?ตะวันออกกลาง? เปรียบเสมือน ?Oasis ใหม่? ของตลาดการค้าโลกที่ชะลอตัวในเวลานี้ เพราะไม่เพียงเศรษฐกิจจะยังไปต่อได้ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจของตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2571) จะขยายตัวเฉลี่ย 3.4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าโลกที่ 3.1% แต่ยังเป็นภูมิภาคที่มีกำลังซื้อและความต้องการนำเข้าสินค้าสูงมากจากข้อจำกัดของการผลิตในประเทศ ?ส่องเทรนด์โลก? ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอเจาะไปที่เทรนด์น่าสนใจของผู้บริโภคชาวซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 2 อันดับแรกของโลกอาหรับ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่กำลังบุกตลาดนี้ใช้เป็นข้อมูลวางแผนการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดนใจตลาด
สายช้อปออนไลน์ : ซาอุดีอาระเบียและ UAE มีสัดส่วนประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดเป็นลำดับ 3 และ 4 ของโลกด้วยสัดส่วนราว 99% โดย UAE มีสัดส่วนผู้ที่ซื้อสินค้าออนไลน์ทุกสัปดาห์มากถึง 62% สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก การเข้าไปทำตลาดนี้จึงควรใช้ช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วยเสมอ นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มวิธีการใหม่ ๆ ในการสนับสนุนการซื้อสินค้าทางออนไลน์จะช่วยให้สินค้าได้รับความสนใจมากขึ้น อาทิ เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ผสานภาพเสมือนของสินค้าเข้ากับภาพจริง ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมองเห็นสินค้าบนร่างกายได้ในทันทีเสมือนได้ทดลองสินค้าจริง ซึ่ง Deloitte พบว่าการที่ผู้บริโภคในซาอุดีอาระเบียสามารถลองสินค้าผ่าน AR จะทำให้ผู้บริโภคพิจารณาซื้อสินค้ามากขึ้น 34%
สายกรีน : ภูมิภาคตะวันออกกลางมีบทบาทโดดเด่นในการปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะภาครัฐจริงจังในการดำเนินนโยบายเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นสีเขียว อาทิ โครงการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น ทั่วซาอุดีอาระเบีย เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ Emirates Airline ที่มุ่งพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) และประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินโดยใช้ SAF 100% ไปเมื่อต้นปี 2566 ตลอดจนผู้บริโภคในตลาดนี้ก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ซึ่ง PwC รายงานว่ากว่า 82% ของผู้บริโภคใน UAE ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่สัดส่วนผู้บริโภคในซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ 74% ทั้งนี้ การมุ่งสู่สายกรีนในทุกระดับของตลาดนี้ล้วนเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นไม้ เครื่องสำอาง และอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของพืชที่มาจากการรุกล้ำป่า รวมถึงบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2566