CEO Talk: เอวีญา แชมพูสมุนไพรไทย มัดใจผู้ใช้ชาวกัมพูชา

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 3, 2023 14:16 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ประเทศไทยใช้พืชสมุนไพรเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และยารักษาโรคมาแต่โบราณ ปัจจุบันสมุนไพรไทยได้เพิ่มบทบาทสู่การแพทย์ทางเลือกซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งกระแสรักสุขภาพทำให้สมุนไพรไทยได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก คุณรัตนา พอล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิมยาง แอนด์ นา จำกัด ชาวกัมพูชาที่ทำธุรกิจในประเทศไทยได้เล็งเห็นสรรพคุณของสมุนไพรไทย จึงนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ทั้งสบู่ แชมพู และครีมนวดผม จนลูกค้าบอกกันปากต่อปากถึงคุณภาพที่สามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและ สปป.ลาว

เริ่มต้นด้วยความบังเอิญจากร้ายกลายเป็นดี

คุณรัตนา เล่าว่า เข้ามาทำธุรกิจนี้ด้วยความบังเอิญ ก่อนหน้านี้ยึดอาชีพขายเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้า มีทั้งขายหน้าร้านและไลฟ์สดขายทางโซเชียลมีเดีย แต่เมื่อ 2 ปีก่อนได้เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ห้างร้านปิดตัวชั่วคราว ในช่วงนั้นทำได้แค่ไลฟ์สดขายเสื้อผ้า ซึ่งรายได้ไม่พอสำหรับครอบครัว จึงคิดหาอาชีพเสริม วันหนึ่งได้เห็นการประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิพระดาบส ฝึกสอนอาชีพให้กับแม่บ้าน คนว่างงาน หรือคนทั่วไป จึงสนใจไปสมัครเรียนการทำแชมพูและสบู่ เมื่อเรียนจบแล้วก็ลองมาทำดูที่บ้าน ทำผลิตภัณฑ์ใช้เองและแจกเพื่อนบ้าน จากนั้นเริ่มทดลองพัฒนาสูตรด้วยการนำสมุนไพรไทยหลากหลายชนิดมาใส่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ แจกให้เพื่อนบ้านและคนรู้จักทดลองใช้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีคนขอซื้อผลิตภัณฑ์ จึงเริ่มผลิตเพื่อจำหน่าย โดยมีสินค้าตัวแรกเป็นแชมพูและครีมนวดผมภายใต้แบรนด์ ?เอวีญา (Aviya)? ต่อมาได้ขยายการผลิตสบู่สมุนไพรเพิ่มในชื่อ Aviya เช่นกัน

?เราอยากให้คนทั่วไปรู้จักสินค้ามากขึ้น จึงไลฟ์ขายสินค้าในสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ซึ่งใช้ช่องทางนี้ทำการตลาดทั้งแนะนำสินค้าและรีวิวผลิตภัณฑ์ ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนวันหนึ่งมีลูกค้าได้นำเอาสบู่ Aviya ไปรีวิวต่อว่าเป็นสบู่สมุนไพรธรรมชาติ เขาขายได้ จึงมียอดสั่งซื้อ 10 ชุด และสั่งต่อเนื่องจนถึง 1,000 ชุด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นว่าจำเป็นต้องขยายกิจการ จากเดิมใช้บ้านเป็นโรงงานเล็ก ๆ ต้องทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน จึงได้ลงทุนสร้างโรงงานขึ้นที่จังหวัดชลบุรี? คุณรัตนา กล่าว

คุณภาพสินค้าเป็นจุดแข็งที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ

คุณรัตนา กล่าวว่า ความยากของการทำผลิตภัณฑ์ คือ ต้องเน้นที่คุณภาพและรักษามาตรฐานสินค้าให้ดี ต้องระมัดระวังทุกเรื่อง แชมพูที่ผลิตจะต้องพัฒนาสูตรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เลือกใช้สมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมี และมีคุณสมบัติที่หลากหลายเป็นวัตถุดิบ เช่น ดอกอัญชัน มะกรูด ขิง กระชาย บอระเพ็ด มะคำดีควาย ส่วนผสมสำคัญ คือ ใบหมี่ ที่มีสรรพคุณช่วยล็อกเส้นผมให้ตรงสวย โดยรับซื้อมาจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรออร์แกนิก มั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษ

?เมื่อสินค้าของเราคุณภาพดีเขาก็จะขายได้ด้วยตัวเอง ที่บอกว่าต้องควบคุมคุณภาพการผลิตเพราะเคยซื้อสมุนไพรตามท้องตลาด มาใช้แล้วพบว่ามียาฆ่าแมลงปนเปื้อน เมื่อนำไปต้ม สารเคมีจะเจือปนออกมา นำไปผสมเป็นเครื่องสำอางไม่ได้ ต้องทิ้งไปเลย หรือแม้กระทั่งปริมาณของสารกันเสียที่ผสมในแชมพูก็ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อลูกค้า ถือเป็นความยาก และประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้และปรับปรุงคุณภาพการผลิตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูกค้า ซึ่งตอนนั้นก็ท้อ แต่ไม่หยุด ยังคงปรับปรุงและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด? คุณรัตนา กล่าว

สบู่สมุนไพรที่ได้รับความนิยมสูงจากลูกค้าชาวกัมพูชาใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่คัดสรรคุณภาพมาผสมกับสมุนไพรไทย ทำให้เนื้อสบู่นวล เนียน มีกลิ่นหอม สามารถใช้ล้างหน้าได้ ในขณะที่สบู่บางแบรนด์ใช้ได้แค่ถูตัวเนื่องจากใช้ไขมันปาล์มสกัดจากน้ำมันใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ

ใช้โซเชียลมีเดียบุกตลาดส่งออก CLMV

ปัจจุบันลูกค้าหลักของ Aviya เป็นคนไทยและคนกัมพูชาทั้งที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยและในกัมพูชา คุณรัตนา บอกว่า ขณะนี้มีคนกัมพูชาทำงานอยู่ในประเทศไทยร่วม 1 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้สื่อสารกันง่าย เขาเชื่อมั่นและสนับสนุนคนกัมพูชาด้วยกัน บริษัทเน้นขายตลาดล่างเพราะสินค้ามีคุณภาพและราคาไม่สูง ส่วนที่จำหน่ายในตลาดกัมพูชาและ สปป.ลาว ก็จ้าง Influencers ที่มีชื่อเสียงในกัมพูชารีวิวสินค้า ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคนกัมพูชานิยมสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยเพราะได้ชื่อว่าเป็นสินค้าคุณภาพ เนื่องจากในกัมพูชามีสินค้าปลอมเยอะ แพ็กเกจภายนอกเหมือนกันแต่ข้างในเป็นสินค้าปลอม

คุณรัตนามีความตั้งใจอยากขยายการส่งออกไปยังตลาดดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อ มีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายโรงงานผลิตเข้าไปในกัมพูชา หากการส่งออกเป็นไปตามแผนที่วางไว้

?ที่บ้านมีพื้นที่กว้างใหญ่สามารถที่จะปลูกสมุนไพรเป็นวัตถุดิบใช้เองในโรงงานได้ มีสินค้าหลายอย่างที่เราต่อยอดไปได้ ตอนนี้ขยายไปประเทศเพื่อนบ้านแถบ สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชาก่อน? คุณรัตนา กล่าว

EXIM BANK ผู้ช่วยผู้ส่งออก

เมื่อมีความคิดว่าถึงเวลาที่ต้องขยายกำลังการผลิตจากภายในครัวเรือนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม จึงปรึกษาเพื่อนที่รู้จักกันว่าจะหาแหล่งเงินทุนจากไหน เพื่อนก็แนะนำให้ปรึกษา EXIM BANK ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ และนำเสนอแพ็กเกจทางการเงินเพื่อขยายกิจการ

ฝากถึงผู้ประกอบการคนตัวเล็ก

ในการเริ่มต้นธุรกิจ จะต้องตั้งใจ มั่งมั่น และกล้าที่จะทำ ไม่ว่าจะทำผิดหรือถูก ถือเป็นประสบการณ์ ถ้ามันล้มเหลวตรงไหนก็ปรับปรุงตรงนั้น เริ่มต้นใหม่ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดทิ้ง แล้วก็เดินหน้าต่อ กว่าที่ Aviya จะเดินทางมาถึงจุดนี้ ก็ต้องลองผิดลองถูกมานาน ผลจากความเพียรพยายามและอดทนทำให้เราประสบความสำเร็จในวันนี้

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ