ใกล้เข้ามาทุกขณะกับการเลือกตั้งที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของโลกในปีนี้คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 60 ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ล่าสุดผลโพลสำรวจความนิยมก็ยังออกมาสูสีกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กับนางคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต
จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า หากทรัมป์ที่ครั้งหนึ่งเคยเขย่าโลกด้วยนโยบาย Trumponomics ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 (ทรัมป์ 2.0) น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งใหญ่แก่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ และจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกใน 4 มิติผ่านตัวย่อ ?4G? ดังนี้
- Globalization ถูกซ้ำเติม? หลายทศวรรษที่ผ่านมาดูเหมือนกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่เคยผลักดันให้การค้าระหว่างประเทศกลายเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งของหลายประเทศทั่วโลก ดูจะค่อย ๆ อ่อนกำลังลง สะท้อนได้จากการค้าโลก 10 ปีหลังสุดที่โตเฉลี่ยเพียง 2.8% ต่ำกว่า GDP โลกที่โต 3.1% ต่างจากภาพในอดีตที่การค้าโลกมักโตเฉลี่ยสูงกว่า GDP โลกถึงกว่าเท่าตัว ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น โดยเฉพาะหลังทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก และเริ่มเปิดฉากสงครามการค้า (Trade War) กับจีน จนเกิดเป็นกระแส Deglobalization และ Decoupling เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ นโยบายการค้าของทรัมป์ดูจะไม่ต่างจากเดิมมากนักแต่อาจเพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการมุ่งโจมตีจีนซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุด โดยทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากจีนเป็น 60% ทั้งนี้ สังเกตว่า ตั้งแต่ทรัมป์เริ่มทำ Trade War กับจีนครั้งแรกปี 2561 (ปีที่สหรัฐฯ ขาดดุลกับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์) สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มขาดดุลกับจีนลดลงต่อเนื่องมาจนถึงสมัยไบเดนก็ยังใช้มาตรการดังกล่าวอยู่ ทำให้ล่าสุดปี 2566 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนเหลือราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนว่านโยบายข้างต้นที่มุ่งเป้าไปที่จีนค่อนข้างได้ผลระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากถอยมามองภาพใหญ่กลับพบว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับโลกและประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ เม็กซิโก เวียดนาม เยอรมนี แคนาดา เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทนจีนมากขึ้น ขณะที่จีนเองก็แก้เกมโดยการเข้าไปลงทุนและส่งออกจากประเทศที่สามเพื่อเลี่ยงภาษี ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ทรัมป์มีแผนจะเก็บภาษีนำเข้าจากทั่วโลกแบบ Broad Base 10% เช่นกัน เพื่อลดการขาดดุลเรื้อรัง และสกัดสินค้าจีนที่เข้ามาผ่านประเทศที่สาม ซึ่งประเด็นนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการทางการค้าอื่นเพิ่มเติมกับประเทศทางผ่านหรือไม่ เพราะไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เกิด Trade War ดูเหมือนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะได้อานิสงส์เชิงบวก สะท้อนได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเฉลี่ย Double Digits ต่อเนื่อง จนทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยแซงหน้าจีนตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สินค้าไทยสามารถเข้าไปแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ ได้ อาทิ ยางล้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรกล เป็นต้น แต่ในทางกลับกันการส่งออกไทยไปจีนในช่วงเวลาเดียวกันกลับโตเฉลี่ยไม่ถึง 3% โดยหลายสินค้าหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบที่อยู่ใน Supply Chain ของจีน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผลพวงข้างต้นยังทำให้จีนต้องหาทางระบายสินค้าที่ผลิต Overcapacity ไปยังประเทศอื่น ๆ จนกลายเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกของหลายประเทศในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถชดเชยการขาดดุลการค้ากับจีนที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจสะท้อนได้ส่วนหนึ่งว่าไทยยังได้น้อยกว่าเสียจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น
Geopolitical Risks เร่งตัวขึ้น? บุคลิกแข็งกร้าวของทรัมป์ ทำให้เป็นที่คาดว่าหากทรัมป์กลับมา อุณหภูมิการเมืองโลกน่าจะเดือดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสังเกตแนวคิดของทรัมป์ในอดีตพบว่า ทรัมป์ดูจะไม่ค่อยชอบการทำสงครามโดยใช้กำลังและอาวุธ (Physical War) เท่าใดนัก เพราะมองว่าสหรัฐฯ เสียงบประมาณในเรื่องดังกล่าวมากเกินไป โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยชาติพันธมิตรทำสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ แต่ทรัมป์กลับชอบเดินเกมโดยใช้สงครามทางเศรษฐกิจ (Economic War) กดดันคู่ขัดแย้งมากกว่าโดยเฉพาะกับจีน ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2567 ทรัมป์มักหาเสียงว่าเขาสามารถยุติสงครามรัสเซียกับยูเครนได้ภายใน 1 วัน แต่ไม่ได้บอกว่าจะใช้วิธีใด ขณะเดียวกันทรัมป์ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ ให้เงินและอาวุธสนับสนุนยูเครนในการทำสงคราม นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิจารณ์ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ไม่สามารถปฏิบัติตาม แนวทาง (Guideline) ที่กำหนดให้แต่ละประเทศต้องจัดสรรงบประมาณในการป้องกันประเทศให้ได้ที่ 2% ต่อ GDP โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีเพียง 10 ประเทศจาก 32 ประเทศสมาชิกเท่านั้นที่ทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีพรมแดนใกล้กับรัสเซีย แต่หลายประเทศใน EU โดยเฉพาะ Big 4 ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนกลับทำได้ต่ำกว่าเป้า ประเด็นดังกล่าวทำให้ทรัมป์มองว่าไม่ยุติธรรมและขู่ที่จะถอนตัวออกจาก NATO อยู่เป็นระยะ ขณะที่ในส่วนของสงครามตะวันออกกลางยังต้องจับตามองท่าทีของทรัมป์อย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้น อาจสะท้อนถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะตำรวจโลกที่ลดลง แต่หันมาโฟกัสที่เศรษฐกิจและปากท้องชาวอเมริกันมากขึ้นแทน Green Transition สะดุด? เกือบ 4 ปีที่ผ่านมาในสมัยไบเดน สหรัฐฯ แสดงออกอย่างชัดเจนบนเวทีโลกว่าต้องการเป็นผู้นำในการลดภาวะโลกร้อน สังเกตได้จากการผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) มูลค่า 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่สนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ผ่านการให้เครดิตภาษีและเงินอุดหนุนแก่ภาคธุรกิจและประชาชนที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนและรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนช่วยให้การปล่อยก๊าซ CO2 ของสหรัฐฯ ลดลงเหลือราว 4.8 พันล้านตันคาร์บอนในปี 2566 ต่ำสุดในรอบ 36 ปี (ไม่นับรวมปี COVID-19)
อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์กลับมา สถานการณ์ดังกล่าวอาจพลิกผันได้เช่นกัน เนื่องจากทรัมป์ยังมีแนวคิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง และเขาก็ยังประกาศจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลง Paris Agreement เช่นเดียวกับสมัยแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง ประกอบกับทรัมป์ต้องการให้สหรัฐฯ มีความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Independence) ต้องการให้ชาวอเมริกันได้ใช้พลังงานราคาถูกโดยไม่สนว่าเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ อีกทั้งผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนไม่น้อยก็อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดถึงเกือบ 1 ใน 5 ของโลก แต่ยังผลิตน้ำมันได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) ที่จำเป็นต้องนำเข้าราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้หากทรัมป์กลับมาก็มีแนวโน้มจะหนุนให้สหรัฐฯ เร่งผลิตและส่งออกน้ำมันมากขึ้นส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่ม ซึ่งอาจจะชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันไม่มากก็น้อย เพราะต้องไม่ลืมว่า สหรัฐฯ ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้ารัสเซียและซาอุดีอาระเบียครั้งแรกก็ในสมัยทรัมป์
นอกจากนี้ แม้ที่ผ่านมาไบเดนจริงจังกับการลดโลกร้อนขนาดนี้ สหรัฐฯ ยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 17.2% เมื่อเทียบกับปี 2548 ห่างไกลจากเป้าหมาย 50% ที่ไบเดนตั้งไว้อยู่มาก แล้วหากทรัมป์กลับมาและยกเลิกแผน IRA ของไบเดนทั้งหมดจะเกิดอะไรขึ้น เพราะในสมัยแรกของทรัมป์ก็มีการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปมากกว่า 100 ฉบับ ล่าสุด Carbon Brief Analysis ประเมินว่า นโยบายต่าง ๆ ของทรัมป์จะเพิ่มก๊าซ CO2 ถึง 4 พันล้านตันคาร์บอนภายในปี 2573 และอาจสร้างความเสียหายต่อโลกมูลค่าถึง 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งนี้ทิ้งคำถามตัวโต ๆ ว่า โลกจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 2593 ได้อย่างไร หากขาดความร่วมมือจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 ของโลก
- Government Spending เกินตัว? อีกหนึ่งนโยบายชูโรงของทรัมป์คือ การต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (หมดอายุในปี 2568) แบบถาวร และยกเลิกการเก็บภาษีเงินได้จากค่าทิป (Tips) จากการให้บริการ ขณะเดียวกันทรัมป์ก็เคยกล่าวกับซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ราว 100 คนในเดือนมิถุนายน ซึ่งมี Jamie Dimon จาก JPMorgan และ Tim Cook จาก Apple รวมอยู่ด้วย ว่าจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงอีกจากปัจจุบันที่อยู่ 21%
มาตรการทางภาษีข้างต้น อาจส่งผลกระทบได้ 2 มุม ในมุมบวกจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน (68% ต่อ GDP) และการลงทุน (18% ต่อ GDP) แต่ในทางกลับกันก็อาจสร้างรอยแผลทางการคลังที่ลึกขึ้น ปัจจุบันสหรัฐฯ ขาดดุลทางการคลังสูงถึง 6.3% ต่อ GDP สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศพัฒนาแล้วรองจากอิตาลีและญี่ปุ่นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็อาจผลักดันให้หนี้สาธารณะพุ่งเกิน 100% ต่อ GDP จากปัจจุบันที่ราว 97% เพิ่มความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือมากขึ้น หลังจากในปี 2566 Fitch Rating ได้ปรับลด Credit Rating ตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของสหรัฐฯ ลงจาก AAA เหลือ AA+ รวมถึง Moody?s Investor ก็ได้ปรับลด Outlook จาก Stable เป็น Negative จากเหตุผลด้านการคลังมาแล้ว
นอกจากนี้ นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายข้างต้น อาจหนุนให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะกลางกลับมาเร่งตัวอีกครั้งผ่านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปทานแรงงานของสหรัฐฯ ที่อาจตึงตัวขึ้นจากนโยบายเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทรัมป์ที่อาจเร่งให้ค่าจ้างขยับขึ้น สถานการณ์ดังกล่าว อาจสร้างความลำบากในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในระยะถัดไป ล่าสุดรายงาน Dot-Plot เดือนกันยายน 2567 พบว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้ และจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1.00% และ 0.50% ในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ
ซึ่งหาก Fed ปรับลดช้ากว่าหรือน้อยกว่าการคาดการณ์ข้างต้น หรือน้อยกว่าที่ทรัมป์ตั้งเป้าไว้ ก็อาจกลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งที่ส่งผลต่อประธาน Fed อย่าง Jerome Powell ที่จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2569 ซึ่งความไม่แน่นอนข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สุดท้ายนี้ แม้จะยังไม่ทราบว่าใครจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ แต่ที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่พญาอินทรีอย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (คิดเป็นกว่า 26% ของ GDP โลก) ขยับ ก็มักส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อมในการหาโอกาสควบคู่ไปกับการป้องกันความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน เพื่อจะได้เป็นผู้ชนะที่แท้จริงหลังสนามเลือกตั้งสหรัฐฯ ผ่านพ้นไป
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2567