ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนเป็นหัวข้อหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สังเกตได้จากที่นานาประเทศต่างพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือปี 2593 โดยหนึ่งในกลไกที่ใช้เพื่อผลักดันเป้า Net Zero ก็คือการเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อกดดันให้ภาคการผลิตเร่งปรับตัวลดคาร์บอนโดยเร็ว
ปัจจุบันมีประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมากในการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน คือ สหรัฐฯ และ EU โดยสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง อาทิ สินค้าที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม แก้ว กระดาษ และเอทานอล ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ขณะที่ EU มีมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้แล้ว "ส่องเทรนด์โลก" ฉบับนี้จึงจะชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับมาตรการ CBAM ของ EU ให้มากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในโค้งสุดท้ายก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้
ทำความรู้จักกับมาตรการ CBAM ของ EU
Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญภายใต้กรอบ European Green Deal ของ EU ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่จะทำให้ EU บรรลุเป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593
แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังมาตรการ CBAM คือ การที่ EU ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าใน EU ลดการปล่อยคาร์บอนลง ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิตใน EU มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตใน EU ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตนอก EU ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และทำให้ EU ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ เพราะผู้ผลิตสินค้าก็จะมีแรงจูงใจในการย้ายฐานออกไปตั้งในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า EU เพื่อให้มีต้นทุนลดลง ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะหันไปซื้อสินค้าที่ผลิตนอก EU เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่า ดังนั้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตสินค้าใน EU จึงควรมีกลไกในการปรับราคาของสินค้านำเข้าให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงในกระบวนการผลิตสินค้านั้น
สินค้าที่เป็นเป้าหมายของมาตรการ CBAM ในปัจจุบันมี 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ซึ่งเป็นสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง และมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนรวมกันเกินกว่า 50% ของอุตสาหกรรมที่อยู่ในระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอนของ EU (EU Emission Trading System : EU ETS) นอกจากนี้ ยังคาดว่าในอนาคตอาจมีการขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมถึงพลาสติกและเคมีอินทรีย์ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันขอบเขตของการปล่อยคาร์บอนของสินค้าส่วนใหญ่ใน CBAM จะครอบคลุมทั้ง 1) การปล่อยคาร์บอนทางตรง (Direct Emission) จากการผลิตสินค้า เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องจักร การเกิดปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการผลิต และการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกจากสารเคมีที่ใช้ เช่น สารทำความเย็น และ 2) การปล่อยคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emission) เช่น การปล่อยคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นเหล็กและเหล็กกล้า (ไม่รวม HS 26011200 สินแร่และหัวแร่เหล็กที่เกาะรวมกัน) อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ที่จะพิจารณาเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรงเท่านั้น
ในระยะแรกซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน (ต.ค. 2566-ธ.ค. 2568) ผู้ประกอบการจะยังไม่เสียค่าใช้จ่ายในการปล่อยคาร์บอน แต่ผู้นำเข้าสินค้าข้างต้นใน EU ต้องรายงานข้อมูลดังต่อไปนี้ทุกไตรมาส เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะถัดไป
- ปริมาณสินค้าแต่ละชนิดที่นำเข้า
- ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Embedded Emissions) ทั้งทางตรง (Direct) และทางอ้อม (Indirect) ของสินค้านั้น ที่ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาต
- ราคาคาร์บอนในประเทศที่ผลิตสินค้า
- ช่วงการบังคับใช้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลเช่นเดียวกับในระยะเปลี่ยนผ่าน และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ภายในวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี โดยจะคิดจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่นำเข้าหักด้วยราคาคาร์บอนที่ชำระในประเทศผู้ผลิตแล้ว หรือหักด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Free Allowances) ตามสัดส่วนที่ EU กำหนด ทั้งนี้ หากผู้นำเข้าไม่ได้ส่งมอบใบรับรอง CBAM ให้ครบถ้วนตามกำหนดจะมีโทษปรับในอัตรา 100 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
สำหรับผู้ผลิตสินค้าหรือผู้นำเข้าที่ไม่สามารถรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้า (ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาตจาก EU) ได้ ให้ใช้ ?ค่ากลางการปล่อยคาร์บอน (Default Value)? ของสินค้านั้นจากประเทศที่ผลิตแทน โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของการปล่อยคาร์บอนของผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศที่ผลิต แต่หากประเทศนั้นยังไม่มีค่ากลางการปล่อยคาร์บอนของสินค้าดังกล่าว ให้ใช้ข้อมูลเฉลี่ยของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินการได้แย่ที่สุดใน EU ETS แทน ซึ่งค่าที่ได้อาจสูงกว่าค่าการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงของผู้ผลิตรายนั้น
เหลียวดูผู้ประกอบการไทย...ผลกระทบและการเตรียมความพร้อม
เมื่อ CBAM เริ่มมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไป EU จะมีต้นทุนในการประเมินและเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่ผลิต รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการรับรองผลจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ต้นทุนหลักที่จะเพิ่มขึ้นคือค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM หรือค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนที่จะต้องจ่าย ซึ่งคำนวณจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้น คูณด้วยราคา CBAM Certificate ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน ยกตัวอย่างเช่น ในการผลิตซีเมนต์ปริมาณ 1 ตันของบริษัทหนึ่ง มีการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 650 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ 0.65 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสมมติให้ค่าธรรมเนียม CBAM Certificate เท่ากับราคาซื้อขายคาร์บอนเฉลี่ยใน EU ETS ปี 2565 ที่ 83 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM สำหรับการส่งออกซีเมนต์ 1 ตันจากบริษัทดังกล่าวไปยัง EU จะเท่ากับ 0.65 x 83 = 53.95 ยูโร
ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ที่คำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยเฉพาะทางตรง (Direct Emissions) ในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและซีเมนต์ของไทย พบว่ามีค่า 0.5 และ 0.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตันสินค้าตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการอะลูมิเนียมและซีเมนต์ของไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยตันละ 41.5 และ 49.8 ยูโร ตามลำดับ
ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาแนวทางและขอคำแนะนำในการประเมินปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าจาก อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยในการให้บริการรับรองเครื่องหมาย Carbon Footprint นอกจากนี้ ปัจจุบัน อบก. ยังอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และเร่งกำหนดค่ามาตรฐาน (Benchmark) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2567
ในโลกการค้าปัจจุบันต้องยอมรับว่าการลดการปล่อยคาร์บอนได้กลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว และเป็นที่แน่นอนว่ามาตรฐานสินค้าหรือมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องย่อมมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการจึงไม่ควรย่ามใจว่าสินค้าของท่านไม่ถูกเก็บภาษีคาร์บอน จึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัว เพราะมาตรการ CBAM ของ EU เป็นเสมือนคลื่นลูกแรกของมาตรการภาษีคาร์บอนที่จะเกิดขึ้นในโลก และอีกไม่นานย่อมต้องมีคลื่นลูกต่อ ๆ ไปตามมา ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขตสินค้าภายใต้ CBAM ให้กว้างขึ้น การประกาศใช้กฎหมาย Clean Competition Act ของสหรัฐฯ หรือการที่ประเทศอื่น ๆ หันมาเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าแม้ท่านไม่ได้เป็นผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอนโดยตรง แต่ท่านก็อาจอยู่ใน Supply Chain ของผู้ที่ส่งออกสินค้าเหล่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง รวมถึงรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้ลูกค้าของท่านนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อเช่นกัน
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2566