ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคและกระแสโลกที่เปลี่ยนไป และยังมีความผันผวนอีกมากรออยู่ในระยะข้างหน้าจากปัญหา Geopolitics ปัญหาเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่แน่นอน ไปจนถึงวิกฤต Climate Change ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระทบการดำเนินชีวิตของประชากรโลก และนำมาสู่ความจำเป็นของธุรกิจในการปรับตัว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติด้านดิจิทัลและความยั่งยืนของไทย พบว่าการปรับตัวของไทยยังเป็นไปค่อนข้างช้า โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2565 ปรับลดลง 2 อันดับจากปี 2564 มาอยู่อันดับที่ 40 จากการจัดอันดับทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก และอันดับ Environmental Performance Index ของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ตกลงจากอันดับที่ 78 ในปี 2563 (ไม่มีการจัดอันดับในปี 2564) สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การ Transform ของบางธุรกิจไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด ทั้งนี้ รูปแบบของการ Transform ธุรกิจมีหลายมิติ ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้
โลกธุรกิจในปัจจุบันได้เข้าสู่ยุค Digital-First ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ โดยในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นการใช้ Digital Technology ในหลายองค์กร เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในธุรกิจ แต่ Digital Transform ยังคงสำคัญต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สะท้อนจากผลการตอบแบบสอบถามของสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย (JTECS) พบว่าบริษัทผู้ผลิตในไทยกว่า 2 ใน 3 ยังคงยอมรับว่ามีปัญหาในกระบวนการผลิต และมีถึง 90% ตอบว่าสนใจลงทุน Smart Factory
ปัจจุบันปัญหา Climate Change ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ การก่อให้เกิดปัญหาโลจิสติกส์ในการเดินเรือสินค้าในช่วงต้นปี 2566 เนื่องจากคลองปานามาประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เรือขนส่งผ่านคลองต้องลดปริมาณการค้าต่อเที่ยวลงเพื่อลดอัตรากินน้ำลึก ไปจนถึงผลผลิตการเกษตรของไทยที่คาดว่าจะตกต่ำ เนื่องจากขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมีต้นทุนของการบรรเทาปัญหาที่สูงมาก
สำหรับภาคเอกชน ความยั่งยืนกลายเป็นไฟต์บังคับสำหรับการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากล ดังจะเห็นได้จากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน* (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่จะเริ่ม Transitional Period ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ก่อนที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมในปี 2569 ดังนั้น การเปลี่ยนธุรกิจด้วย Sustainable Transformation จึงเป็นหนึ่งในทางรอดของธุรกิจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
*หมายเหตุ : เบื้องต้นบังคับใช้กับสินค้าในกลุ่มเหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน
ความโดดเด่นแตกต่างจากเดิมและการสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า/บริการ ท่ามกลางสินค้า/บริการในตลาดจำนวนมหาศาล รวมทั้งในปัจจุบันรสนิยมผู้บริโภคมีความหลากหลาย และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแบรนด์สินค้าบ่อยครั้ง ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Meta and Bain & Company พบว่าผู้บริโภคยุคปัจจุบันเต็มใจที่จะทดลองแบรนด์สินค้าใหม่ โดย 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าในปี 2565 ได้เปลี่ยนใจซื้อสินค้าแบรนด์อื่น เทียบกับ 51% ในปี 2564 ทั้งนี้ การที่จะพัฒนาสินค้า/บริการให้มีความโดดเด่น ต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างให้องค์กรมีวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อาทิ การมีพื้นที่เปิดรับความคิดใหม่ ๆ ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้มีการทดลองสิ่งใหม่ในการทำงาน
ทั้งนี้ EXIM BANK เล็งเห็นถึงความสำคัญของการ Transform โดยที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่าง Transformation Loan ซึ่งสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับกิจการด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และปัจจุบัน EXIM BANK อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อเตรียมออกในเฟสถัดไป นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุน Sustainable Transformation ด้วยผลิตภัณฑ์ EXIM Green Start, EXIM Solar Orchestra และ EXIM Solar D-Carbon Financing ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันและยกระดับภาคธุรกิจของไทยให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางความผันผวน และสอดรับกับบทบาทของ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาของไทยในปัจจุบัน
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2566