ท่ามกลางคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพลิกโฉมโลกใบนี้ให้เปลี่ยนไปจากเดิม หนึ่งในคลื่นลูกใหญ่ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก หนีไม่พ้นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ ?สังคมผู้สูงอายุ? หลายคนตั้งคำถามว่าปัจจุบันโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วหรือไม่ หลังจากเทคโนโลยีและระบบสาธารณสุขดีขึ้นอย่างมาก ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกอยู่ที่ 73.2 ปี เทียบกับ 64.6 ปี เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติระบุว่าสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรรวมนับเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หากมากกว่า 20% เรียกว่า สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อพิจารณาประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกในปัจจุบันที่มีราว 1.1 พันล้านคน คิดเป็น 14% ของประชากรโลก หมายความว่าปัจจุบันโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ยิ่งกว่านั้น คาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน ทำให้โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ขณะที่หากพิจารณารายประเทศพบว่ามีไม่น้อยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทั้งตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อังกฤษ และตลาดใหม่ เช่น จีน รัสเซีย บราซิล รวมถึงไทย มีเพียงกลุ่มประเทศแอฟริกาที่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การที่โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจสร้างความกังวลแก่หลายคน โดยเฉพาะประเด็นการฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะกลัวว่าคนแก่จะจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคักเหมือนหนุ่มสาว แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน โดยหากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูงทั้งจากเงินออมและรายได้สวัสดิการช่วยสร้างเม็ดเงินใหม่ ๆ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต โดย World Data Lab ที่ปรึกษาการตลาดคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 เม็ดเงินใช้จ่ายของผู้สูงอายุจะโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเอเชียแตะระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือโตกว่าสองเท่าจากปัจจุบัน ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับทั้งสินค้าและบริการ หรือเรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองที่จะเกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุ อาทิ
กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสินค้าเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะสินค้าที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกและปลอดภัยขึ้น เช่น รถเข็นอัจฉริยะ ไม้เท้า นาฬิกาวัดสุขภาพ อุปกรณ์มือจับภายในบ้าน รวมถึงสินค้าเชิงสุขภาพ เช่น เครื่องช่วยฟัง เครื่องนอนเพื่อสุขภาพ อาหารเฉพาะเพื่อผู้สูงวัย (เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย) อาหารเสริม วิตามิน นอกจากนี้ ธุรกิจบริการผู้สูงวัยก็กำลังมาแรง เช่น บริการดูแลผู้สูงอายุ บริการขับรถ บริการคอลเซ็นเตอร์ให้คำแนะนำผู้สูงอายุ ปัจจุบันตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุโลกมีมูลค่ามากถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบเทียบเท่า GDP ออสเตรเลีย
การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นิยมในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมารักษาตัว ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพ เช่น ธรรมชาติบำบัด สปาบำบัด โภชนาการบำบัด ยิ่งกว่านั้น จากข้อมูลของ Glasgow Research and Consulting คาดว่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลกในอีก 2 ปีข้างหน้าจะโตก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 23% แตะระดับ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
แนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้หลายประเทศวางแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพรองรับผู้สูงอายุ รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิตร่วมกันของประชากรทุกวัย ก่อให้เกิดความต้องการก่อสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาล รวมถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจโรงพยาบาลและที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ สังคมผู้สูงอายุที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลกเป็นโอกาสทองแก่ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงวัย การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของโลก โดย The International Healthcare Research Center จัดไทยติด Top 20 Medical Tourism ของโลก รวมถึงมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล JCI (Joint Commission International) ถึง 61 แห่ง มากเป็น 1 ใน 5 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น จากผลสำรวจของ Global Wellness Institute พบว่าไทยถูกเลือกเป็นเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยากมาที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมถึงเป็นโอกาสเข้าไปลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร รองรับผู้สูงอายุทั้งในไทยที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพังราว 1.5 ล้านคน รวมถึงในประเทศที่มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2566