Share โลกเศรษฐกิจ: ทรัพย์สินทางปัญญา... "เสื้อเกราะทางความคิด" นักรบเศรษฐกิจไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2024 13:38 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ผ่านมาเกินครึ่งทางสำหรับปี 2567 ดูเหมือนเมฆหมอกที่เคยปกคลุมบรรยากาศการค้าโลกในปีที่ผ่านมาจะค่อย ๆ จางลง สังเกตได้จากการส่งออกของหลายประเทศทั่วโลกที่กลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ต้นปี เช่นเดียวกับการส่งออกของไทยที่ล่าสุด 5 เดือนแรกปี 2567 ก็ยังขยายตัวได้ 2.6% ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะกลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัว 1% ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เปิดกว้างข้างต้นมักจะมาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ต้องเฟ้นหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่เรามักได้ยินกูรูในแวดวงธุรกิจหรือนักวิชาการพูดกันอยู่บ่อยครั้งคือ ?การสร้างมูลค่าเพิ่ม? ผ่านการคิดค้นหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนใคร โดยปัจจุบันแม้ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยจะสามารถคิดค้นสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ออกมาได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่หลายรายกลับไม่สามารถสร้างผลตอบแทนจากสิ่งดังกล่าวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกคู่แข่งที่มีความพร้อมหรือมีเงินทุนมากกว่า ลอกเลียนแบบ ตัดราคา แย่งส่วนแบ่งการตลาดไปได้ เนื่องจากขาดสิ่งที่เรียกว่า ?เสื้อเกราะทางความคิด? อย่างทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP)

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ IP สองชนิดที่มักได้ยินกันบ่อย ๆ คือ สิทธิบัตร (Patent) ที่คุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ และลิขสิทธิ์ (Copyright) ที่คุ้มครองผลงานสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ เพลง วรรณกรรม งานศิลปะ เป็นต้น

ในส่วนของสิทธิบัตร จากข้อมูลสถิติล่าสุดขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) การยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีเฉลี่ยปีละ 4% โดยมีคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเฉลี่ยราว 3.1 ล้านฉบับต่อปี ซึ่งล่าสุดปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่มียอดขอจดทะเบียนดังกล่าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 3.5 ล้านฉบับ และมีข้อสังเกตอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • สิทธิบัตรกับนัยที่มากกว่าแค่การคุ้มครองสิทธิ์ แม้เหตุผลปลายทางของการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรก็เพื่อการคุ้มครองการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใหม่ ๆ จากคู่แข่ง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังสามารถสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศนั้น ๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่มียอดขอจดทะเบียนดังกล่าวจากผู้มีถิ่นฐานในประเทศสูงกว่าแสนฉบับต่อปี ล้วนเป็นประเทศแม่ที่คลอดบริษัทที่มีอิทธิพลด้านเทคโนโลยี Top 20 ของโลกแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ (Apple, Alphabet) จีน (Tencent, Alibaba) เกาหลีใต้ (Samsung, LG) เป็นต้น
  • สิทธิบัตรกับนัยทางเศรษฐกิจและการเมือง หากพิจารณาตัวเลขการขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรกับรายได้ต่อหัวของหลายประเทศทั่วโลกดังแผนภาพที่ 1 พบว่า การยื่นขอจดทะเบียนมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกและมีส่วนผลักดันการขยายตัวของรายได้ต่อหัวในหลายประเทศ ทั้งนี้ ประเทศ Top 5 ที่มีการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรมากที่สุดคือ จีนที่ครองสัดส่วนมากถึง 46.8% ตามมาด้วย สหรัฐฯ (17.2%) ญี่ปุ่น (8.4%) เกาหลีใต้ (6.9%) และอินเดีย (2.2%) หากมองย้อนกลับไปดูสถิติไกลขึ้น จะพบความน่าสนใจว่า จีนเพิ่งมียอดการยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวแซงหน้าญี่ปุ่นในปี 2553 ซึ่งหากสังเกตดี ๆ 1 ปีก่อนหน้านั้นมูลค่า GDP ของจีน (Nominal GDP) ก็เพิ่งขยับแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลกได้เป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันจีนก็เพิ่งมียอดจดทะเบียนดังกล่าวแซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2554 และมีส่วนทำให้ 5 ปีหลังจากนั้น (ปี 2559) มูลค่า GDP ของจีนที่วัดในรูปความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) ก็แซงหน้าสหรัฐฯ ครั้งแรกเช่นกัน และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ชูนโยบายแข็งกร้าวและทำสงครามการค้ากับจีนก็เป็นได้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเทศดาวรุ่งที่น่าสนใจคือ อินเดีย ที่เพิ่งมียอดจดทะเบียนแซงหน้าเยอรมนีครั้งแรกในปี 2564 ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับที่เศรษฐกิจอินเดียก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเบอร์ 5 ของโลกแซงหน้าสหราชอาณาจักร และกำลังไล่จี้เยอรมนีมาติด ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะกล่าวได้ว่า สิทธิบัตรอาจกำลังกลายมาเป็นหนึ่งในดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโลกยุคใหม่
  • สิทธิบัตรไทยอยู่ตรงไหน คำตอบคือ อยู่อันดับ 24 ของโลก และอันดับ 4 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม แต่ยังสูงกว่ามาเลเซียที่อยู่อันดับ 5 ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ก่อนปี 2541 มาเลเซียและไทยยังอยู่อันดับ 1 และ 2 ของภูมิภาคอยู่เลย แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมายอดขอจดทะเบียนดังกล่าวของทั้งมาเลเซียและไทยกลับมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ (FDI Inflow) ที่เริ่มหันเหไปสู่อินโดนีเซียกับเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากสังเกตได้ว่า ยอดจดทะเบียนสิทธิบัตรของทุกประเทศในอาเซียนล้วนเป็นของต่างชาติไม่ต่ำกว่า 85% โดยข้อมูลจาก ASEANstats พบว่า ตั้งแต่ปี 2561 ที่เริ่มต้นมีสงครามการค้าและการแบ่งขั้วอำนาจของโลก (Decoupling) มี FDI Inflow ไหลเข้าอินโดนีเซียและเวียดนามมากที่สุดในภูมิภาค หากไม่นับรวมสิงคโปร์ซึ่งเป็น Financial Hub ที่หลายบริษัทใช้เป็นศูนย์กลางในการจัดการเงินลงทุน
  • ผู้ประกอบการไทยยังตื่นตัวค่อนข้างน้อย 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีอัตราขยายตัวของการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรรวมราว 3% ต่อปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 4% ขณะเดียวกันหากคิดสัดส่วนการยื่นขอจดทะเบียนเฉพาะผู้ที่มีถิ่นฐานในไทยเทียบกับยอดทั้งหมด ไทยยังมีสัดส่วนไม่ถึง 9% น้อยกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย (15.5%) มาเลเซีย (11.1%) เวียดนาม (10.3%) เป็นต้น หรือแม้แต่หากนำยอดจดทะเบียนสิทธิบัตรสะสมของผู้มีถิ่นฐานในไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่ราว 1 หมื่นฉบับมาหารด้วยจำนวนผู้ประกอบการไทยทั้งระบบในปัจจุบันที่ราว 3.2 ล้านราย ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการไทยมากถึง 320 ราย เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเพียง 1 ฉบับเท่านั้น

ในส่วนของลิขสิทธิ์ มีข้อมูลบางส่วนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา การจดแจ้งลิขสิทธิ์ของไทยมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 4% ต่อปี โดยมียอดการจดแจ้งเฉลี่ย 1.25 หมื่นฉบับต่อปี ซึ่งจากข้อมูลปี 2565 พบว่า หมวดที่มีการจดแจ้งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ วรรณกรรม (34.6%) ศิลปะ (27.0%) ดนตรีและบันทึกเสียง (22.9%) โสตทัศนวัสดุ (14.1%) ภาพยนตร์ (0.3%) โดยหมวดที่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ศิลปะ ดนตรี และภาพยนตร์ ซึ่งล้วนเป็นหมวดที่เกี่ยวโยงกับ Soft Power ที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้เป็น New Engine of Growth ของเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ยังมีประโยชน์อีกหลายแง่มุม ดังนี้

  • ช่วยป้องกันการถูกลอกเลียนแบบจากคู่แข่ง สิทธิบัตรจำเป็นต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องจึงได้รับความคุ้มครอง โดยสิทธิบัตรการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์จะมีอายุการคุ้มครอง 20 ปี และ 10 ปี ตามลำดับ ซึ่งการคุ้มครองดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่ยื่นจดทะเบียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (Patent Cooperation Treaty : PCT) ครอบคลุมราว 150 ประเทศ ที่อำนวยความสะดวกให้สามารถยื่นจดทะเบียนในประเทศภาคีหนึ่ง แต่สามารถมีผลผูกพันไปยังประเทศภาคีอื่นตามที่ระบุได้ ขณะที่ลิขสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ผู้สร้างสรรค์ผลงานก็ควรจดแจ้งหรือเก็บหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของความคิดนั้นไว้หากเกิดกรณีพิพาทขึ้น ซึ่งลิขสิทธิ์โดยทั่วไปจะคุ้มครองครอบคลุมถึง 50 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่ให้การคุ้มครองระหว่างภาคีสมาชิกโดยอัตโนมัติเช่นกัน อาทิ อนุสัญญากรุงเบิร์น กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) เป็นต้น
  • ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เนื่องจากการผ่านการจดทะเบียนหรือจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสองประเภทข้างต้น เป็นการการันตีว่าสินค้าและบริการดังกล่าวเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ผู้ผลิตสามารถนำความใหม่และความแตกต่างดังกล่าวมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองด้านราคา (Bargaining Power) เพิ่มอัตรากำไร ตลอดจนยังช่วยให้การขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานหรือคุณภาพอื่น ๆ ทั้งในระดับประเทศและสากลง่ายขึ้นอีกด้วย
  • ช่วยเสริมการส่งออกบริการ หากผู้ประกอบการที่มีสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ยังไม่พร้อมที่จะออกไปลุยตลาดโลกด้วยตนเอง ก็สามารถขายสิทธิ์ดังกล่าวให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศโดยได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ตกลงกัน ซึ่งธุรกรรมนี้จะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกบริการของประเทศ ที่ผ่านมา หากมองการส่งออกบริการของไทยในภาพรวม โดยเฉพาะในช่วงก่อน COVID-19 ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ซึ่งในระยะถัดไปหากมีการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาและส่งออกได้มากขึ้น ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวได้บางส่วน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยส่งออกทรัพย์สินทางปัญญาคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของการส่งออกบริการรวม น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 7%

นอกจากนี้ หากมองในแง่ประโยชน์ของประเทศ จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้น และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้ประเทศมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในเวทีนานาชาติ โดยเฉพาะการเจรจาทำข้อตกลงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการดึงดูด FDI โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสูง ทั้งนี้ จากการสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า 1% ของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้น จะช่วยดึงดูด FDI เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3%

กล่าวโดยสรุปคือ ทรัพย์สินทางปัญญาไม่เพียงเป็นเกราะกำบังทางความคิดสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนอาวุธลับที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ต่อยอดในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในโลกการค้ายุคไร้พรมแดนที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ