ส่องเทรนด์โลก: LGBTQ+ Tourism...กระตุ้นการท่องเที่ยวไทยให้เกิดความหลากหลาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 1, 2024 14:23 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

LGBTQ+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender and Queer) หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ นับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงและเป็นลูกค้าเป้าหมายของหลายธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องด้วยประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนรวมกันถึงเกือบ 400 ล้านคน หรือราว 5% ของจำนวนประชากรโลก และมีกำลังซื้อรวมกัน 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการโดย LGBT Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินซึ่งให้บริการกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหลัก) อีกทั้งผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลและเก็บออมเพื่อบุตร ส่งผลให้ชาว LGBTQ+ มีโอกาสที่จะจับจ่ายใช้สอยสูงกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ

นักท่องเที่ยว LGBTQ+...กลุ่มลูกค้าที่ไม่ควรละสายตา

นักท่องเที่ยว LGBTQ+ มีกำลังซื้อสูงและพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานทั่วไปในตลาด จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะหลังจากที่สังคมเปิดกว้างและยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น ส่งผลให้บุคคลและคู่รัก LGBTQ+ ออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะรู้สึกสบายใจและปลอดภัยขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยวไปสถานที่ต่าง ๆ ประกอบกับความก้าวหน้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยว และที่พักที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ และจองตัวเลือกที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้นมาก ขณะเดียวกันแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็จัดกิจกรรม เช่น งานไพรด์ รวมถึงงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQ+ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ตลาดท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQ+ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการประมาณการว่าตลาดนักท่องเที่ยวชาว LGBTQ+ ของโลกจะมีมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2575 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 12.1% ในช่วงปี 2567-2575

ประเทศไทยนับเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว LGBTQ+ เพราะมีสถานที่สวยงาม อาหารอร่อย และยังเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ โดย Spartacus Gay Travel Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQ+ ของไทยในปัจจุบันสูงเป็นลำดับต้น ๆ ในอาเซียน และคาดว่าหลังจากไทยมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ดัชนีดังกล่าวของไทยจะถูกปรับขึ้นมาเทียบเท่ากับไต้หวัน ซึ่งมีอันดับสูงที่สุดในเอเชีย ทั้งนี้ ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อน COVID-19 ระบาด ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศถึง 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วน 1.23% ของ GDP ประเทศ) โดยมูลค่าดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชียและเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ สเปน และฝรั่งเศส ตามลำดับ และล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรมมากมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQ+ จากทั่วโลกและผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Top LGBTQ+ Friendly Destination ระดับโลก หรือจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม เนื่องจากเล็งเห็นว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย เดินทางบ่อยและมีระยะเวลาพำนักยาวกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ส่องเทรนด์โลกฉบับนี้ จึงขอนำเสนอบางแง่มุมของผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQ+ ที่อาจนำไปเป็นไอเดียปรับธุรกิจท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ตรงใจมากขึ้น

เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการแต่งงานกันมากขึ้น

การที่หลายประเทศรับรองการสมรสของเพศเดียวกัน มีผลให้กลุ่ม LGBTQ+ มีแนวโน้มตัดสินใจแต่งงานกันมากขึ้น ซึ่งทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงานและใช้ชีวิตคู่ อาทิ ของขวัญของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงสถานที่จัดงานแต่งงานและทริปฮันนีมูนที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในการประชาสัมพันธ์การเดินทางเข้ามาจดทะเบียนสมรสและจัดงานแต่งงานที่ประเทศไทย หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้และเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาจดทะเบียนสมรสได้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยม 5 อันดับแรก สำหรับทริปฮันนีมูนของชาว LGBTQ+ (TOP 5 DESTINATIONS FOR A GAY HONEYMOON) จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ worldrainbowhotels.com และเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับทริปฮันนีมูนที่ดีที่สุดในปี 2567-2568 ของเว็บไซต์ Outofoffice.com ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทริปท่องเที่ยวให้แก่ชาว LGBTQ+

กิจกรรมที่ตอบรับกระแสการท่องเที่ยวของคู่สมรส LGBTQ+ นั้น ทำได้ตั้งแต่การบริการจัดงานแต่งงาน จัดกิจกรรมพิเศษสำหรับคู่ฮันนีมูน ตลอดจนบริการจัดงานครบรอบแต่งงาน รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในสาขาต่าง ๆ เช่น ผู้ให้บริการที่พักร่วมมือกับร้านค้าและร้านอาหารที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ บริเวณใกล้เคียงเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ สำหรับคู่แต่งงาน หรือธุรกิจที่พักร่วมกับสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน และบริษัทวางแผนท่องเที่ยว ออกแบบ Package แต่งงานและทริปฮันนีมูนแบบครบวงจรและตรงใจชาว LGBTQ+ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเริ่มวางแผนการจัดบริการการท่องเที่ยวแบบครอบครัวของชาว LGBTQ+ เช่น บริการเตียงเสริมสำหรับเด็กเล็ก และเมนูอาหารสำหรับเด็ก เนื่องจากมีแนวโน้มที่คู่รัก LGBTQ+ จะรับบุตรบุญธรรมมาดูแลหลังแต่งงาน

Gen Z มีสัดส่วนชาว LGBTQ+ สูงที่สุด

ผู้บริโภค Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นผู้กำหนดเทรนด์ธุรกิจในระยะถัดไป รวมถึงเป็นกลุ่มอายุที่มีสัดส่วนชาว LGBTQ+ สูงที่สุด ทั้งนี้ จากรายงานของ Ipsos Generations Report 2024 บริษัทวิจัยการตลาดรายใหญ่ของโลก พบว่า Gen Z (เกิดปี 2539-2555) เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนผู้ที่ระบุตัวตนว่าเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุด สอดคล้องกับผลสำรวจของ Public Religion Research Institute (PRRI) ซึ่งพบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของ Gen Z ชาวสหรัฐฯ ที่บรรลุนิติภาวะ (Gen Z adults) ระบุตัวตนว่าเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศขณะที่ Gen Y (Millennials) และ Gen X สัดส่วนมีเพียง 16% และ 7% ต่อจำนวนประชากรในกลุ่มอายุเดียวกัน

การเจาะตลาดกลุ่ม LGBTQ+ ของ Gen Z ให้สำเร็จอย่างต่อเนื่องในระยะยาวต้องใส่ใจกับความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงการมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีข้อมูลสินค้าครบถ้วน เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ Gen Z ให้ความสำคัญ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการตอบโจทย์นักท่องเที่ยว LGBTQ+ ในกลุ่ม Gen Z จึงไม่เพียงต้องปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ แต่ควรปรับบริการและผลิตภัณฑ์ให้ยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย อาทิ ติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำในห้องพัก และร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เสนอ Package ที่พักพร้อมบริการรับ-ส่งด้วย EV ในราคาพิเศษ และใช้ช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQ+ อาทิ www.gothaibefree.com หรือร่วมมือกับบุคคลที่มีอิทธิพลต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์

ท้ายนี้ นอกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว กลุ่ม LGBTQ+ ยังเป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงสำหรับอีกหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง สินค้าเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ความงาม และการปรับปรุงที่พักอาศัย รวมถึงสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง สำหรับการครองใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ผู้ประกอบการควรมีความตั้งใจจริงที่จะทำความเข้าใจตัวตนกลุ่ม LGBTQ+ และเปิดใจยอมรับความแตกต่างอย่างแท้จริง ไม่ควรเน้นเพียงแค่ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ เท่านั้น ในการดำเนินงานขององค์กรก็ควรปฏิบัติต่อลูกจ้างทุกเพศอย่างเสมอภาค รวมถึงการปรับทัศนคติพนักงานในองค์กรให้เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายด้วยเช่นกัน

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ