ธนาคารถือเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฐานะตัวกลางทางการเงินที่เปรียบเสมือนแหล่งต้นน้ำในการจัดสรรเงินทุนจากผู้ที่มีเงินทุนเหลือไปยังผู้ที่ต้องการเงินทุน เพื่อนำไปประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ โดยปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกมีแนวทางในการดำเนินงานหรือธุรกิจที่ไม่ได้หวังเพียงผลกำไรในรูปตัวเงินเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย สังเกตได้จากข้อมูลของ Climate Action Tracker พบว่า กว่า 140 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ได้ประกาศหรือกำลังพิจารณากำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารกำลังกลายเป็นภาคส่วนที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ โดยปัจจุบันนอกจากภาคธนาคารของไทยจะเริ่มดำเนินการตามแนวทาง Thailand Taxonomy ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อใช้เป็นมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกันบ้างแล้ว ภาคธนาคารยังสามารถเข้ามาเป็น Key Player ในการผลักดัน ?ตลาดคาร์บอนเครดิต? ให้กลายมาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้เร็วขึ้น ล่าสุดแม้ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ขยายตัวเฉลี่ยถึงกว่า 200% ต่อปี (ปี 2559-2565) แต่หากพิจารณาในแง่ขนาด ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยยังถือว่ามีขนาดค่อนข้างเล็ก สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายที่คิดเป็นเพียงไม่ถึง 0.5% ของก๊าซเรือนกระจกที่ไทยปล่อยออกมาทั้งหมด เทียบกับตลาดยุโรปที่ครอบคลุมถึง 36% ปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาคธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินสามารถเข้ามาเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะเติมเต็ม Ecosystem ของตลาดคาร์บอนเครดิตผ่านบทบาท ?4C? ดังนี้
1. Create?สร้างอุปทานคาร์บอนเครดิตผ่านเครื่องมือทางการเงินทั้งทางตรงและทางอ้อม กระตุ้นให้หน่วยงานหรือภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากกว่าเป้าหมาย เพื่อนำส่วนเกินดังกล่าวมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต และนำมาขายต่อในตลาดได้มากขึ้น ผ่านกลไกต่อไปนี้
การให้สินเชื่อ (Financing) : การจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตามเกณฑ์ของ The Greenhouse Gas Protocol (Scope 1-3) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานหรือธุรกิจสามารถนำเงินทุนดังกล่าวมาปรับปรุงกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ ตลอดจนพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากขึ้น และนำส่วนเกินไปลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตเพื่อแปลงเป็นสินค้าสำหรับซื้อขายในตลาด นอกจากนี้ ธนาคารยังอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวรูปแบบใหม่ ๆ ตลอดจนกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษหรือเกณฑ์ที่ผ่อนคลายให้กับธุรกิจที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะนำเงินไปลงทุนในโครงการที่ก่อให้เกิดอุปทานคาร์บอนเครดิตมากขึ้น
การระดมทุน (Funding) : การที่ภาคธนาคารพัฒนาวิธีการหรือแหล่งระดมทุนใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) หรือการจัดตั้งกองทุนรวมสีเขียว (Green Equity Funds) เพื่อระดมเงินทุนไปปล่อยกู้หรือลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เท่ากับว่ากระบวนดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งเงินทุนที่จะถูกจัดสรรไปเพื่อเพิ่มอุปทานคาร์บอนเครดิตทางอ้อม ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ไทยมีการออก Green Bond มูลค่าถึง 41,219 ล้านบาท เทียบกับมูลค่า 28,706 ล้านบาทในปี 2564
การรับหลักประกัน (Collateral) : นอกจากธนาคารจะพิจารณาหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจากแผนธุรกิจ ตัวเลขทางบัญชีและการเงิน รวมถึงหลักประกันในรูปสินทรัพย์แบบเดิม ๆ แล้ว ธนาคารอาจต้องเริ่มศึกษาแนวทางการให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) อย่างคาร์บอนเครดิตมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อมากขึ้น เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันอุปทานคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพและมีเงินทุนเพียงพอเป็นหลัก เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง อาทิ การลงทุนด้านเทคโนโลยี การตรวจมาตรฐาน การขึ้นทะเบียนคาร์บอน หรือแม้แต่การปลูกป่าขนาดใหญ่ ทำให้หากภาคธนาคารเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นก็จะเป็นการช่วยกระจายโอกาสและเงินลงทุนไปยังผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ โดยเฉพาะ SMEs รวมถึงภาคครัวเรือนที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปทานคาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่ง
2. Catalyst?กระตุ้นอุปสงค์คาร์บอนเครดิต เกิดจากการที่ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมาย สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนเกินดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยจะตื่นตัวมากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ด้วยตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยยังเป็นตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) จึงทำให้อุปสงค์คาร์บอนเครดิตของไทยยังมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากหน่วยงานส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะปรับลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองก่อน แทนการซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาด อาทิ การรณรงค์ให้พนักงานใช้รถสาธารณะ การลดการใช้กระดาษ การปรับเวลาการทำงาน การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบัน เทคโนโลยีในการลดการปล่อยคาร์บอนที่มีราคาถูกลง ก็อาจเป็นอีกทางเลือกสำหรับภาคธุรกิจเพื่อลงทุนระยะยาว แทนที่จะเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดเป็นครั้งคราว
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้ธนาคารมีข้อมูลของธุรกิจที่สามารถสร้างอุปทานคาร์บอนเครดิตส่วนเกิน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อมูลของธุรกิจที่ยังไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเกณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารอาจเพิ่มบทบาทในฐานะที่ปรึกษา หรือเป็น Market Maker ในการจับคู่ระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาด ตลอดจนเป็นตัวกลางในการรวบรวมคาร์บอนเครดิตมาซื้อขาย หรือเป็นศูนย์กลางในการชำระราคา/ส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing House) ได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน ภาคธนาคารยังสามารถกระตุ้นอุปสงค์ทางอ้อมผ่านการลดการปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หรืออาจกำหนดเงื่อนไขให้อุตสาหกรรมดังกล่าวใช้คาร์บอนเครดิตมาเป็นหลักประกันดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อเพิ่มอุปสงค์คาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ล่าสุดการที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาคสมัครใจให้เป็นภาคบังคับ โดยคาดว่าอาจมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ ส่งผลให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต้องจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และรายงานต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล ตลอดจนจะมีการกำหนดโควตาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละภาคส่วนทางเศรษฐกิจ หากภาคส่วนใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควตาก็ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เกิด อุปสงค์คาร์บอนเครดิตมากขึ้น
3. Cooperation?เพื่อสร้าง Ecosystem ตลาดคาร์บอนเครดิตให้ครบวงจร โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านคาร์บอนเครดิต พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ Blockchain เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการซื้อขาย ช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคา และผลักดันให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างล่าสุดธนาคารระดับโลก 9 แห่ง (BBVA, BNP Paribas, CIBC, Ita? Unibanco, National Australia Bank, NatWest, Standard Chartered, SMBC, UBS) ก็ได้ร่วมกันลงทุน 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนระหว่างลูกค้าธนาคารด้วยกันแล้ว สำหรับประเทศไทยปัจจุบันก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มต่อเนื่อง อาทิ FTIX และ Thailand Carbon Credit Exchange Platform (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพัฒนาร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) รวมถึงแพลตฟอร์ม Gideon ของบริษัท Blockfint เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาคธนาคารอาจร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรค ลดต้นทุน และช่วยทำให้เกิด Fair Price ในธุรกิจคาร์บอนเครดิตมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการเข้าสู่ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังค่อนข้างสูง อาทิ ค่าขอขึ้นทะเบียน การประเมินคาร์บอน การขอรับรองปริมาณก๊าซฯ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ต้องร่วมกันพัฒนา มาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อขยายตลาดให้ผู้ประกอบการไทยสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและผลักดันให้ราคาคาร์บอนเครดิตของไทยเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดโลก และจะช่วยดึงดูดผู้เล่นรายใหม่ ๆ ให้เข้ามาสู่ตลาดได้มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตของไทยเฉลี่ยยังอยู่ต่ำกว่า 100 บาทต่อตันคาร์บอนฯ ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในตลาดยุโรปที่สูงกว่า 3,000 บาทต่อตันคาร์บอนฯ ค่อนข้างมาก
4. Close the gap?ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการปรับ Business Model ให้สอดคล้องกับกระแสธุรกิจสีเขียว ทั้งมาตรการทางการเงินและมิใช่การเงิน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลอดจนการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิต วิธีการซื้อขาย การเตรียมเอกสารและเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ โดยการถ่ายทอดข้อมูลข้างต้นต้องไม่จำกัดอยู่เพียงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้ง Supply Chain รวมถึงภาคครัวเรือนที่อาจสร้างรายได้อีกทางหนึ่งผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของไทยที่มีความแข็งแกร่งด้านทรัพยากรเป็นทุนเดิม โดยเกษตรกรไม่เพียงจะสามารถสร้างรายได้จากการขายหรือแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ภาคธนาคารยังอาจเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ด้านความเสี่ยงหรือความท้าทายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อาทิ ผู้ส่งออกสินค้าไปยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act : CCA) มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมในการปรับตัว และจูงใจให้เข้ามาใช้ตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยสรุป การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากลต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสร้างแรงจูงใจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้าง Ecosystem ของตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตผ่าน 4 บทบาทข้างต้นอย่างต่อเนื่อง และพร้อมยืนเคียงข้างผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวไปสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2566