หนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่า คือ การนำเอาพืชสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาโรค แปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หากนำมาต่อยอดส่งเสริมการใช้ประโยชน์สมุนไพรให้แพร่หลายสู่ระดับนานาชาติได้อย่างมีคุณภาพจะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชสมุนไพร พื้นบ้านไทย เหมือนดังที่ คุณศุภชัย ชัยวัฒนเมธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาเขียว จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรชง ภายใต้แบรนด์ ?เรนอง? ได้ริเริ่มนำเอาใบหม่อนมาผสมกับชาเขียวเป็นเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ ?ชาเขียวใบหม่อน? รายแรกของประเทศไทย นำออกขายจนได้รับความนิยมทั้งในไทยและส่งออกมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก คุณศุภชัย จะมาบอกเล่าเรื่องราวธุรกิจที่สามารถผลักดันสมุนไพรไทยให้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลก
คุณศุภชัยเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า ในปี 2527 คุณแม่ของคุณศุภชัยซึ่งเป็นเภสัชกรที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรไทยและยาแผนไทยเป็นอย่างดี ได้นำเอาสมุนไพรมาแปรรูปเป็นยาและเครื่องดื่ม โดยเริ่มผลิตชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณเพื่อระบาย ต่อมาค้นพบว่าใบหม่อนซึ่งเป็นพืชที่ปลูกกันทั่วไปในเอเชีย มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น ประเทศญี่ปุ่นได้นำใบหม่อนมาสกัดเป็นยาลดค่าน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จึงเริ่มคิดค้นสูตรเครื่องดื่มสำหรับคนรักสุขภาพ โดยนำเอาใบหม่อนมาผสมกับชาเขียวเป็นรายแรกของไทย เมื่อได้พบกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านชาเขียว จึงร่วมมือกันก่อตั้งแบรนด์ ?เรนองที? ขึ้น เพื่อสร้างตลาดชาเขียวใบหม่อนให้เป็นที่นิยมในประเทศไทย
?เมื่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาแล้ว ธุรกิจกลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ ทำให้ผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่นถอนตัวออกไป แต่ไม่ทำให้คุณแม่ล้มเลิกความตั้งใจ เพราะเป้าหมายคือผลักดันให้แบรนด์เรนองทีเป็นชาเขียวของคนไทยให้ได้? คุณศุภชัยกล่าว
คุณศุภชัย กล่าวว่า หลังจากที่คุณแม่ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์เรนองทีผ่านไป 4-5 ปี ตนเองซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ 2 ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจหลังจากเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยเข้ามาช่วยออกแบบ Business Model และ Packaging สร้างแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ โดยตัดสินใจ Rebranding เปลี่ยนชื่อ ?เรนองที? เป็น ?เรนอง? นำสมุนไพรไทยมาสร้างเครื่องดื่มที่มีอัตลักษณ์ให้มากกว่าแค่ชาเขียวใบหม่อน แตกไลน์ธุรกิจและขยายฐานลูกค้าให้กว้างกว่าเดิม รวมทั้งเปลี่ยนสโลแกนให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีอายุและความชอบที่แตกต่างกัน โดยคนรุ่น Gen Y และ Gen Z มีความเฉพาะตัวสูง จึงคิดสโลแกนของแบรนด์ใหม่เป็น Taste the way you are รสชาติในแบบที่เป็นคุณ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน? คุณศุภชัยกล่าว
คุณศุภชัยเล่าว่า เดิมบริษัทกำหนดจุดยืนเป็นผู้ผลิตสมุนไพรชงร้อน ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวใบหม่อน ชาเขียวร้อน ชามะลิ ชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของตะไคร้ อัญชัน กระเจี๊ยบ กระชายขาว ขิง และใบเตย น้ำขิง และชาไทย จนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ผู้คนให้ความสนใจกับการใช้ยาสมุนไพรป้องกันโรคไข้หวัดจึงเกิดผลิตภัณฑ์ Plant-based drink อาทิ น้ำกระชายขาวและน้ำขิง บริษัทจึงต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นชาเขียวพร้อมดื่ม Ready to Drink ที่มีส่วนผสมของกระชายขาวและขิงด้วย โดยปรับรูปแบบให้สามารถดื่มแบบเย็นได้และไม่รู้สึกเผ็ดร้อน เพื่อตอบโจทย์ความนิยมของผู้บริโภค
?ธุรกิจปรับตัวได้เรื่อย ๆ ตามยุคสมัยหรือตามเทรนด์เพื่อทำให้แบรนด์ไม่ตาย เราจึงพยายามทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของสมุนไพรและแทรกซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน? คุณศุภชัยกล่าว
?ใจเราต้อง Global ก่อน ต้องเปิดใจ กล้าที่จะเปิดรับความคิดเห็นใหม่ ๆ หากใจเราปิด คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ดีที่สุดแล้ว Concept Idea ของเราก็จะปิดด้วย และการเจรจากับต่างชาติเป็นเรื่องยาก ต้องสื่อสารโดยห้ามยัดเยียด ทำตัวให้เข้าถึงง่ายแล้วลูกค้าจะรักเรา ต้องพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องและสร้างความเชื่อใจให้กับลูกค้าโดยยึดหลักความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า? คุณศุภชัยกล่าว
คุณศุภชัยบอกว่า จุดแข็งของธุรกิจ คือ ?การปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์โลกปัจจุบัน ไม่หยุดพัฒนา และทำให้สินค้ามีอัตลักษณ์ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกวัย? จึงได้สร้างนโยบายองค์กรให้ถือเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ 3 ข้อ คือ
1. Inspiration ต้องสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจกับทุกคนในทีม ให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคน มองเห็นเป้าหมายและมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเติบโตไปด้วยกัน
2. Innovation ต้องเน้นพัฒนานวัตกรรม กล้าทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ คิดค้นรสชาติใหม่ ๆ ซึ่งผู้บริโภคแต่ละกลุ่มหรือแต่ละพื้นที่จะมีความชอบที่แตกต่างกัน เช่น ชาวอินโดนีเซียชอบหวานมาก ชาวจีนไม่ชอบหวาน รสชาติบางรสชาติอาจไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเราแต่เป็นสิ่งใหม่สำหรับคนอื่น
3. International ต้องนำพาแบรนด์ก้าวสู่สากล เพื่อสร้างโอกาสและจุดยืนในตลาดโลกที่มีผู้บริโภคในตลาดมากกว่าแค่ในไทย และเป็นการกระจายความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจไทยหรือเศรษฐกิจโลกผันผวน
คุณศุภชัยรู้จัก EXIM BANK ผ่านการเข้าร่วมโครงการอบรมในปี 2548 โดยมีเจ้าหน้าที่ของ EXIM BANK เป็นกรรมการในโครงการ นำเสนอสินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกและประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมถึงใช้บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX Forward Contract) เพื่อปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และใช้บริการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
คุณศุภชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังทำหรือคิดจะทำธุรกิจใน 5 ประเด็น คือ 1. ต้องให้ความใส่ใจเรื่องมาตรฐานของสินค้าเป็นสำคัญ 2. การสื่อสารต้องสื่อสารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม 3. จงคิดอยู่เสมอว่าตลาดเปลี่ยน ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเองอยู่เสมอ 4. การมีพันธมิตรทางการค้าจะช่วยเป็นสายป่านที่ดีในการทำธุรกิจ และ 5. หมั่นรักษาเครดิต จัดทำบัญชีให้ถูกต้อง และรักษา Cash Flow ให้ดี ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ SMEs ยืนหยัดในตลาดและเติบโตสู่การค้าโลกได้อย่างแน่นอน
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2566