หากเปรียบเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นการวิ่ง 400 เมตร ดูเหมือนว่าเราจะออกสตาร์ทได้ไม่ค่อยดีนักในช่วง 100 เมตรแรก อย่างไร ก็ตาม ในช่วงที่เหลือ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่พร้อมเพรียงกันมากขึ้น โดยเฉพาะ 3 เครื่องยนต์ที่จะเป็นทางออก (EX-I-T) ระยะสั้นที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้หลุดพ้นหลุมรายได้ที่หายไปในช่วง COVID-19 ขณะเดียวกันหากนำมาต่อยอดถูกจุดก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ ดังนี้
- EXport?แม้ตัวเลขการส่งออกไทย 4 เดือนแรกปี 2567 อาจฟื้นตัวได้ไม่โดดเด่นนัก โดยขยายตัวที่ 1.4% แต่หากหักการส่งออกทองคำและอาวุธ ซึ่งไม่ได้สะท้อน Demand แท้จริงต่อสินค้าไทยพบว่า การส่งออกยังขยายตัวได้ 2.7% ซึ่ง Hero สำคัญที่มีส่วนผลักดันให้การส่งออกไทยยังมีโมเมนตัมที่ดีก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือการส่งออกสินค้าปัจจัย 4 ที่ขยายตัวโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นหมวดอาหาร อาทิ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องดื่ม นมและผลิตภัณฑ์นม สิ่งปรุงรส หมวดที่อยู่อาศัยและของใช้ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องใช้ในบ้าน หมวดเครื่องนุ่งห่ม ที่แม้หลายฝ่ายจะพูดว่าเป็น Sunset Industry แต่จริง ๆ แล้วก็ยังมีบาง Segment ที่ยังโตได้ อาทิ เสื้อผ้าไหม เสื้อผ้าเด็ก ผ้าพันคอ หมวดยารักษาโรคที่แม้ปัจจุบันไทยจะยังนำเข้ายาเป็นส่วนใหญ่ แต่เราก็มีศักยภาพส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องบางชนิด อาทิ เครื่องมือแพทย์ สมุนไพร เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าข้างต้นส่วนใหญ่ หากพูดในแง่เศรษฐศาสตร์เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่มีความผันผวนค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ แม้ราคาสินค้าเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ยังมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าจำเป็นเหล่านี้มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย จุดนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการใส่นวัตกรรมหรืออัตลักษณ์ใหม่ ๆ อย่างสินค้ารักษ์โลกที่ EXIM BANK พยายามส่งเสริมมาโดยตลอด ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา EXIM BANK ก็ได้เปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินใหม่ Green Export Supply Chain เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ Go Green ได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มราคา และขยายตลาดให้กว้างขึ้น ขณะที่ล่าสุด EXIM Index ณ ไตรมาส 1 ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำการส่งออกไทย 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 102.3 (เกิน 100 อยู่โซนขยายตัว) สะท้อนการส่งออกไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่ทั้งปี 2567 คาดว่าส่งออกไทยจะอยู่ได้ในแดนบวกจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไปต่อได้
- Investment?หลายปีที่ผ่านมาหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำคือการลงทุน สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP ที่ลดลงจากกว่า 40% ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง มาอยู่เพียง 23% ในปี 2566 ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ยเพียง 0.8% ต่อปีในช่วง 5 ปีหลังสุด ขณะที่หากมองภาพใกล้เข้ามาตั้งแต่ต้นปี 2567 การลงทุนก็ยังถูกกดดันจากภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้าและการลงทุนภาครัฐที่ยังหดตัว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส หลัง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 ผ่านสภาฯ และเริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เบื้องต้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าการลงทุนภาครัฐไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ปี 2567 จะขยายตัว 9.3% 17.7% และ 29.3% ตามลำดับ ตรงจุดนี้อาจกระตุ้นให้เกิด Spillover Effect หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยและต่างชาติให้ดีขึ้นตามมา ขณะเดียวกัน ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ขยายตัวถึง 31% ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัว 43% รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนและวัตุดิบ 4 เดือนแรกปี 2567 ที่ยังขยายตัวได้ 16.1% และ 8.3% ตามลำดับ ล้วนเป็น Leading Indicator ที่ชี้ว่าการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีน่าจะมีโมเมนตัมที่ดีขึ้น แต่หากมองกันในระยะยาว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายอุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างให้ล้อไปกับ Megatrends ใหม่ ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องใช้นาทีทองจากการแบ่งขั้วอำนาจของโลก (Decoupling) ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ โดยใช้จุดแข็งของไทย ทั้ง Location ที่มีเสน่ห์ของอาเซียน Supply Chain ที่แข็งแกร่งในหลายอุตสาหกรรม ตลอดจนต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากไม่เกิน 15% ในปัจจุบัน เป็น 50% ในปี 2580 ให้ได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2024) ที่กำลังปรับปรุงใหม่ เพื่อเป็นแต้มต่อในการดึงดูด Future Industry ที่ต้องการ Green Energy มากขึ้น อาทิ Data Center รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- Tourism?การท่องเที่ยวถือเป็นพระเอกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 เดือนแรกปี 2567 แตะ 15 ล้านคนแล้ว หากอีก 7 เดือนที่เหลือยังโตในระดับนี้ สิ้นปีคงได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 35-36 ล้านคน นอกจากนี้ ข้อดีอีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การกระจายตัวของนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ล่าสุดพบว่า แม้นักท่องเที่ยวจีนจะยังเป็นอันดับ 1 แต่มีสัดส่วนลดลงจาก 28% ในช่วงก่อน COVID-19 เหลือ 19% ในปัจจุบัน ซึ่งอาจช่วยกระจายความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ก็มีบางประเด็นที่ต้องขบคิดอยู่เช่นกันคือ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับไปอยู่ระดับ 90% ก่อน COVID-19 แต่ในมุมรายได้กลับยังฟื้นตัวช้ากว่า ล่าสุด ธปท. คาดว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 75% ก่อน COVID-19 (1.91 ล้านล้านบาท) สะท้อนถึงช่องว่างในเชิงคุณภาพที่คงต้องกระตุ้นผ่านการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Medical Tourism ที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้ว ตลอดจนการ Collab การท่องเที่ยวกับบริการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีและกีฬา ล่าสุดไทยได้เปิดตัวเทศกาลดนตรีระดับโลกจากญี่ปุ่น Summer Sonic Bangkok 2024 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 ที่ปกติจะมีผู้เข้าร่วมถึงกว่า 3 แสนคน ทั้งนี้ Custom Market Insights ประเมินว่า ตลาด Music Tourism และ Sport Tourism โลกมีมูลค่าสูงถึง 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 521 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ คิดดูง่าย ๆ หากไทยสามารถดึงส่วนแบ่งมาได้สัก 1% จะช่วยให้ขนาด GDP ไทยที่ปัจจุบันที่อยู่ราว 514 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นได้พอสมควร
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมีโอกาสดี ๆ วิ่งเข้าหาเศรษฐกิจไทย โดย EXIM BANK พร้อมเป็นที่ปรึกษาและให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยหาทางออกได้อย่างเหมาะสมและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2567