ส่องเทรนด์โลก: โลกเผชิญความเสี่ยง 3 ด้าน...ธุรกิจต้องปรับแผนเพื่อลดเสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 30, 2024 13:53 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

สถานการณ์โลกมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2567 เป็น 3.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.1% แต่ผู้ประกอบการยังวางใจกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ในบรรดาความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญ มี 3 ความเสี่ยงที่คาดว่าจะกระทบภาคธุรกิจในปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งแบ่งตามแหล่งที่มาของความเสี่ยง ได้แก่ Political Risk, Liquidity Risk และ Purchasing Power Risk โดยมีรายละเอียด ดังนี้

Political Risk...กระทบต้นทุนของภาคธุรกิจ

สถานการณ์การเมืองโลกในปัจจุบันมีความตึงเครียดมากขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังอิหร่านเข้าร่วมวงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอย่างเปิดเผย ทำให้การสู้รบอาจพัฒนาไปสู่ Direct War จากเดิมที่เป็น Proxy War ซึ่งความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้นย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย Bloomberg Economics เคยประเมินไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่าหากเกิด Direct War ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ราคาน้ำมันในตลาดโลกในบางช่วงอาจพุ่งแตะระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ค่าระวางเรือเส้นทางเอเชีย-ยุโรปมีแนวโน้มปรับขึ้น 20-25% ในระยะข้างหน้าจากสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงต้นทุนโดยรวมของภาคธุรกิจ

Liquidity Risk...กระทบฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจ

ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับภาวะการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวต่อไปในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนทางการเงินโดยเฉพาะจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงวิกฤต COVID-19 ของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ถูกถอนออกไปแล้ว ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจบางส่วนโดยเฉพาะที่เปราะบางอยู่แล้วอาจล้มละลาย และกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ให้กับคู่ค้า ทั้งนี้ Allianz Research มองว่าการล้มละลายของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2567 สะท้อนจากดัชนีการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลก (Global Insolvency Index) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2567 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 7% ในปี 2566 ขณะที่ Financial Times รายงานว่า ยอดรวมการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรปในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 พุ่งสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2552

Purchasing Power Risk...กระทบยอดขายของภาคธุรกิจ

ปัจจุบันผู้บริโภคที่มีภาระหนี้ต้องแบกรับดอกเบี้ยสูงขึ้น ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้บริโภคต้องจำกัดการใช้จ่ายและสรรหาวิธีใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าเผชิญยอดขายที่ลดลง ทั้งนี้ การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดมาสักระยะแล้ว เนื่องจากโลกเผชิญวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคในหลายประเทศชะลอการใช้จ่ายลง สอดคล้องกับเทรนด์การเงินสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่เรียกว่า Loud Budgeting ซึ่งเป็นเทรนด์การใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งของที่มีความสำคัญหรือจำเป็นเท่านั้น เปรียบเสมือนการตะโกนบอกให้โลกรู้ว่าไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าราคาแพงตามกระแสอยู่ตลอดเวลาก็ได้

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่กำลังเผชิญ 3 ความเสี่ยง ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจเพื่อจัดการความเสี่ยง อาทิ การปรับธุรกิจให้ Lean เพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็ควรหาตลาดใหม่เพื่อกระจายแหล่งรายได้ พร้อมกับ

เพิ่มโอกาสให้กับสินค้า โดยอาจใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งช่วยลดอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ปัจจุบันไทยมี FTA ทั้งสิ้น 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 ประเทศ ซึ่ง FTA ไทย-ศรีลังกา เป็น FTA ฉบับล่าสุดที่ลงนามไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ FTA ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจามีอีก 11 ฉบับ ซึ่ง FTA ที่คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในปีนี้ ได้แก่ FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA (ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเตรียมกลยุทธ์ทั้งเชิงรุกเพื่อกระจายตลาดส่งออก และเชิงรับในการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่ง EXIM BANK พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจรเพื่อก้าวออกไปคว้าโอกาสบนเวทีการค้าโลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ