ส่องเทรนด์โลก: ปรับกลยุทธ์รับมือกระแสสินค้าจีนทะลักเข้าไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2024 13:47 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ไทยยังคงขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นราว 8% มาอยู่ที่ 13.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องจากปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ไทยขาดดุลจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยแม้ว่ากว่า 75% ของประเทศทั่วโลกล้วนขาดดุลการค้ากับจีน เพราะจีนยังคงเป็น Factory of the World ที่ผลิตและส่งออกสินค้าไปทั่วทุกมุมโลก แต่กระแสการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางออนไลน์ ได้สร้างความกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้ประกอบการ SMEs ของไทย บทความนี้จึงขอฉายภาพปัจจัยหลังฉากที่เป็นแรงส่งให้สินค้าจีนมาตีตลาดไทย รวมถึงกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการอาจนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเตรียมรับมือ ดังนี้

ปัจจัยที่เป็นแรงส่งให้สินค้าจีนมาตีตลาดไทย

สินค้าจีนที่มาตีตลาดในไทย นอกจากมีความได้เปรียบด้านราคาแล้ว ยังมีแรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ ดังนี้

  • ปัจจัยภายใน

ภาวะ Overcapacity ของจีนที่สะท้อนได้จากระดับสินค้าคงเหลือของจีนที่สูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็ก ทำให้จีนมีการระบายการผลิตส่วนเกินผ่านการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ

การอุดหนุนของรัฐบาลจีน เช่น อุตสาหกรรม EV ที่ให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการ EV ในระยะเริ่มต้น และการกระตุ้นความต้องการใช้ โดยการจัดซื้อ EV มาเป็นรถให้บริการสาธารณะนับล้านคัน พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟฟ้า และให้เงินอุดหนุนสำหรับประชาชนที่ซื้อรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก

นโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของภาครัฐ โดยเฉพาะ Made in China 2025 ที่เน้นเร่งพัฒนาสินค้านวัตกรรมและอุตสาหกรรม High-tech ใหม่ ๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ลิเธียม และเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลให้จีนอยู่ในอันดับที่ 12 ของ Global Innovation Index (GII) ปี 2566 และมีสัดส่วนส่งออกสินค้า High-tech ราว 27% ในปี 2564 สะท้อนว่าปัจจุบันจีนไม่ใช่เพียงผู้ผลิตสินค้าที่แข่งขันด้านราคาเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้เล่นศักยภาพในการแข่งขันสินค้า High-tech ของโลกด้วย

การขยายตัวของช่องทางการค้าแบบออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการค้าผ่านทาง E-Commerce ในไทยขยายตัวถึง 140% ในช่วงปี 2562-2564 และยังขยายตัวกว่า 10% ในปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 26.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยจำนวนผู้บริโภคออนไลน์ถึง 43.5 ล้านคน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเคยซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน การเข้ามาตั้งคลังสินค้าในไทยของ E-Commerce รายใหญ่ของจีนก็มีส่วนช่วยให้ผู้ค้าจีนลดต้นทุนและสามารถส่งสินค้าได้เร็วขึ้น โดยสินค้าจีนถูกส่งมาเป็นล็อตใหญ่เพื่อสต็อกในคลังสินค้าปลอดภาษีในไทยเพื่อรอส่งให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อออนไลน์

Geopolitics ที่ผ่านมาการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ภายใต้ Trade War ตั้งแต่ปี 2562 ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวม Trade Flow ของโลก โดยทำให้จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง สะท้อนจากสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีนลดลงจากกว่า 20% ในช่วงก่อน Trade War เหลือ 14% ในปี 2566 และส่งผลต่อเนื่องให้จีนจำเป็นต้องกระจายสินค้ามายังประเทศคู่ค้าอื่นรวมถึงไทยทดแทน

รับมือสินค้าจีนตีตลาดไทย

ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวรับมือกับสินค้าจีนที่เข้ามาแข่งขันในประเทศ

กลยุทธ์ที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้แข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหา Innovation หรือ Know-how ใหม่ มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การทำ Branding และพัฒนา Design เพื่อสร้างการจดจำและจุดขายที่แตกต่าง รวมถึงการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ต้องนำมาใช้พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์ที่จะสร้างความได้เปรียบ ผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำ Omni Channel ซึ่งเป็นการจำหน่ายหลากหลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า และยังสร้างทางเลือกให้ทั้งผู้บริโภคที่ชอบเลือกซื้อสินค้าแบบหน้าร้านและที่ชอบซื้อออนไลน์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรใส่ใจกับการมีระบบบริการหลังการขายที่ดี รวดเร็ว และมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญประกอบการเลือกซื้อสินค้าซ้ำของผู้บริโภค

รุกโต้กลับเพื่อเจาะตลาดจีน

การที่ตลาดผู้บริโภคมีจำนวนมหาศาลในจีนถือเป็นโอกาสหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะรุกเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดมาบางส่วน โดยควรเข้าใจกลยุทธ์ที่สำคัญ ดังนี้

การรุกผ่าน E-Commerce ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ไปจำหน่ายในจีน โดยจีนมี E-Commerce ที่เน้นสำหรับจำหน่ายสินค้าต่างชาติ เช่น Tmall Global, JD Worldwide และ Kaola โดยสามารถส่งสินค้าไปสต็อกไว้ที่ Bonded Warehouse ที่ยังไม่ต้องเสียภาษี ก่อนรับคำสั่งซื้อและส่งสินค้าถึงมือลูกค้า ทั้งนี้ E-Commerce เป็นช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคจีนกว่า 900 ล้านคน ด้วยมูลค่า 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 และมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยราว 8% ในปี 2567-2570

การใช้ประโยชน์จาก Soft Power อาทิ กระแสดารา/นักร้อง/ซีรีย์ไทยที่ดังในตลาดชาวจีน รวมถึงการท่องเที่ยวที่ไทยถือเป็น Destination สำคัญของนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าไทยได้

อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายสินค้าในจีนมีมาตรการอื่น ๆ ที่เข้มงวดกว่าไทยมาก อาทิ การผ่านมาตรฐานสินค้าเฉพาะรายการ เช่น ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine (AQSIQ) อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และการปลอมแปลงสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านกำลังคนและการบริหารจัดการ จึงจะสามารถนำสินค้าไปบุกตลาดจีนได้

เร่งปรับโครงสร้างการผลิตของไทย

ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อให้มีการผลิตสินค้าที่เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Future Industry เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Global Supply Chain หรือการเลือกปรับตัวสู่เทรนด์อาหารทางเลือกอย่าง Future Food เช่น Plant-based

Foods และโปรตีนทางเลือกจากแมลง รวมถึง Functional Food ที่เป็นอาหารที่มีคุณสมบัติทางโภชนาการและการดูแลสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง ตลอดจน Go Green ด้วยการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจในกระแสรักษ์โลก

EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาของไทย พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการไทยในทุกสถานการณ์การแข่งขันด้วย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะการยกระดับธุรกิจและปรับตัวสู่กระแสความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในเวทีโลก

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ