เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Digital Economy ภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับนำมาปรับใช้ให้เกิด Productivity ของกิจการ โดยมีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) หรือโดรน (Drone) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงวงการเกษตร ซึ่งโดรนช่วยอำนวยความสะดวกด้านการให้ปุ๋ย พ่นยา หว่านเมล็ด และวิเคราะห์ดินฟ้าอากาศได้ดี เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Smart Farmers ซึ่งคุณวิภารัตน์ ทองบุญเมือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซี่ (2018) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร ภายใต้แบรนด์ NAcDrone มองเห็นโอกาสนี้ จึงพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรจำหน่าย ให้เช่า และส่งออก เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรรุ่นใหม่ในไทยและต่างประเทศ
คุณวิภารัตน์เล่าถึงที่มาของการผลิตและจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตรว่า ?คุณอัศวิน โรมประเสริฐ ผู้ก่อตั้งบริษัท อีซี่ (2018) จำกัด ชอบทำงานบรรเทาสาธารณภัย จึงเริ่มต้นจากการนำโดรนมาใช้ช่วยเหลือค้นหาผู้ประสบภัยและคิดอยากผลิตโดรนกู้ภัยขาย แต่เนื่องจากยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนักสำหรับตลาดโดรนกู้ภัย การผลิตโดรนขายจึงดูเป็นเรื่องยาก แต่ความต้องการช่วยเหลือคนยังอยู่ในใจตลอด จึงคิดหาวิธีทำอย่างไรให้สามารถช่วยเหลือคนในขณะที่ขายสินค้าเพื่อเป็นรายได้ควบคู่กันไปด้วยได้ เมื่อบังเอิญได้รับทราบข่าวเกษตรกรเสียชีวิตจากการสัมผัสสารเคมี จึงเกิดไอเดียทำโดรนเพื่อการเกษตร ลดการสัมผัสสารเคมีของเกษตรกร โดยเริ่มทดลองติดตั้งถังบรรจุเข้ากับโดรน และขอทดลองฉีดพ่นในแปลงเกษตรของเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงบริษัท เมื่อเห็นว่ามีประสิทธิภาพดี จึงเริ่มผลิตขายและพัฒนาประสิทธิภาพโดรนมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงตอนนี้ขายโดรนออกไปแล้ว 2,300 ลำทั่วประเทศ?
?นอกจากการผลิตโดรนเพื่อบรรจุของเหลวประเภทสารเคมี ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยแล้ว บริษัทได้ศึกษาและพัฒนาศักยภาพการใช้งานโดรนให้สามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยชนิดเม็ดได้ในหลากหลายขนาดความจุ เพื่อรองรับการใช้งานของเกษตรกรที่มีความต้องการแตกต่างกัน? คุณวิภารัตน์กล่าวเพิ่มเติม
ลูกค้าในระยะแรกของเราเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ขยายสู่กลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ ปัจจุบันมีศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่าย NAcDrone รวม 65 แห่งทั่วประเทศไทย ในจำนวนโดรนที่ให้บริการอยู่ขณะนี้ 2,300 ลำ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขาย มีเพียง 50 ลำที่ให้บริการแบบเช่า ซึ่งโดรนทุกลำจะมี GPS ติด ด้วยความพิเศษของ NAcDrone ที่มีศูนย์ควบคุมการบินกลางเพียงแห่งเดียวในไทย ภายใต้การควบคุมจากสถาบันพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถตรวจสอบสถานะและตำแหน่งของโดรนทุกลำที่ซื้อจากเราไปว่าบินอยู่ที่ไหนบ้าง พื้นที่กี่ไร่ ใช้ปริมาณสารน้ำไปเท่าไร ซึ่งเราพบว่ามีการใช้งานโดรนที่ซื้อจากเราในประเทศอาเซียนรอบบ้าน สะท้อนถึงการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี
คุณวิภารัตน์ กล่าวว่า เราให้เช่าโดรนในอัตรา 30 บาทต่อไร่ต่อครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จนปัจจุบันมีภาครัฐเข้ามาติดต่อขอใช้งานโดรนจากเราเพิ่มมากขึ้น คาดว่าภายในปี 2566 เราน่าจะบรรลุเป้าหมายปล่อยเช่าโดรนได้จำนวนมากถึง 500 ลำ
คุณวิภารัตน์เล่าว่า ?ตอนผลิตโดรนเพื่อการเกษตรในระยะแรกมีอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากเป็นของใหม่และยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงออกแบบและประกอบตัวเครื่องเองแบบลองผิดลองถูก ซึ่งเมื่อลองแล้วผิดจะเกิดการสูญเสียพอสมควร บริษัทจึงมุ่งเน้นการสรรหาบุคลากรเข้ามาร่วมงานกับเรา โดยเขาต้องสามารถปรับ Mindset ให้ทันกับเทคโนโลยีของโดรนที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปทุกวันได้?
นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีที่ไหนสอนเกี่ยวกับโดรนโดยตรง เราจึงต้องปั้นบุคลากรด้วยการจัดทำหลักสูตรอบรมการใช้งาน โดรนให้กับพนักงาน รวมทั้งหลักสูตรสำหรับเกษตรกรเอง ซึ่งกว่าจะทำทั้งหมดนี้ได้ก็ยาก แต่เพราะได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรทั้งภาคการศึกษาและองค์กรภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้เรามีศักยภาพเพียงพอที่จะฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคนิคและด้านกฎหมายเกี่ยวกับการบินโดรนควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ เรามีพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศให้การสนับสนุนเรื่องการจัดหาชิ้นส่วนสำหรับประกอบโดรน ชิ้นส่วนที่ใช้เปลืองที่สุดของโดรน คือ ใบพัด ซึ่งชำรุดเสียหายง่ายและบ่อยที่สุด บริษัทจึงชักชวนบริษัทที่ผลิตใบพัดมาเป็นหุ้นส่วนกับเรา ทำให้เราสามารถจัดตั้งโรงงานประกอบโดรนของตนเองได้ในที่สุด
คุณวิภารัตน์เล่าว่า ในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการมีพันธมิตรที่ดี โดยเฉพาะในต่างประเทศ โดยบริษัทจะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการประเทศละ 1 รายเท่านั้น และขณะนี้บริษัทได้ทยอยส่ง NAcDrone ไปยังอินโดนีเซียให้บริษัท Mark Plus เป็นผู้จำหน่ายเพียงรายเดียวและขณะนี้ก็เริ่มมีการส่งออกไปจำหน่ายในอินโดนีเซียแล้ว ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว และกัมพูชา ใช้ตัวแทนจำหน่ายจากไทยบ้าง
สำหรับแผนการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เราหารือกับพันธมิตรเพื่อพูดคุยตกลงแนวทางการเป็นตัวแทนจำหน่าย ด้วยข้อดีของโดรนสัญชาติไทยที่สามารถส่งออกได้ทุกประเทศ จึงวางแนวทางส่งออกไปยังประเทศเกษตรกรรมอันดับต้นของโลก อาทิ อินเดีย และบราซิล ซึ่งได้เริ่มเสนอราคาให้ลูกค้าในบราซิลแล้ว 200 ลำ และในอนาคตบริษัทจะขยายแผนการใช้งานโดรนกับพืชไร่ เช่น อ้อยข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือการใช้งานในสวน เช่น สวนทุเรียน เรามีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์และพัฒนาโดรนรุ่นใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ขยายผลไปสู่การวิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืชต่าง ๆ รวมถึงวิเคราะห์โรคพืชได้ในระหว่างการบินโดรน อีกทั้งจะขยายโดรนไปยังธุรกิจการขนส่งอีกด้วย
ต้องบอกว่า NAcDrone มีจังหวะ มีโอกาส มีผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่ถ้าไม่มีเงินทุน ธุรกิจก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้ EXIM BANK ได้เข้ามาสนับสนุนเราในเรื่องของการส่งออก ซึ่ง EXIM BANK มีการเข้าหาลูกค้าที่ไม่เหมือนธนาคารอื่น ๆ คือมีความเป็น Partners ที่คอยให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับใช้ในการส่งออก
สิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ คือ ต้องมีความรู้ก่อน ถ้าไม่รู้ ต้องเรียนให้รู้ ต้องรู้ลึก รู้จริง เพียงแค่รู้อาจไม่พอ จะต้องอยู่ในทิศทางและที่ทางที่ถูกต้องด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ทีมงาน ต้องสร้างทีมงานที่มีความสุขกับงานและพร้อมเดินไปด้วยกัน หากเรามีทั้งความรู้ อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง และมีทีมงานที่ดี เราจะเดินทางไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จได้แน่นอน
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2566