ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นต้นตอสำคัญของภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่คิดเป็นราว 80% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกจะพยายามร่วมมือกันลด CO2 อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากนัก สะท้อนได้จากปริมาณการปล่อย CO2 ของโลกปี 2566 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 4 หมื่นล้านตันคาร์บอน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ไข ล่าสุดเริ่มมีการพูดถึง Carbon Capture and Storage (CCS) ว่าอาจเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีสีเขียวที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหา และอาจผลักดันให้โลกของเราบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้เร็วขึ้น โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ CCS ดังนี้
- CCS?คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร CCS คือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บ CO2 ไว้ในชั้นหินใต้ดินหรือใต้ทะเลลึก เพื่อขัง CO2 ไม่ให้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ ที่ผ่านมาดูเหมือนโลกจะมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นทางเป็นหลักผ่านการ ?ลด? การปล่อย CO2 ด้วยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน การหันมาใช้รถยนต์ EV การจัดการขยะเพื่อลด Zero Waste แต่วิธีการเหล่านี้ดูจะยังไม่เพียงพอ เพราะยังขาดกลไกหรือเครื่องมือการแก้ปัญหาที่จะช่วย ?ดูด? กลับ CO2 ที่เกิดขึ้นหรือถูกปล่อยออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในธรรมชาติก็มีวิธีบำบัดที่จะช่วยดูดซับ CO2 อยู่บ้าง คือการปลูกต้นไม้หรือการรักษาแหล่งน้ำ แต่วิธีการเหล่านี้ดูจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้พื้นที่และระยะเวลานานกว่าที่ต้นไม้จะดูดซับ CO2 ได้เต็มที่ คิดง่าย ๆ หากจะดูดซับ CO2 เท่ากับที่โลกปล่อย 4 หมื่นล้านตันต่อปี ต้องปลูกต้นไม้ถึง 2.6-4.5 ล้านล้านต้นต่อปี (ต้นไม้ 1 ต้นดูดซับ CO2 ราว 9-15 กิโลกรัม) หรือต้องใช้พื้นที่ถึง 50-80 เท่าของประเทศไทยทุกๆ ปี แนวทางดังกล่าวจึงอาจไม่ใช่ Quick Win ในการดูดซับ CO2 เหตุนี้จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ขึ้นเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีการปล่อย CO2 สามารถนำ CCS มาใช้เพื่อดักจับและกักเก็บ CO2 ในขั้นตอนการผลิต ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่ลดการปล่อย CO2 ได้ยาก หรือช่วยขยาย Transition Period ในการปรับ Ecosystem และ Transform ธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในระยะถัดไป
- CCS?พัฒนาการและข้อสังเกต เทคโนโลยี CCS มีการพัฒนาต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ล่าสุด Global CCS Institute ระบุว่าโครงการ CCS ทั่วโลก ณ เดือนกรกฎาคม 2566 มีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 392 โครงการ (ตั้งแต่ขั้นเริ่มพัฒนาถึงดำเนินการแล้ว) เพิ่มขึ้น 102% จากปีก่อน และมีศักยภาพในการดักจับ CO2 361 ล้านตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% อย่างไรก็ตาม ศักยภาพดังกล่าวยังไม่ถึง 1% ของ CO2 ที่โลกปล่อยในปัจจุบัน ทั้งนี้ McKinsey ประเมินว่าหากโลกจะบรรลุ Net Zero Emissions ในปี 2593 CCS จะเข้ามามีส่วนช่วยลด CO2 อย่างน้อย 4.2 พันล้านตันต่อปี นอกเหนือไปจากวิธีการลด CO2 ในลักษณะอื่น ๆ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าโครงการ CCS ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ในอเมริกาเหนือและยุโรปกว่า 80% และอยู่ในอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก โดย Institute for Energy Economics and Financial Analysis (IEEFA) ประเมินว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยการใช้พลังงานฟอสซิลร่วมกับ CCS ยังสูงกว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมถึง 1.5-2 เท่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้ CCS ยังถูกใช้ในวงจำกัด นอกจากนี้ เงินทุนก็เป็นอีกข้อจำกัดสำคัญ โดย McKinsey คาดว่า โลกยังต้องการเงินลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวถึง 1.2-1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2578 เพื่อจะบรรลุ Net Zero Emissions แต่ในปี 2565 กลับยังมีเงินลงทุนรวมเพียง 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
- CCS?กับย่างก้าวสู่ทางเลือกกระแสหลัก นอกจากเงินทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ให้มีต้นทุนต่ำลงแล้ว การที่ธุรกิจใช้ CCS กักเก็บ CO2 ไว้อย่างเดียวอาจไม่คุ้มค่าแถมมีต้นทุนแฝงจากการป้องกันไม่ให้ CO2 รั่วไหล ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอีกขั้นหนึ่งคือ Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ที่ไม่เพียงกักเก็บแต่ยังนำ CO2 มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ อาทิ พลาสติก ปุ๋ย อาหาร ยา เครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ การจะทำให้ CCS&CCUS กลายมาเป็นกระแสหลักยังต้องอาศัยการพัฒนา Ecosystem ที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาด Carbon Credit ที่จะสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจสามารถนำคาร์บอนส่วนเกินมาขาย รวมถึงการพัฒนาหรือ Sharing Facilities ต่าง ๆ ระหว่างธุรกิจเพื่อให้เกิด Economies of Scale โดยเฉพาะระบบขนส่งและแหล่งกักเก็บ ขณะเดียวกัน ที่จะขาดไม่ได้คือมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ Tax Credit เงินอุดหนุนกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีข้างต้น
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันโครงการ CCS&CCUS ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและอยู่ในวงจำกัด แต่จากเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero Emissions ในปี 2608 ทำให้การใช้พลังงานทดแทน การใช้ EV หรือการปลูกป่าคงยังไม่พอ CCS&CCUS อาจเข้ามาเป็นอีกกลไกเสริมที่ช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย ไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจเห็นธุรกิจไทยใช้ CCS&CCUS อย่างแพร่หลาย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ Solar Cell หรือ EV ที่ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้รับความนิยมเหมือนในปัจจุบัน
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจ เท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2567