Share โลกเศรษฐกิจ: ส่องเงินลงทุนโดยตรง "เข้า-ออก" ... นัยต่อการลงทุนไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 30, 2024 13:50 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

หากพูดถึงเครื่องยนต์ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 โตแตะ 3% ครั้งแรกในรอบ 6 ปี หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ?การลงทุน? ซึ่งที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ถึงตัวเลขและสาเหตุที่ทำให้การลงทุนในประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้ากันมาในหลายแง่มุมแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขการลงทุนในมิติที่แตกต่างออกไป ทั้งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) และเงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Thai Direct Investment : TDI) ซึ่ง Movement ของเงินลงทุนทั้งขาเข้าและขาออกดังกล่าวอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ช่วยอธิบายภาพการลงทุนไทยในช่วงที่ผ่านมาได้ในมิติต่าง ๆ ดังนี้

  • ไทยเป็นฝ่ายรับหรือฝ่ายรุกในเวทีการลงทุนระหว่างประเทศ หลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะตั้งแต่มีการสร้าง Eastern Seaboard ไทยก็เป็นฝ่ายรับเงินลงทุนจากต่างชาติมาโดยตลอด แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ตั้งแต่ปี 2554-2563 ตัวเลขมูลค่า TDI Outflow กลับเพิ่มขึ้นสูงกว่า FDI Inflow ทุกปี ขณะเดียวกัน Growth เฉลี่ยต่อปีของ TDI ในช่วงดังกล่าวก็สูงถึงราว 48% เทียบกับ FDI ที่ราว 10% ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย อาทิ สังคมผู้สูงอายุ ต้นทุนการผลิตสูง เป็นต้น ผลักดันให้นักลงทุนไทยจำเป็นต้องรุกออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันไทยเองก็ถูกคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียแย่ง FDI ไปไม่น้อย ซึ่งก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันการลงทุนไทยในช่วงที่ผ่านมาอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ล่าสุดตั้งแต่ปี 2564-2566 การกลับทิศที่ทำให้มูลค่า FDI กลับมาสูงกว่า TDI อีกครั้ง จุดนี้อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่หนุนให้การลงทุนไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็เป็นได้ ทั้งนี้ จากข้อมูล Economist Intelligence Unit (EIU) พบว่า สัดส่วน FDI สุทธิต่อการลงทุนรวมของไทยปี 2564-2566 เฉลี่ยอยู่ที่ราว 9.3% ต่อปีเพิ่มขึ้นจากราว 6.7% ในปี 2554-2563
  • FDI เพิ่ม-TDI ลด ดีจริงไหม ในส่วน FDI ที่เพิ่มขึ้นคงตอบได้ไม่ยากว่าดีมากกว่าเสีย เพราะ FDI ก่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นหลายประเทศทั่วโลกคงไม่แข่งกันให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อดึงดูด FDI แต่ในอีกด้านหนึ่งการจะตอบว่า TDI ที่ลดลงดีมากกว่าเสีย ตรงนี้อาจไม่จริงเท่าใดนัก สังเกตได้จาก 3 ปีที่ผ่านมา แม้นักลงทุนไทยจะชะลอการลงทุนในต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้การลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวที่แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย ล่าสุดปี 2566 กลับหดตัว 3.8% เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตก็ลดลงแตะ 59% ต่ำสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล นอกจากนี้ หากมองอีกมุมหนึ่ง ในช่วงที่ TDI เพิ่มขึ้น แม้จะทำให้เงินลงทุนไหลออกไปบางส่วน แต่เม็ดเงินดังกล่าวก็อาจมีส่วนช่วยต่อยอดห่วงโซ่อุปทานและขยายช่องทางการส่งออกให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่าง 10 ปีที่ผ่านมาที่นักลงทุนไทยไปลงทุนใน CLMV เพิ่มขึ้น ก็มีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยไป CLMV โตเฉลี่ยเกือบ 5% สูงกว่าการส่งออกรวมที่โต 2% นอกจากนี้ หากสังเกตบทเรียนจากประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ก็ใช้การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความมั่งคั่งแทบทั้งสิ้น เห็นได้จากตัวเลข Gross National Income (GNI) ของประเทศเหล่านี้ที่รวมรายได้สุทธิจากการลงทุนในต่างประเทศเข้าไป มักจะมากกว่า GDP สะท้อนว่าการลงทุนในต่างประเทศจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สร้าง Spillover Effect เชิงบวกกลับมาในประเทศต้นทางได้เช่นกัน
  • ผู้เล่น FDI และจุดหมาย TDI เปลี่ยนไปไหม หากดูเม็ดเงินลงทุนสะสมของต่างชาติ (FDI Stock) ปี 2566 เทียบกับ 10 ปีก่อนอาจไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นมากนัก เพราะนักลงทุนต่างชาติ Top 5 ในไทยก็ยังเหมือนเดิมคือ ญี่ปุ่น (สัดส่วนราว 30%) สิงคโปร์ (18%) ยุโรป (15%) ฮ่องกง (8%) และสหรัฐฯ (6%) แต่หากสังเกตข้อมูล FDI Inflow ที่สะท้อนโมเมนตัมระยะสั้นได้ดีกว่าจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2563-2566 FDI Inflow จากจีนกลับแซงหน้าทุกประเทศขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ทำให้ล่าสุดสัดส่วนเงินลงทุนสะสมของจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% จากเพียง 1.5% เมื่อ 10 ปีก่อน เบียดสหรัฐฯ และเริ่มท้าทายญี่ปุ่นที่ครองตลาดการลงทุนในไทยมายาวนาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรรมไฮเทคอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ขณะที่ในส่วนจุดหมายปลายทาง TDI แม้อาเซียนจะยังเป็นจุดหมายอันดับ 1 ของนักลงทุนไทยด้วยสัดส่วนกว่า 30% แต่รายละเอียดปลีกย่อยก็เปลี่ยนไปไม่น้อย โดยเฉพาะเวียดนามที่เคยเป็นหมุดหมายอันดับ 5 ในอาเซียนก็ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น นอกจากนี้ หากมองตลาดอื่น ๆ ที่เหลืออีก 70% จะพบว่า นักลงทุนไทยมี Exposure ในประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนไทยในยุโรปที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 7% เมื่อ 10 ปีก่อน เป็น 18% ในปี 2566 ในอุตสาหกรรมและบริการที่หลากหลาย อาทิ อุปกรณ์ไฟฟ้า ค้าปลีกค้าส่ง การเงิน อาหาร สวนทางกับ TDI ที่ไปในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งที่ลดลงโดยเฉพาะจีน จากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง และผลของสงครามการค้า ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขการลงทุนรวมของโลกไปจีนที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า Movement ของ FDI และ TDI ที่เปลี่ยนไปข้างต้นมีนัยต่อการลงทุนไทยในหลายแง่มุม โดยเฉพาะหากเครื่องยนต์ทั้งสองสามารถเชื่อมโยงและผสานกันได้อย่างสมดุล ก็จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2567

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ