ช่วงเริ่มต้นปีใหม่ของทุกปี เชื่อว่าหนึ่งในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการหลายท่านคือ เทรนด์หรือแนวโน้มของบริบทโลกจะมีทิศทางอย่างไร มีโอกาสหรือความเสี่ยงอะไรที่รออยู่บ้าง เพื่อใช้ปรับกลยุทธ์ ทั้งคว้าโอกาสทางธุรกิจ หรือเตรียมความพร้อมรับมือหากมีความเสี่ยงเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับปี 2567 ซึ่งปีนี้ตรงกับปีนักษัตรมะโรงหรือปีมังกร ที่หลายฝ่ายได้ตั้งความหวังว่าจะเป็นปีมังกรทะยานฟ้า
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ ๆ ทำให้ยังต้องรอลุ้นว่าปีนี้จะเป็นปีมังกรทะยานฟ้า หรือจะเป็นปีที่มังกรออกอาละวาดจนสั่นสะเทือนโลก โดยขอฉายภาพเทรนด์ของโลกปี 2567 ให้เห็นชัดขึ้น ผ่านตัวอักษร D-R-A-G-O-N ดังนี้
- Deceleration of Economic Growth : เศรษฐกิจโลกอ่อนแรง หลายสำนักเศรษฐกิจคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง (Soft Landing) ในปี 2567 จากผลกระทบของนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักที่อยู่ในระดับสูง อาทิ สหรัฐฯ ที่ 5.25-5.5% ซึ่งสูงสุดในรอบ 22 ปี และจะลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อมั่นใจว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว โดย IMF คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยโลกจะสูงราว 5.8% ในปี 2567 ขณะที่เศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีน (สัดส่วน GDP รวมกันราว 40% ของ GDP ทั้งโลก) และเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยล้วนมีทิศทางชะลอลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงจาก 2.1% ในปี 2566 เหลือ 1.5% ในปี 2567 และเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงจาก 5.4% ในปี 2566 เหลือ 4.6% ในปี 2567 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรติดตามใกล้ชิด เนื่องจากอาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ อาทิ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ยังไม่คลี่คลาย ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มผันผวน อัตราเงินเฟ้อที่อาจพลิกกลับมาสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะหากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสร้อนระอุขึ้น และกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงจนเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ที่พร้อมปะทุขึ้น
Regional Conflict : ความขัดแย้งในระดับภูมิภาคเร่งตัวขึ้น ที่ต้องจับตามองในปี 2567 มีดังนี้
- ภูมิภาคตะวันออกกลาง สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ มีแนวโน้มยืดเยื้อในปี 2567 และยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ปัจจุบันการสู้รบยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซาและพรมแดนรอบ ๆ โดยยังไม่ลุกลามไปประเทศใกล้เคียงจนเกิดเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาค
- ภูมิภาคเอเชีย ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันยังคงตึงเครียดต่อเนื่องและเป็นประเด็นร้อนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลายฝ่ายมองว่าความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันจะยังมีต่อไป เพราะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ยังได้ผู้นำจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่มีนโยบายเอนเอียงมาทางสหรัฐฯ เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ลุกลามจนเกิดเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไต้หวัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันจะถูกตัดขาดจากห่วงโซ่อุปทานโลกชั่วคราว ขณะที่ประเทศพันธมิตรของไต้หวันอย่างสหรัฐฯ และ EU อาจใช้มาตรการจำกัดด้านการค้าและการลงทุนกับจีนเพิ่มเติม
AI Everywhere : AI อยู่รอบตัวเรา หนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุดในปี 2566 คงหนีไม่พ้นกระแสของเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) โดยเฉพาะ Generative AI ซึ่งมี ChatGPT เป็นหัวหอกผู้สร้างกระแส ก่อนที่จะตามมาด้วย AI จากค่ายใหญ่อย่าง Microsoft และ Google ขณะเดียวกันก็เกิด AI จากค่ายอิสระต่าง ๆ ที่เน้นการสร้างสรรค์งานเฉพาะทาง อาทิ รูปภาพ ดนตรี และกราฟิก ซึ่งกระแสดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ AI ที่จะเข้ามามีผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน ไปจนถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและกระตุ้นการบริโภค โดย Price Waterhouse Coopers (PwC) คาดว่า AI จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจโลก 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ซึ่ง 6.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมาจากการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการทำงานและการผลิต และอีก 9.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจะมาจากผลของการกระตุ้นความต้องการบริโภค ทั้งนี้ สำหรับปี 2567 กระแสของ AI จะยังไม่ลดความร้อนแรง โดยคาดว่าจะมีการนำไปใช้งานในลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาการพัฒนาไปอีกขั้นของ Generative AI ที่จะมุ่งไปสู่การสร้างงานภาพเคลื่อนไหวและดนตรีมากขึ้น ขณะที่คาดว่า AI จะเข้ามามีส่วนช่วยการทำงานที่สิ้นเปลืองเวลาเพิ่มขึ้น อาทิ รายงานสรุปด้านกฎหมาย และรายงานผลวินิจฉัยทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของ AI ที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ทำให้เกิดความกังวลต่อการควบคุมในอนาคต ในปี 2567 คาดว่าหลายประเทศจะเริ่มมีการออกกฎระเบียบด้านการใช้ AI มากขึ้นด้วยเช่นกัน
Global Supply Chain Disrupt by Extreme Weather : ซัพพลายเชนโลกอาจหยุดชะงักจากสภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รวดเร็วและรุนแรงทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) เช่น คลื่นความร้อน พายุรุนแรง น้ำท่วมหนัก และภัยแล้ง อาจเกิดบ่อยครั้งขึ้นในปี 2567 กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบขนส่ง ซึ่งจะนำไปสู่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในช่วงต้นปี 2566 ออสเตรเลียเกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 100 ปี ผลจากพายุหมุนไซโคลน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อถนนและทางรถไฟ ทำให้การขนส่งสินค้าต้องหยุดชะงักลง รวมถึงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ยุโรปต้องเผชิญคลื่นความร้อนที่รุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดไฟป่าสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าไม้และผลผลิตทางการเกษตรเป็นวงกว้าง และยังทำให้ระบบขนส่งทางเรือต้องหยุดชะงักจากการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำ
Oil Price Volatility : จับตาราคาน้ำมันผันผวนในระดับสูง ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มผันผวนและทรงตัวในระดับสูงโดย IMF คาดการณ์ราคาน้ำมันเฉลี่ยของโลกปี 2567 จะอยู่ที่ 79.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับเฉลี่ย 80.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2566 เนื่องจากอุปทานน้ำมันโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวหลังจากการควบคุมเพดานการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ขณะที่การ Sanction รัสเซีย (ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก) ยังคงกดดันอุปทานน้ำมันโลก สำหรับด้าน Demand คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการน้ำมันของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอินเดียที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโต อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่หากลุกลามและยกระดับสู่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคจนกระทบต่อการผลิตน้ำมันและการขนส่งจากตะวันออกกลางก็จะยิ่งซ้ำเติมตลาดน้ำมันที่มีแนวโน้มตึงตัวอยู่แล้วและผลักดันให้ราคาผันผวนในทิศทางที่สูงกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ ทิศทางและความผันผวนของราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงต้นทุนโดยรวมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
National Election : ปี 2567 ปีแห่งการเลือกตั้ง ปี 2567 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลก เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทำให้ประชาชนในหลายประเทศมีโอกาสกำหนดรูปโฉมภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศตนเอง ขณะที่ผลของการเลือกตั้งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสถียรภาพของโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในหลายประเทศ ได้แก่ ในเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ปากีสถาน ในยุโรป อาทิ รัสเซีย และยูเครน ในลาตินอเมริกา อาทิ เม็กซิโก อุรุกวัย ปานามา และเวเนซุเอลา ในแอฟริกา อาทิ กานา โมซัมบิก นามิเบีย เซเนกัล ตูนิเซีย และแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ ยังมีอีก 3 การเลือกตั้งระดับโลกที่สำคัญและต้องติดตามในปี 2567 ได้แก่
- การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เพียงส่งผลต่อสหรัฐฯ แต่ยังกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลกผ่านการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐของสหรัฐฯ ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เช่นเดียวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะลงชิงตำแหน่งอีกครั้ง ทั้งนี้ หากประธานาธิบดีไบเดนและนายทรัมป์ ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในการสู้ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2567 ก็จะเป็นการ Rematch คู่ชิงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ปี 2563) ซึ่งนายทรัมป์พ่ายแพ้ไป
- การเลือกตั้งรัฐสภายุโรป หรือ European Parliament Election ซึ่งจะจัดขึ้นในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) 27 ประเทศ โดยถือเป็นการเลือกตั้งโดยสมัครใจในหลายประเทศ แต่มีการกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งภาคบังคับ (Compulsory Voting) ในบางประเทศ ได้แก่ เบลเยียม ไซปรัส กรีซ และลักเซมเบิร์ก การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผลโดยตรงต่อการแต่งตั้งฝ่ายบริหารในหลายตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกฎหมายและงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับประเทศสมาชิก EU
- การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงมากกว่า 900 ล้านคน และถือเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก การเลือกตั้งครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การรวมกลุ่มของบรรดาพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านภายใต้ชื่อ Indian National Developmental Inclusive Alliance หรือ INDIA ซึ่งจะมาเป็นคู่แข่งสำคัญในการชิงตำแหน่งกับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากการดำเนินนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนเป็นผู้นำในระหว่างการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G20 Summit และภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของอินเดียที่ประสบความสำเร็จอย่างดี
จะเห็นได้ว่าเทรนด์โลกข้างต้นจะมีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ตลอดจนทิศทางการค้าการลงทุนของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยในหลายด้าน ทำให้ผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2567