CEO Talk: Pasuda Food: สร้างโอกาสและอนาคตผลไม้-เกษตรกรไทยในตลาดอาหารโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 8, 2024 13:52 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ผลไม้ของไทยมีความหลากหลาย มีชื่อเสียง และรสชาติโดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ แต่ราคาผลไม้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล สภาพภูมิอากาศ จำนวนผลผลิต และคุณภาพ ชาวสวนผลไม้มีอำนาจต่อรองด้านราคาไม่มาก ทำให้รายได้ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ คุณเสาวลักษณ์ ศรีคิรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พศุดา ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด เห็นปัญหาชาวสวนผลไม้ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงตัดสินใจขยายธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่การแปรรูปและส่งออกผลไม้

ผู้ผลิตเครื่องจักรผันตัวเป็นส่งออกผลไม้

คุณเสาวลักษณ์เล่าถึงที่มาในการเริ่มต้นธุรกิจว่า เดิมทำงานอยู่ฝ่ายการตลาดของกลุ่มบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเครื่องจักรมาจำหน่ายในประเทศไทย นานถึง 16 ปี จนมีประสบการณ์และเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท พศุดา ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท พศุดา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ขึ้นในปี 2550 ทำธุรกิจออกแบบผลิต จัดหา ให้บริการวัตถุดิบและเครื่องจักร เครื่องลำเลียงสินค้า พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

?จุดแข็งของเราคือ บริการหลังการขาย เราสามารถผลิตเครื่องจักรทำความสะอาดระบบอัลตราโซนิกสำหรับใช้กับชิ้นส่วนรถยนต์ นาฬิกา เครื่องประดับ อุปกรณ์การแพทย์ได้เอง ในขณะที่คู่แข่งต้องนำเข้า ทำให้เราได้เปรียบเรื่องราคา ถึงจุดหนึ่งเราสามารถเจาะฐานลูกค้าในวงการนาฬิกาได้ ชาวสวิสที่เคยใช้เครื่องจักรของเยอรมนีทดลองใช้สินค้าของเราแล้วประทับใจ จึงสั่งออเดอร์เพิ่มเป็นจำนวนมาก ทำให้สินค้าเราเริ่มเป็นที่รู้จัก มีโรงงานในยุโรปประเทศอื่น ๆ หันมาใช้เครื่องจักรของเราเช่นกัน? คุณเสาวลักษณ์กล่าว

ในขณะที่ธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกำลังดำเนินไปด้วยดี คุณเสาวลักษณ์ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรมของลูกค้าหลายบริษัทต้องปิดโรงงาน หยุดการผลิตลงชั่วคราวจากนโยบายการควบคุมโรค ช่วงเวลานั้นได้เดินทางมาพักผ่อนที่บ้านสวนในจังหวัดนครปฐม ได้มีโอกาสรับรู้ปัญหาของเกษตรกรในจังหวัดที่ส่วนใหญ่ทำสวนมะม่วง พบว่าทุกรายประสบปัญหาเรื่องการจำหน่ายและระบายผลผลิต ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

?กว่าจะปลูกจนได้ผลผลิต พวกเขาใช้เวลาแรมเดือน เฝ้าบำรุงรักษาอย่างดี แต่เมื่อผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ให้ราคาเท่าไรก็ต้องเท่านั้น เป็นปัญหาที่สะสมมานาน เมื่อเวลาผ่านไป ลูกหลานก็ไม่อยากรับช่วงทำเกษตรต่อ เกษตรกรในพื้นที่เริ่มขาดกำลังใจ มีความคิดอยากจะขายที่ดินให้ชาวต่างชาติ หากปล่อยไว้เช่นนี้ ในอนาคตคนไทยเราต้องซื้อผลไม้จากชาวต่างชาติแน่ จึงเกิดแรงบันดาลใจว่าต้องช่วยเหลือเกษตรกร? คุณเสาวลักษณ์กล่าว

หลังจากตัดสินใจที่จะหันมาประกอบธุรกิจแปรรูปและส่งออกสินค้าเกษตร คุณเสาวลักษณ์ก็ศึกษาหาความรู้ด้านการรุกตลาดสินค้าเกษตร ประสบการณ์จากการทำธุรกิจมายาวนานสอนให้รู้ว่า หากสามารถจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างถูกต้อง เกษตรกรจะมีทางเลือก ไม่ถูกกดราคาอีกต่อไป จึงเริ่มต้นด้วยการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร เช่น มะม่วง โดยส่วนหนึ่งคัดเกรด Premium เพื่อจำหน่ายผลสดผ่านช่องทางออนไลน์ และส่วนที่ตกเกรดก็ส่งจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปผลไม้ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก จนทำให้เธอตัดสินใจตั้งแผนกอาหาร Pasuda Food เป็นหนึ่งในไลน์ธุรกิจของบริษัท พศุดา ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด

คุณเสาวลักษณ์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร มีวัตถุดิบในประเทศมาก โดยเฉพาะผลไม้ เปรียบเสมือนมีทรัพย์ในดินสินในน้ำ ด้วยประสบการณ์การเดินทางไปติดต่อธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ประเทศต่าง ๆ เราจึงมีความคิดริเริ่มที่จะส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูป เริ่มจากการทดลองตลาดด้วยตัวเอง ใช้วิธีการหิ้วไปเป็นของฝากในทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดีมาก จนมีความรู้สึกว่าชาวต่างชาติมองผลไม้ไทยของเราเป็นทองคำ ทำให้กลับมาตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเกษตรในท้องถิ่น พัฒนาคุณภาพสินค้า ยกระดับสินค้าเกษตรของไทยเป็นสินค้าที่ตลาดโลกต้องการ

จากท้องถิ่นไทย?ไปไกลสู่ระดับสากล

ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าผลไม้ไทย คุณเสาวลักษณ์ติดต่อหน่วยงานด้านการพัฒนานวัตกรรมและแปรรูปอาหารเพื่อทำการวิจัยและพัฒนา หาวิธีแปรรูปผลไม้เป็นผลิตภัณฑ์ใดได้บ้าง การแปรรูปมีทั้งผลไม้อบแห้งและน้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ กล้วยหอม เผือก และผลไม้ตามฤดูกาล จนพบว่า ผลไม้ไทยจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปอีกหากนำไปแปรรูปเป็น Future Food โดยเน้นคุณสมบัติอาหารเพื่อสุขภาพ จึงได้พัฒนา Vinegar Drink น้ำส้มสายชูหมักจากผลไม้ ใช้สับปะรดเป็น Base ไม่มีน้ำตาล เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการคิดค้นพัฒนาสินค้าร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

?เราภูมิใจที่จะบอกว่าผลิตภัณฑ์ของเราได้มีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและการผลิตทั้งหมดในประเทศไทย 100% ผักและผลไม้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของ Pasuda Food มาจากสวนของบริษัทและกลุ่มพันธมิตรที่จังหวัดนครปฐม พิษณุโลก ราชบุรี สระแก้ว ได้รับการปลูกด้วยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) และมีใบรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ทำให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ สามารถส่งออกไปได้หลายประเทศทั่วโลก อาทิ จีน มาเลเซีย และสหรัฐฯ? คุณเสาวลักษณ์กล่าว

ปรับธุรกิจ Go Green สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

คุณเสาวลักษณ์กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายชัดเจนที่จะปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตั้งแต่การควบคุมการผลิตให้ใช้สารเคมีน้อยที่สุด เน้นการเป็นอาหารปลอดภัย บรรจุภัณฑ์ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล หมึกพิมพ์ที่ใช้ติดในสลากอาหารและบรรจุภัณฑ์เป็น Water-based สำหรับสินค้าที่เป็นผลไม้สด หากส่งออกไม่ได้เพราะตกเกรด ก็นำไปใช้หมักทำปุ๋ยหรือเป็นน้ำผลไม้ ไม่มีการทิ้งของเสียออกจากโรงงาน (Zero Waste) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเศรษฐกิจสีเขียว และในอนาคตจะปรับไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

การสนับสนุนของ EXIM BANK

คุณเสาวลักษณ์กล่าวว่า แม้บริษัทจะดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง แต่โลกธุรกิจย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่คิดไม่ถึง จากการทำ SWOT Analysis วิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของบริษัท ทำให้พบความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สงครามที่พร้อมจะปะทุขึ้นในหลายจุดทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ที่ผ่านมาบริษัทได้ขอคำปรึกษาจาก EXIM BANK และใช้บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า นอกจากนี้ เมื่อมีผู้ซื้อรายใหม่จากต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคยส่งคำสั่งซื้อเข้ามา บริษัทก็จะใช้บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อของ EXIM BANK เรียกได้ว่า EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่เป็นคู่คิดที่ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและเรื่องความเสี่ยง ทำให้มั่นใจที่จะเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ

คำแนะนำถึงคนตัวเล็ก

หากผู้ประกอบการ SMEs คิดจะขายของในประเทศไทยเท่านั้น ในอนาคตคงจะลำบากเพราะกำลังซื้อในประเทศมีจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่มีอัตราสูงกว่า 90% ต้องมองว่าโลกคือตลาดของเรา เราจะขายของไปที่ไหนก็ได้ หากมีสินค้าที่มีคุณภาพดี SMEs ไทยต้องรวมพลังกันต่อสู้ช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก

?ในฐานะที่เราเป็น SMEs ที่ฝ่าฟันทางธุรกิจมายาวนานถึง 36 ปี สิ่งที่อยากฝากกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ คือ ต้องมุ่งมั่น จับธุรกิจที่ตัวเองมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ถ้าเป็นไปได้ควรนำผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นบ้านเรามาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านใดที่เราไม่เก่งต้องให้คนเก่งช่วย ก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ สร้างความสุขให้กับผู้คนรอบข้างและชุมชนของเราได้ด้วย? คุณเสาวลักษณ์กล่าว

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ