?เต้าหู้? อาหารโบราณที่มีมานานนับพันปี เป็นการแปรรูปถั่วเหลืองให้เป็นอาหารหลากหลายรูปแบบที่อุดมไปด้วยโปรตีนจากพืช ทำให้เต้าหู้เป็นที่นิยมบริโภคในหมู่คนรักสุขภาพและกลายมาเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมระดับโลก ผู้คนนับล้านบริโภคเต้าหู้ทุกวันโดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป ทำให้ผู้ผลิตเต้าหู้เก่าแก่ของไทยในนาม ?เส่งเฮง? ทำธุรกิจได้มายาวนานกว่า 70 ปี คุณพัชรธนสิตเมธีวัชรสิริชาติ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินทัชธนกร จำกัด จะมาบอกเล่าการเดินทางของร้านเต้าหู้เตาฟืนที่เติบโตขึ้นเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมและจำหน่ายเต้าหู้เป็นวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตอาหารส่งออกมากมายหลากหลายแบรนด์
?ธุรกิจของเราเริ่มต้นจากคุณตาและคุณยายของผม ซึ่งเป็นชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้นำเอาความรู้ในการทำเต้าหู้จากบรรพบุรุษมาสร้างอาชีพ โดยเริ่มต้นจากการใช้บ้านเป็นโรงงานผลิตเมื่อปี 2497 ที่ตลาดพลู และนำเต้าหู้ไปวางขายในตลาดสด เต้าหู้ของเรามีหลากหลายประเภททั้งเต้าหู้อ่อนและเต้าหู้เนื้อแข็ง ต่อมาคุณพ่อและคุณแม่ของผมซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ได้รับช่วงกิจการต่อและขยายธุรกิจโดยรุกเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ทำให้เต้าหู้ของเราเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น? คุณพัชรธนสิตกล่าว
คุณพัชรธนสิตเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้นำเอาความรู้ด้านการบริหารจัดการเข้ามาพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้เหลือง เต้าหู้ขาว เต้าหู้ดำ เต้าหู้นิ่ม เต้าหู้ทอด เต้าหู้แข็ง อาหารสำเร็จรูปแบบ Ready to eat อย่างเต้าหู้ซีอิ๊วดำผัดกะเพรา เต้าหู้ผัดเสฉวน เต้าหู้น้ำขิง
?จุดเด่นของแบรนด์เราเน้นที่คุณภาพ โรงงานของเราได้รับมาตรฐาน GMP HACCP HALAL และอาหารออร์แกนิก สามารถส่งไปจำหน่ายในครัวกลางของสายการบินต่าง ๆ ได้ เราสามารถควบคุมคุณภาพและรับรองได้ 100% ว่าไม่มีการผลิตหรือปนเปื้อนจากถั่วเหลืองที่ตัดแต่งพันธุกรรม (Non-GMO) โดยเรามี Contract Farming กับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทางและเป็นการอุดหนุนสินค้าเกษตรจากเกษตรกรท้องถิ่น หรือถ้าซื้อจากแหล่งภายนอกจะรับซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรที่มีใบรับรองพืชออร์แกนิกเท่านั้น? คุณพัชรธนสิตกล่าว
คุณพัชรธนสิต กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) สินค้าอยู่ตลอดเวลา โดยทำอยู่ 2 ส่วนคือ ทำ R&D เอง และจ้างหน่วยงานกลางอย่างสถาบันอาหารหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า นำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต ส่งผลให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นและยืดอายุการเก็บรักษาผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ทำให้สินค้ามีอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) นานขึ้น รวมถึงการรับประกันความพึงพอใจของลูกค้าที่เป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้สินค้าสามารถอยู่ในตลาดได้ยาวนานกว่า 70 ปี
?กุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจ นอกจากสินค้าจะต้องมีคุณภาพดีแล้ว การมีสินค้าที่หลากหลายและน่าสนใจทำให้ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เทรนด์ของผู้บริโภคสนใจอาหารสุขภาพและเต้าหู้ก็เป็นสินค้าอาหารจากพืช (Plant-based Food) ประเภทหนึ่งที่มีโอกาสทางการตลาดและเป็นอาหารแห่งอนาคต การเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีสูงมากซึ่งบริษัทก็สนใจขยายไลน์ไปทางสินค้า Plant-based ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องศึกษาให้รู้จริงเสียก่อนจึงจะผลิตออกมาจำหน่าย? คุณพัชรธนสิตกล่าว
ในยุคของทายาทรุ่นที่ 3 ได้มีการบริหารจัดการแบบใหม่ เพื่อปรับทิศทางทางธุรกิจให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในยุคที่ก่อตั้งบริษัท คุณพัชรธนสิตบอกว่า ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภคอยู่เสมอ และมีฮอทไลน์ให้ลูกค้าติชม ซึ่งบริษัทได้นำเอาความเห็นหรือข้อเสนอแนะของลูกค้ามาปรับปรุงอยู่เสมอ เช่น ลูกค้าอยากให้มีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ถ้าเราอยากขยายกลุ่มลูกค้ามาที่กลุ่มนี้ก็ต้องปรับปรุง แม้กระทั่งโลโก้ของสินค้าที่ใช้ในปัจจุบันก็ได้มีการปรับให้ทันสมัยมากขึ้น และลูกค้าอยากให้เรารักษาคุณภาพและรสชาติอาหารให้อร่อยอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะซื้อวันนี้ พรุ่งนี้ หรือในวันอื่น ๆ รสชาติต้องเหมือนเดิม ต้องรักษาฐานลูกค้าเก่าให้ได้ก่อน ซึ่งเมื่อมีฐานลูกค้าเก่าที่ดีแล้ว จะเป็นฐานรากที่มั่นคงของธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และต่อไปจึงหาลูกค้ากลุ่มใหม่และสร้างความเชื่อใจให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่อไป
คุณพัชรธนสิตกล่าวว่า ได้รู้จัก EXIM BANK จากการติดต่อของเจ้าหน้าที่ว่าอยากเข้ามาพบ ก็เลยได้รู้จักกันได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและรับคำแนะนำในการขยายธุรกิจและนำเอาเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าไปอีกขั้นหนึ่ง การสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK ทำให้เราเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น และในอนาคตหากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมก็อาจจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกตามความต้องการสินค้าในตลาด และมีความสนใจที่จะหันมาใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้าด้วย
?EXIM BANK เข้ามาสนับสนุนจริง การติดต่อประสานงานมีความจริงใจ สิ่งใดได้หรือไม่ได้ก็แจ้งให้ทราบตามตรง ทำให้สามารถหาทางออกและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง? คุณพัชรธนสิตกล่าว
คุณพัชรธนสิตให้ข้อคิดถึงผู้ประกอบการ SMEs ว่า ควรเริ่มต้นทำธุรกิจที่มี Production ขนาดเล็ก แต่สร้างแบรนด์ให้ใหญ่และแข็งแรง ผ่านการสร้าง Concept สินค้าให้ชัดเจน มีชื่อสินค้าที่จดจำได้ง่าย และมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางการขายสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก
สำหรับการบริหารงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือเล็กก็มีปัญหาทั้งนั้น ควรต้องให้แยกแยะปัญหาและหาแนวทางแก้ไขทีละเรื่อง หากไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง ต้องหาที่ปรึกษาหรือพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทุกภาคส่วนพร้อมที่จะช่วยเหลือภาคธุรกิจ และเราต้องเปิดใจและตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะผ่านอุปสรรคไปได้
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2567