภาคเดียวกัน เมื่อประกอบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ จนลุกลามไปสู่สงครามการค้าที่ก่อให้เกิดมาตรการกีดกันที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานผ่านการดึงฐานการลงทุนกลับประเทศ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นก่อให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ของการลงทุนที่เรียกว่า ?Reshoring? ซึ่งเป็นการย้ายหรือถอนฐานการลงทุนกลับสู่ประเทศแม่ โดยหนึ่งในประเทศที่ Reshoring ชัดเจนที่สุด คือ สหรัฐฯ หลังจากอัตราการว่างงานในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ต่อเนื่องมาถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประกอบกับในช่วง COVID-19 เกิดภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และวัตถุดิบสำคัญในภาคการผลิต รัฐบาลจึงได้เสนอสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจและสนับสนุนให้บริษัทกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น เช่น ลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เป็น 21% หรือแพ็กเกจวงเงินสนับสนุน 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตและวิจัยเซมิคอนดักเตอร์กลับมาสหรัฐฯ เป็นต้น บริษัทอเมริกันจึงเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตกลับประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การ Reshoring ของสหรัฐฯ เร่งตัวเร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดดและช่วยให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2565 จำนวนการจ้างงานจาก Reshoring พุ่งแตะระดับกว่า 2 แสนราย เพิ่มขึ้นถึง 25% จากปีก่อน เช่นเดียวกับในยุโรปที่หลายประเทศ Reshoring มากขึ้น จากปัญหาการส่งมอบสินค้าล่าช้าและคุณภาพการผลิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยผลสำรวจของ Eurofound พบว่า 47% เป็นการ Reshoring ออกจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ด้วยกันเอง และ 43% จากประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจีน สำหรับประเทศที่ Reshoring กลับมากที่สุด คือ สหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่ Reshoring มากที่สุด คือ ภาคการผลิต (86%) การสื่อสาร (5%) การเงินและประกันภัย (4%) ทั้งนี้ Reshoring มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก โดยผลสำรวจของ BCI Global บริษัทที่ปรึกษาของเนเธอร์แลนด์ รายงานว่า บริษัทในสหรัฐฯ ยุโรป และอาเซียนกว่า 60% มีแผนที่จะ Reshoring ภายใน 3 ปีข้างหน้า นอกเหนือไปจาก Reshoring ยังมีการย้ายฐานการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ?Friendshoring? การย้ายการลงทุนไปในประเทศที่เป็นพันธมิตรระหว่างกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างประเทศและการกีดกันการค้าการลงทุน และ ?Nearshoring? การย้ายการลงทุนไปในประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่อยู่ติดกัน เพื่อลดความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์ที่อาจเกิดปัญหาจนกระทบต่อ Supply Chain ในอนาคต ท่ามกลางแรงกดดันของต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น เช่น ในช่วง COVID-19 ค่าระวางเรือ (Freight Rate) เฉลี่ย 8 เส้นทางหลักของโลก พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เกินกว่า 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ 40 ฟุต ตลอดจนการขนส่งที่ล่าช้าจากการปิดเมืองและท่าเรือสำคัญหลายแห่ง

Reverse Merger & Acquisition Investment...ปลาใหม่กินปลาเก่า

อีกหนึ่งภูมิทัศน์ FDI ที่เริ่มเห็นชัดขึ้น นอกเหนือจากการเข้าไปลงทุนแบบ Greenfield หรือการลงทุนใหม่ คือ การเข้าไปทำ Merger & Acquisition (M&A) หรือการเข้าไปซื้อกิจการในต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางลัดเพื่อขยายกิจการ ขยายตลาด และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) โดยการลงทุนรูปแบบนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนจากในปี 2565 เม็ดเงิน Cross Border M&A (การลงทุนซื้อกิจการระหว่างประเทศ) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ขณะที่เม็ดเงินต่อโครงการเฉลี่ยอยู่ที่ 171.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจาก 121.5 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 นอกจากนี้ มีข้อสังเกตสำคัญว่าการทำ M&A เริ่มสวนทางจากในอดีตที่บริษัทในกลุ่มประเทศตลาดหลักมักเป็นผู้ซื้อกิจการในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Countries) แต่ในระยะหลังเริ่มเห็นสัญญาณการกลับทิศเป็นบริษัทในประเทศตลาดเกิดใหม่เข้าไปซื้อกิจการในประเทศตลาดหลักมากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจตลาดหลักประสบภาวะซบเซาต่อเนื่อง โดย GDP Growth ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาของกลุ่มประเทศ G7 ขยายตัวต่ำเฉลี่ยเพียงปีละ 1.5% สวนทางกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ของเอเชียที่ขยายตัวสูงถึง 5.8% รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งหันมาใช้กลยุทธ์ M&A เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือขยายฐานธุรกิจอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้นำด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของเอเชียเข้าซื้อบริษัทเกมชื่อดังของยุโรป บริษัทโทรคมนาคมในตะวันออกกลางซื้อกิจการผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของยุโรป และบริษัทขนาดใหญ่ในเอเชียใต้เข้าไปซื้อบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของยุโรป เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งแรงส่งที่ทำให้ M&A มีแนวโน้มเติบโตอีกมาก คือ หลายบริษัทหันมาปรับโมเดลธุรกิจใหม่ (Transformation) กระจายตลาด/Portfolio รวมถึงแตกไลน์ธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม (Cross-industry) เนื่องจากหลังเกิดวิกฤต COVID-19 หลายธุรกิจประสบกับปัญหาถูก Disruption ทำให้ต้องมองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่มากขึ้น ไม่เพียงเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจจากการกระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากจนเกินไป แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

Renewable Energy & Sustainable Investment?การลงทุนเพื่อโลกที่ยั่งยืน

ท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ทั่วโลกตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ส่งผลให้ทิศทางการลงทุนของโลกเดินหน้าสู่ Green FDI อย่างชัดเจน สะท้อนจากโครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเขียวเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดย Top10 โครงการ FDI ที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2565 เป็นโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนถึง 6 โครงการ ยิ่งไปกว่านั้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืนก็มีแนวโน้มเติบโตสูง โดย Allied Market Research ประเมินว่าในช่วงปี 2565-2572 ตลาดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการของเสีย การปรับระบบไฟฟ้าให้ประหยัดพลังงาน การปรับระบบการผลิตให้ลดการปล่อยมลพิษ เป็นต้น จะเติบโตสูงถึงเฉลี่ยปีละ 21% ขณะที่ IHS Markit คาดว่าภายในปี 2593 จะเกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจโลกถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับ GDP อินเดียในปัจจุบัน) จากการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนสู่ Net-zero Emission นอกจากนี้ มาตรการการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของหลายประเทศก็เข้มงวดขึ้น ทำให้หลังจากนี้โครงการ FDI ในทุกธุรกิจต้องคำนึงและให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความโปร่งใส (Environmental, Social, Governance) อย่างจริงจัง

กระแสลมที่เปลี่ยนทิศภูมิทัศน์ FDI โลกนับเป็นการนำพาโอกาสสู่ผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยแนวโน้ม

การย้ายฐานการลงทุนของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ Friendshoring และ Nearshoring อาจเพิ่มโอกาสให้ไทยก้าวเป็นฐานการลงทุนแห่งใหม่ภายใต้การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่นและแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การ Reshoring จะขยายโอกาสการค้าของไทย โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญและนานาประเทศต้องพึ่งพา ในส่วนของ M&A ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่นำพาธุรกิจไทยไปสยายปีกในต่างแดนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Thailand Direct Investment : TDI) ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการไทยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศก็สามารถใช้โอกาสจากกระแส Renewable Energy & Sustainable Investment ในการรุกธุรกิจสีเขียวที่กำลังเติบโตสูง ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยคาร์บอน แต่ยังสามารถนำคาร์บอนเครดิตส่วนเกินไปขายและช่วยผลักดันให้ภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตโลกเติบโตได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันการพัฒนา Ecosystem สีเขียวตลอด Supply Chain ของประเทศจะเป็นแม่เหล็กดึงดูด Green FDI จากทั่วโลก ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันประเทศให้ก้าวสู่ Net-zero Emission ได้ตามเป้าหมาย จะเห็นได้ว่า กระแสลมที่เปลี่ยนทิศในครั้งนี้ นับเป็นแรงส่งสำคัญให้ภาคการลงทุนของไทยมีโอกาสกลับมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงแข็งแรงอีกครั้ง

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ