ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สังเกตได้จากการที่นานาประเทศต่างพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศตนเองให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือปี พ.ศ. 2593 ผ่านมาตรการและแนวนโยบายต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมัน การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง การกำหนดให้แสดงปริมาณการใช้น้ำหรือการปล่อยคาร์บอนของสินค้าบนฉลาก ซึ่งเป็นการกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศเหล่านั้นต้องเร่งปรับตัว ขณะเดียวกันรัฐบาลแต่ละประเทศก็มีแนวโน้มจะใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ของประเทศ และเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศไม่ให้เสียเปรียบผู้ผลิตจากต่างประเทศที่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดน้อยกว่า
"ส่องเทรนด์โลก" ฉบับนี้จึงรวบรวมมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2566 และที่อยู่ระหว่างกระบวนการออกกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เร่งปรับตัวให้เข้ากับมาตรการที่จะมีผลบังคับใช้ ดังนี้
ภาษีคาร์บอน...ความจริงที่ยากจะหลบเลี่ยง
- มาตรการ CBAM ของ EU?คลื่นลูกแรกที่กระทบฝั่ง
EU เป็นคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มแรกที่เริ่มใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าบางรายการผ่านมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ก่อนจะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบและเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 ซึ่งจากสถิติในปี 2565 ไทยส่งสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ CBAM ไป EU ถึง 16,716 ล้านบาท
สาระสำคัญของมาตรการ : ผู้นำเข้าสินค้ามา EU ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยคาร์บอนและจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย หักด้วยราคาคาร์บอนที่ชำระในประเทศผู้ผลิตแล้ว หรือหักด้วยปริมาณการปล่อยคาร์บอนตามสัดส่วนที่ EU กำหนด ผ่านการซื้อใบรับรอง CBAM ทั้งนี้ หากผู้นำเข้าไม่ได้ส่งมอบใบรับรอง CBAM ให้ครบถ้วนตามกำหนดจะมีโทษปรับ 100 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการ : ในช่วงเปลี่ยนผ่าน EU ยังไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้า แต่ผู้ส่งออกไทยต้องจัดเตรียมเอกสารปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Embedded Emissions) ทั้งทางตรง (Direct) และทางอ้อม (Indirect) ของสินค้านั้น และเอกสารอื่น ๆ ตามที่ผู้นำเข้าขอมา เพื่อให้ผู้นำเข้านำไปแสดง และเมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้ส่งออกต้องมีรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Embedded Emissions) ของสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาตจาก EU เพื่อให้ผู้นำเข้านำไปแสดงทุกไตรมาสและจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจะต้องพยายามปรับกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
- กฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ของสหรัฐฯ?คลื่นอีกระลอกที่กำลังจะซัดเข้ามา
แม้ปัจจุบันกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ของสหรัฐฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะอยู่ระหว่างกระบวนการผ่านร่างกฎหมาย แต่เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะเริ่มเก็บภาษีในปี 2567 ทันที ซึ่งเร็วกว่ามาตรการ CBAM ของ EU ที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 อีกทั้งในปี 2565 ผู้ส่งออกไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าภายใต้ CCA ไปสหรัฐฯ สูงถึง 89,619 ล้านบาท ผู้ส่งออกจึงไม่ควรนิ่งนอนใจที่ร่างกฎหมาย CCA ยังไม่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน
สาระสำคัญของมาตรการ : สินค้าทั้งที่ผลิตในสหรัฐฯ และสินค้าที่นำเข้าจะต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอน ทั้งทางตรงจากกระบวนการผลิตและทางอ้อมจากการใช้พลังงานของสินค้า เพื่อนำไปเทียบกับค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ หากสินค้าของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารายใดปล่อยคาร์บอนสูงกว่าค่าเฉลี่ยจะต้องจ่ายภาษีตามปริมาณที่ปล่อยเกินตั้งแต่ปี 2567 และในปี 2569 สหรัฐฯ จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้สินค้าภายใต้ CCA เป็นวัตถุดิบตั้งแต่ 500 ปอนด์ (ราว 226.8 กิโลกรัม) ขึ้นไป ก่อนจะลดลงเหลือ 100 ปอนด์ (ราว 45.4 กิโลกรัม) ในปี 2571
นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะค่อย ๆ ลดเพดานการปล่อยคาร์บอนลงปีละ 2.5% ระหว่างปี 2568-2571 และลดลงปีละ 5% ตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป รวมทั้งเพิ่มอัตราภาษีที่เรียกเก็บขึ้นทุกปี จากอัตราเบื้องต้นที่เรียกเก็บ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนในปี 2567 หลังจากนั้นจะปรับขึ้นปีละเท่ากับ (อัตราเงินเฟ้อ+5)% จึงเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าต้องพยายามลดการปล่อยคาร์บอนลงเพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย
สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการ : รวบรวมข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่ผลิต (เช่นเดียวกับ CBAM ของ EU) เพื่อให้ผู้นำเข้านำไปรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ส่งออกต้องพยายามปรับกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้
มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
- EUDR...การไม่ตัดไม้ทำลายป่ายังคงเป็นประเด็นสำคัญ
นอกจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนโดยตรงอย่างการเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว ยังมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อีก โดยมาตรการล่าสุดของ EU ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อกลางปี 2566 คือ กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Products Regulation : EUDR) ที่มีจุดประสงค์เพื่อห้ามการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาด EU เนื่องจากป่าไม้เป็นระบบนิเวศสำคัญที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลักในชั้นบรรยากาศ การตัดไม้ทำลายป่าจึงสร้างผลกระทบอย่างมากต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
สาระสำคัญของมาตรการ : ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้ามายัง EU ต้องตรวจสอบและรายงานการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยจัดทำเอกสาร Due Diligence ก่อนจำหน่ายสินค้า หากผู้นำเข้าละเมิด EUDR อาจมีบทลงโทษ เช่น ถูกเรียกเก็บค่าปรับ หรือถูกยึดสินค้า
ทั้งนี้ EU จะจัดกลุ่มประเทศต่าง ๆ เป็น 3 กลุ่มตามระดับความเสี่ยงในการทำลายป่า ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงต่ำ กลุ่มมาตรฐาน (เสี่ยงปานกลาง) และกลุ่มเสี่ยงสูง ภายใน 18 เดือนหลังจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ (30 ธันวาคม 2567) เพื่อกำหนดสัดส่วนการตรวจสอบสินค้านำเข้า เช่น กลุ่มเสี่ยงสูง EU จะตรวจสอบสินค้า 9% ของสินค้าทั้งหมด กลุ่มมาตรฐาน 3% และกลุ่มเสี่ยงต่ำ 1%
สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการ : ในช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งผู้นำเข้าใน EU และผู้ส่งออกไทยยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติมจากการส่งออกปกติ แต่เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้ว ผู้ประกอบการไทยต้องรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารเพื่อยืนยันว่าสินค้าที่ส่งออกไป EU ไม่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อประกอบการจัดทำ Due Diligence ของผู้นำเข้าสินค้าตามที่ EU กำหนด เช่น การระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) ของที่ดินทุกแปลงที่ใช้เพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว การแสดงหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบได้ว่าสินค้านั้นปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับที่ดิน รวมถึงหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบว่าสินค้านั้นผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เอกสารสิทธิ์ที่ดิน
นอกเหนือจาก 3 มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ประเทศต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมแง่มุมหรือประเภทสินค้าที่แตกต่างกัน ดังเช่นที่ EU อยู่ระหว่างเสนอร่างยุทธศาสตร์เพื่อสิ่งทอที่ยั่งยืนและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ (EU Strategy for Sustainable and Circular Textiles) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งกระแส Fast Fashion ที่กำลังทำให้เสื้อผ้ากลายเป็นสินค้าใช้แล้วทิ้ง (เสื้อผ้าที่ถูกทิ้งใน EU มีปริมาณมากถึงปีละ 5 ล้านตัน) พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งทอเป็นภาคส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดเป็นอันดับ 4 และใช้น้ำมากเป็นอันดับ 3 ของ EU โดยในร่างดังกล่าวจะกำหนดมาตรฐานความทนทาน การนำกลับมาใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การรีไซเคิล เช่น บริการรับสินค้าคืน-การขายมือสอง และปริมาณเส้นใยรีไซเคิลในสินค้า การพิมพ์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบนสินค้า เช่น คะแนนความง่ายในการซ่อมแซม รวมถึงการห้ามผู้ผลิตทำลายสินค้าค้างสต็อกหรือต้องรายงานว่าทำลายไปมากน้อยเท่าใด รวมทั้งยังจะเพิ่มความเข้มงวดด้านผลกระทบของการผลิตต่อสิทธิมนุษยชนอย่างการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เช่น แรงงานเด็ก อีกด้วย ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ใน Supply Chain การผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ที่มีการส่งออกไปยัง EU จึงควรติดตามความคืบหน้าของร่างดังกล่าว และเตรียมปรับตัวให้สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าว เพื่อรักษาสถานะการเป็น Supplier ไว้ให้มั่นคง
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2566