Share โลกเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจไทยปีงูเล็ก...กับหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 5, 2025 15:26 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เศรษฐกิจไทยปี 2568 หรือปีนักษัตรงูเล็กยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่อเนื่องทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ตามตัวเลข 3 2 1 0 ดังนี้

3?ลุ้นเศรษฐกิจและส่งออกโต 3% หากทำได้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่เศรษฐกิจไทยก้าวพ้นกับดัก 1-2% โดยหลายฝ่ายคาดว่าปี 2568 เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวกลับมาเดินเครื่องพร้อมกัน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ภาครัฐที่ติด ๆ ดับ ๆ มาหลายปี จะเป็นตัวเร่งดันให้การบริโภคและการลงทุนโดยรวมขยายตัวได้ แต่ไส้ในที่ยังต้องลุ้นคือ การบริโภคสินค้าคงทน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมว่าจะกลับมาฟื้นได้เร็วแค่ไหนหลังยังเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจที่สูงแตะ 90% ต่อ GDP ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เห็นได้จากสินเชื่อปี 2567 ที่อาจหดตัวครั้งแรกในรอบ 14 ปี ในส่วนการส่งออกน่าจะยังโตต่อได้ที่ราว 3% หลัง IMF คาดว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกปี 2568 ยังโตในเกณฑ์ดีที่ 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ ประกอบกับสินค้าไทยหลายชนิดก็ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังได้อานิสงส์จากกระแส AI สินค้าเกษตรและอาหารจากความกังวล Food Security ตลอดจนสินค้า Lifestyle ที่ไทยยังอาศัย Soft Power ต่อยอดได้ อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องใช้เดินทาง ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ สินค้าจีนราคาถูกที่อาจทะลักมาแข่งขันมากขึ้น อีกทั้งยังต้องลุ้นว่าทรัมป์จะขึ้นภาษีประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ เพิ่มเติมหรือไม่ เพราะไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

2?รับมือโลก 2 ขั้ว ผันผวน 2 ทาง การกลับมาของทรัมป์สมัยที่ 2 (Trump 2.0) มาพร้อมกับอาวุธหนักอย่าง ?ภาษีนำเข้า? ที่ทรัมป์มักใช้ต่อรองกับประเทศอื่น ๆ เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ล่าสุดต้องจับตามองหลังจากทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2568 ว่าจะมีการประกาศนโยบายตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีจีน 10% และเม็กซิโกกับแคนาคาอีก 25% เพื่อให้เร่งจัดการกับปัญหาผู้อพยพและยาเสพติด รวมถึงขู่ขึ้นภาษีกลุ่ม BRICS 100% หากยังพยายามสร้างเงินสกุลใหม่มาแข่งกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในปีหน้าจะได้เห็นทรัมป์ใช้กลยุทธ์ ?เขียนเสือให้วัวกลัว? ผ่าน Social Media แทบจะรายวัน ก่อนที่จะลงโต๊ะเจรจา ส่งผลให้สถานการณ์ต่าง ๆ คาดการณ์ได้ยากและผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อาจไม่ได้ลดลงเร็วเพราะกลัวเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นจากนโบบายขึ้นภาษีนำเข้า ตลอดจนค่าเงินทั่วโลกที่อาจเหวี่ยงแรงขึ้น หลังปี 2567 ค่าเงินตลาดเกิดใหม่หลายสกุลเหวี่ยงขึ้นลงกว่า 10% รวมถึงค่าเงินบาทก็เช่นกัน

1?เร่งต่อยอดธุรกิจไทยให้ยืน 1 แม้จะมีความไม่แน่นอนจาก Trump 2.0 แต่ก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจไทยที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่เราเป็น 1 ใน Top Destination ของโลกที่น่าจะโตต่อได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะแตะระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 ซึ่งจะช่วยหนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งหลายธุรกิจมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ สถานการณ์ Decoupling ก็ยังเร่งให้เกิดการย้ายฐานผลิตออกจากจีนเป็นระยะ ไทยก็ถือเป็นเป้าหมายของเงินลงทุนดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมี Supply Chain แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่เรายืน 1 ด้าน Hard Disk Drive ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผงวงจรพิมพ์ (PCB) หรือ Data Center รวมถึงยานยนต์ที่ไทยยังติด 1 ใน 10 การผลิตรถยนต์สันดาปมากที่สุดในโลก ที่อาจต่อยอดไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าสำคัญในภูมิภาค ยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ไทยติด Top 10 โลกในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ การที่ไทยเป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกต่อไปสหรัฐฯ ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีไปด้วยอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับกรณียางล้อและแผงโซลาร์มาแล้ว

0?Net Zero สะดุด?...แต่ต้องเดินต่อ ปีหน้าถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากต่อความพยายามในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของโลก เพราะการกลับมาของทรัมป์ที่เขายังเชื่อว่าโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวงทำให้สหรัฐฯ อาจถอนตัวออกจาก Paris Agreement อีกครั้ง ซึ่งหากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ปล่อย CO2 อันดับ 2 ของโลก (สัดส่วน 12%) ใส่เกียร์ถอยหลังจากนโยบายส่งเสริมพลังงานฟอสซิลก็อาจทำให้โลกบรรลุเป้าหมายได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การประชุม COP29 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา แม้ประเทศพัฒนาแล้วจะใส่เงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น แต่ก็ดูจะยังไม่เพียงพอต่อความจำเป็นที่โลกยังต้องการ Climate Finance อีกหลายเท่าตัวเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5?C ทั้งนี้ แม้ระยะสั้นความพยายามดังกล่าวอาจสะดุดไปบ้าง แต่ในระยะยาวแล้วปัญหาโลกร้อนคงเป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายมากขึ้น ทั้งกำลังกายและกำลังเงิน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยคงต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัว กระจายความเสี่ยงและหาโอกาสท่ามกลางความไม่แน่นอนให้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อที่จะเป็นผู้อยู่รอดท่ามกลางมรสุมแห่งความผันผวนที่จะมีมากขึ้นในปี 2568

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2568

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ