Share โลกเศรษฐกิจ: La Ni?a “สาวน้อย” หลาก Character...นัยต่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 3, 2024 13:53 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลายท่านคงได้พูดถึงสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติแทบทุกวัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ El Ni?o ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา แต่ล่าสุดสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐฯ คาดว่า El Ni?o จะเริ่มอ่อนกำลังลง และเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนมิถุนายน 2567 ต่อจากนั้นมีโอกาสถึง 69% ที่จะเปลี่ยนเป็นปรากฏการณ์ La Ni?a ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้หลายพื้นที่ในเอเชียรวมถึงไทยมีฝนตกมากขึ้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสถิติที่น่าสนใจของ La Ni?a ซึ่งในภาษาสเปนแปลว่าเด็กผู้หญิงหรือ ?สาวน้อย? ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนี้

  • สาวน้อยอารมณ์แปรปรวน?นับตั้งแต่ NOAA ได้จัดทำดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิก (Oceanic Ni?o Index : ONI) ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา พบว่า โลกเกิด La Ni?a แล้ว 25 ครั้ง ใกล้เคียงกับ El Ni?o ที่ 27 ครั้ง แต่ในช่วง 30 ปีหลังสุดที่ปัญหาโลกร้อนเร่งตัวขึ้นมาก พบว่า La Ni?a เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าที่ 14 ต่อ 11 ครั้ง และมีหลายครั้งที่ La Ni?a กินระยะเวลายาวนานกว่า เห็นได้จาก La Ni?a ครั้งล่าสุดที่กินระยะเวลาถึง 3 ปี (ปี 2563-2565) เทียบกับ El Ni?o ครั้งหลัง ๆ ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นไม่เกิน 2 ปี ขณะที่ในแง่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ หน่วยงานส่วนใหญ่มักประเมินว่า El Ni?o จะสร้างความเสียหายมากกว่า เห็นได้จาก El Ni?o ล่าสุดในปีที่ผ่านมา Dartmouth College ของสหรัฐฯ ก็คาดว่า อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า La Ni?a ครั้งล่าสุดที่ Water Education Foundation คาดว่า จะสร้างความเสียหาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย หากพิจารณาความเสียหายจาก El Ni?o ในระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นปี 2558-2559 พบว่า ส่งผลกระทบจำกัดแค่ในภาคเกษตร สะท้อนจาก GDP ภาคเกษตรที่หดตัวเฉลี่ย 3.9% ต่อปี (ภาคเกษตรคิดเป็น 9% ต่อ GDP) แต่ GDP รวมยังโตได้ 3.3% ขณะที่ La Ni?a ระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2554 ทำให้เกิดมหาอุทกภัยช่วงปลายปีดูจะกระทบภาคเกษตรค่อนข้างน้อย สะท้อนจาก GDP ภาคเกษตรที่ยังโตได้ 6.3% แต่กลับส่งผลกระทบวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรม กดดันให้ GDP รวมโตเพียง 0.8% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หากไม่นับรวมปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
  • สาวน้อยใจดีผู้ให้ความชุ่มชื้น?ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งจาก El Ni?o ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมหดตัวเฉลี่ย 1.6% ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ปี 2567 โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น กดดันให้รายได้เกษตรกรในช่วงดังกล่าวหดตัวเฉลี่ย 0.4% อย่างไรตาม หาก La Ni?a ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ก่อให้เกิดฝนตกในปริมาณที่พอเหมาะกับการทำเกษตรก็อาจมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ดังกล่าวกระเตื้องขึ้นได้ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในปี 2554 ที่ไทยเผชิญ La Ni?a ระดับรุนแรงซึ่งทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 35% ตั้งแต่ต้นปี แต่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมยังขยายตัวได้ถึง 8.5% แม้ว่าในช่วงปลายปีจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตบางส่วน โดยเฉพาะข้าวนาปีในพื้นที่ภาคกลาง แต่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะอ้อยและปาล์มน้ำมันกลับได้ผลดีจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น
  • สาวน้อยนักปั่นราคา?หากพิจารณาสถิติเงินเฟ้อโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ปีที่เกิด La Ni?a ในระดับรุนแรงจะมีส่วนผลักดันให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยที่ 3.5% และสูงกว่าปีที่เกิด El Ni?o เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนเงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูง อาทิ อินเดีย (46%) บังกลาเทศ (45%) เวียดนาม (34%) รวมถึงไทยที่ 40% ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปี 2554 แม้ La Ni?a จะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรก็กลับเพิ่มขึ้นไปด้วยถึงกว่า 12% ผลักดันให้เงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปี 2554 พุ่งขึ้นถึง 8% มากกว่า 1.4% ในปี 2558-2559 ที่ไทยเกิด El Ni?o ระดับรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากดัชนีราคาอาหารโลกปี 2554 สูงขึ้นถึง 24% ภายหลังหลายพื้นที่ในลาตินอเมริกาและแอฟริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญประสบภัยแล้ง ทั้งนี้ เงินเฟ้อดังกล่าวจะขึ้นหรือลงคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว คงต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อาทิ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการอุดหนุนและจำกัดการส่งออกของประเทศต่าง ๆ เป็นต้น แต่ที่แน่ ๆ เราคงต้องจับตามองทิศทางเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการเงินของหลายประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

สุดท้ายนี้ คงยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า La Ni?a ที่จะเกิดขึ้นจะมีความรุนแรงหรือส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณน้ำฝน ตลอดจนพื้นที่ที่จะเกิดว่าเป็นพื้นที่เกษตรหรือนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญเพียงใด อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องก็ควรประเมินความเสี่ยงแต่เนิ่น ๆ เพื่อเตรียมแผนรับมือให้ได้ทันท่วงที ซึ่งก็หวังว่าสาวน้อย La Ni?a ในปีนี้จะอ่อนโยนกับภาคเกษตร และเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อย

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2567


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ