เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ไม่ทันไรก็เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2566 กันแล้ว ดูเหมือนปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้ส่งออกไทย แม้ล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 จะออกมา Surprise ตลาดอยู่บ้าง โดยสามารถกลับมาขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ 2.6% แต่หากดูการส่งออกภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกก็ยังหดตัว 4.5% ทำให้หลายฝ่ายคาดว่ามีโอกาสสูงที่การส่งออกทั้งปีจะหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี หรือดีที่สุดก็แค่เสมอตัว อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าไม่ใช่ทุกตลาดส่งออกของไทยที่หดตัวเหมือนกันทั้งหมด ยังมีอีกหลายตลาดที่มูลค่าส่งออกสามารถขยายตัวได้สวนทางกับการส่งออกรวม อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ตลาดส่งออกที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แต่เป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ หรืออาจเรียกได้ว่า 3 ตลาดพระรอง ดังนี้
- ยุโรปตะวันออก ภูมิภาคนี้ไม่เพียงมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม แต่ยังมีความน่าสนใจในเชิงเศรษฐกิจอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น GDP ของประเทศส่วนใหญ่ที่โตเฉลี่ยเกิน 3% ในอีก 5 ปีข้างหน้า อาทิ โปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย เป็นต้น มากกว่าสหภาพยุโรป (EU) ที่โตเพียง 1.5% โดยจุดเด่นของประเทศเหล่านี้คือการวาง Position ตัวเองเป็น Factory of Europe จากค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยต่อเดือนที่ไม่เกิน $1,500 ต่ำกว่า EU ที่ $2,450 ประกอบกับบางประเทศก็มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำเพียง 10% อาทิ ฮังการี บัลแกเรีย มาซิโดเนีย ทำให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดหลายบริษัทในยุโรปตะวันตกและภูมิภาคอื่น ๆ ให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลัง BREXIT และ COVID-19 เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี และบรรเทาผลกระทบจาก Supply Chain Disruption สังเกตได้จาก FDI Inflow ที่ไหลเข้ายุโรปตะวันออกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโตกว่า 10% ต่อปี สูงกว่า FDI โลกที่โตเพียง 1%
- อเมริกากลาง เรียกได้ว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงมีพื้นที่ใกล้กัน แต่เศรษฐกิจหลายประเทศยังเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาสหรัฐฯ ในฐานะตลาดส่งออกอันดับ 1 อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของรายได้ส่งกลับของประชากรในประเทศเหล่านี้ ทำให้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดี เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ก็จะดีตามไปด้วย ล่าสุด IMF ก็ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2566 จาก 1.8% เป็น 2.1% ขณะที่ตลาดแรงงานและภาคบริการยังขยายตัวดี ทำให้ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ Recession ในระยะอันใกล้นี้แทบไม่มี นอกจากนี้ อเมริกากลางยังเป็นฐานการผลิตของสหรัฐฯ ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสิ่งทอและยานยนต์ โดยได้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกันทั้ง USMCA (สหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา) และ CAFTA-DR (6 ประเทศอเมริกากลางกับสหรัฐฯ) เพื่อผลิตและส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ล่าสุด Tesla ก็กำลังสร้าง Gigafactory นอกสหรัฐฯ แห่งที่ 3 ในเม็กซิโก ไม่เพียงเท่านี้ ประเทศอเมริกากลางอื่น ๆ อาทิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลกทั้งอ้อย กล้วย กาแฟ โกโก้ ก็ยังได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า Double Digits
- เอเชียกลาง ประกอบด้วย 5 ประเทศที่เพิ่งแยกตัวจากสหภาพโซเวียตในปี 2534 ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชื่อของคาซัคสถานก็ปรากฏในหลายสื่อสำคัญ หลังเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศร่วมกับจีนที่ไทยอนุมัติ Free Visa ให้ และเมื่อค้นข้อมูลเพิ่มเติม ก็ยิ่งพบว่าประเทศเหล่านี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งเศรษฐกิจประเทศส่วนใหญ่ที่โตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี และมีถึง 2 ประเทศ คือ คาซัคสถานและเติร์กเมนิสถานที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงไล่เลี่ยกับรัสเซีย และกำลังจะก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง (>$13,205 ต่อปี) ในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า โดยจุดแข็งของประเทศกลุ่มนี้ที่สังเกตเห็นคือ การเป็น Energy Supplier เบอร์ต้น ๆ ของโลก ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและแร่สำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะยูเรเนียมที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีความได้เปรียบจาก Strategic Location ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเอเชียกับยุโรป ทำให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโครงการ Belt and Road Initiative ของจีนที่จะมีการสร้างทางรถไฟเชื่อม 2 ทวีป ซึ่งจะช่วยเพิ่มเสน่ห์และหนุนเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ในระยะถัดไป
มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจเกิดคำถามขึ้นว่าจาก Character ของทั้ง 3 ตลาดดังกล่าว จะมีส่วนช่วยหนุนการส่งออกสินค้าของไทยอย่างไร ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่ายุโรปตะวันออกและอเมริกากลางมีจุดเด่นร่วมกันคือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ภูมิภาคดังกล่าวยังมีความต้องการสินค้าขั้นกลางเพิ่มเติม เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน ทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องจักรต่าง ๆ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้านำเข้าติด Top 10 ของประเทศกลุ่มนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ของทั้ง 3 ตลาดข้างต้นที่ยังขยายตัวดี ยังช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้า Final Goods ของไทยหลายชนิด อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋อง รองเท้า ตลอดจนสินค้า Soft Power ที่จะได้อานิสงส์ หลังการเปิดตลาดนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากเอเชียกลาง อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว อัญมณี เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบัน 3 ตลาดพระรองข้างต้น จะมีสัดส่วนรวมกันเพียง 2.7% ของการส่งออกรวม แต่ด้วย Potential ทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้ามตลาดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมการป้องกันความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย เพราะบางประเทศในตลาดพระรองยังเผชิญปัญหาอยู่บ้าง อาทิ หนี้ระดับสูง เงินเฟ้อสูง และสกุลเงินอ่อนค่า
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2566