หากพูดถึงประเทศความหวังที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกปี 2566 เชื่อว่าหนึ่งในประเทศที่ผู้อ่านหลายท่านนึกถึงคงหนีไม่พ้นจีน เพราะหลังจากที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด ก็มักได้ยินข่าวว่าหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญต่างปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ IMF ที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะโตได้ถึง 5.2% และจะมีส่วนผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หากจะเปรียบเศรษฐกิจจีนเป็นตัวละครในหนังหรือซีรีส์สักเรื่องนึง หนุ่มตี๋หล่อชาวจีนคนนี้คงจะรับบทอื่นเป็นไม่ได้นอกจาก ?พระเอก? ที่น่าจะสร้างกระแสฟีเวอร์ สร้างความหวังและรอยยิ้มให้กับผู้ชมทั่วโลกได้ไม่น้อย อย่างล่าสุด GDP ไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ออกมา 4.5% สูงสุดในรอบ 1 ปี ก็ดูจะทำให้หลายประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนในสัดส่วนสูงคงอมยิ้มไปตาม ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดดูเหมือนชีวิตของพระเอกคนนี้อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด เพราะเขากำลังต้องเผชิญกับบททดสอบชีวิตครั้งสำคัญในหลายมิติ ดังนี้
- การงานเริ่มสะดุด สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Official PMI) ในเดือน พ.ค. 2566 ที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 48.8 (<50 สะท้อนการหดตัว) สวนทางกับ PMI ภาคบริการที่เกิน 50 มาแล้ว 5 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า กดดันให้กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีน (ม.ค.-เม.ย. 2566) หดตัวถึง 20.6% ขณะที่การจ้างงานที่แม้ล่าสุดอัตราการว่างงานโดยรวมของจีนเดือน เม.ย. 2566 จะลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือนที่ 5.2% แต่อัตราการว่างงานของแรงงานอายุ 16-24 ปี กลับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 20.8% ซึ่งการบริโภคของคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึง 20% ของการบริโภครวม ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้เงินเฟ้อจีนเดือน พ.ค. 2566 ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 0.2% จนทำให้เริ่มมีการพูดถึงว่าจีนอาจกลายเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation)
- การเงินเริ่มไม่คล่องมือ ส่วนหนึ่งมาจากราคาสินทรัพย์ที่สะท้อนความมั่งคั่งของชาวจีนเผชิญกับโมเมนตัมเชิงลบ ทั้งราคาบ้านใหม่ที่ยังหดตัว 12 เดือนติดต่อกัน และดัชนีตลาดหุ้นจีนที่เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นหลุมหลบภัยจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ก็ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน นอกจากนี้ เงินหยวนที่อ่อนค่าทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 7 เดือน ไม่เพียงกระทบการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศของจีนเท่านั้น แต่ยังกระทบการส่งออกของหลายประเทศที่พึ่งพาจีนในสัดส่วนสูง สะท้อนจากการนำเข้าของจีนในช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 หดตัวถึง 7.3% ทั้งนี้ แม้การส่งออกไทยไปจีนในช่วงเวลาเดียวกันจะขยายตัวได้อ่อน ๆ ที่ 0.7% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายังไม่ได้เป็นการฟื้นตัวแบบทั่วถึง เพราะหากหักการส่งออกผลไม้ที่ขยายตัวสูงถึง 127% ออกไปพบว่าการส่งออกไทยไปจีนยังหดตัวสูงถึงราว 12% สะท้อนโมเมนตัมการส่งออกไทยไปจีนโดยรวมที่ยังไม่สดใสนัก
- อู้ฟู่น้อยลง Introvert มากขึ้น สังเกตได้จากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของพระเอกคนนี้เริ่มเปลี่ยนจากการชอบไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยครั้งในช่วงก่อน COVID-19 (นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากที่สุดในโลกถึง 160 ล้านคน ในปี 2562) มาเป็นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เห็นได้จากวันหยุดในช่วงวันแรงงานในเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา พบว่าการท่องเที่ยวในประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับก่อน COVID-19 ถึง 19% แต่การท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนกลับฟื้นตัวได้เพียงแค่ 40% จากระดับก่อน COVID-19 เท่านั้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ Dragon Trail International บริษัทวิจัยด้านการท่องเที่ยวของจีนพบว่า 31% ของชาวจีนจะไม่ไปเที่ยวต่างประเทศ และอีก 40% ยังไม่มีแผนไปเที่ยวต่างประเทศในปี 2566 ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโจทย์ท้าทายของหลายประเทศที่หวังพึ่งพระเอกคนนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย
ประเด็นข้างต้นทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวที่มี Exposure กับจีนค่อนข้างสูง ควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมแผนกลยุทธ์เชิงรุกในการหาโอกาส และป้องกันความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจไปต่อได้และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2566