Economic Highlights: รัฐทุ่มงบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยภายหลังวิกฤติการเงินโลกเริ่มลุกลาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2008 15:11 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

Macro

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 รัฐบาลออกมาตรการรองรับวิกฤติการเงินโลกผ่านมาตรการเพิ่มเงินหมุนเวียนในตลาดการเงินเพื่อเสริม สภาพคล่องแก่ระบบเศรษฐกิจรวมถึงกระตุ้นการส่งออกและการท่องเที่ยว ตลอดจนเพิ่มงบลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) มาตรการต่างๆ คาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ให้สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 4%

                    มาตรการ                        วงเงิน (ล้านบาท)
          รักษาเสถียรภาพตลาดทุน                           110,000
          สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง                             450,000
                    -ผ่านธนาคารพาณิชย์                    400,000
                    -ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ              50,000
          กระตุ้นรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว           360,000
                    -สินค้า                              300,000
                    -ท่องเที่ยว                            60,000
          เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ                          180,000
          เพิ่มงบลงทุนโครงการ Mega Projects               100,000
          รวม                                        1,200,000

Business

ยางพารา : ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ นอกจากส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในสหรัฐฯ ลดลงแล้ว ยังส่งผลลุกลามต่อเนื่องไป ยังประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น เนื่องจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์สำคัญของทั้งสองประเทศ ลดการสั่งซื้อยางรถยนต์ ลง สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ราคายางพาราปรับลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2551 โดยราคายางแผ่นดิบในปัจจุบันอยู่ที่ราวกิโลกรัม ละ 45-50 บาท ลดลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับระดับราคาสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2551

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าราคายางพาราอาจปรับลดลงต่ำกว่ากิโลกรัมละ 40 บาท จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจ ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ตลอดจนผลกระทบจากการยกเลิกคำสั่งซื้อยางพาราจากไทยของผู้นำเข้าจีนไปแล้วกว่า 10,000 ตัน หลังราคายางพารา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้นรายใหญ่ของไทย มั่นใจ ว่าราคายางพาราจะไม่ลดลงต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท เนื่องจากปัจจุบันสต็อกยางพาราของจีนและญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ เพียง 4 หมื่นตัน และ 3 พันตันตามลำดับ ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยางพาราของจีนซึ่งสูงถึงเดือนละ 2 แสนตัน ขณะที่ญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ราวเดือนละ 2 หมื่นตัน

พาณิชยนาวี : ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง BDI (Baltic Dry Index) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 อยู่ที่ 2,503 จุด ลดลง 9.4% (261 จุด) จากสัปดาห์ก่อนหน้าถือเป็นดัชนีต่ำสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 และลดลงถึง 79% จากที่เคยปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 11,930 จุด เมื่อ เดือนมิถุนายน 2551 ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกซึ่งลุกลามไปยังหลายประเทศ จนกระทบต่อภาวะการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของ โลก

International

Fed Funds Rate มีแนวโน้มลดลงต่อหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่อเค้าย่ำแย่

แม้ว่าทางการสหรัฐฯ ยังไม่ได้รายงานตัวเลขอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3 ปี 2551 อย่างเป็นทางการ แต่ล่าสุดดัชนี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของสหรัฐฯ เดือนกันยายน 2551 ลดลง 2.8% จากเดือนก่อน (ลดลงมากที่สุดในรอบ 34 ปี) ซึ่ง เป็นผลจากโรงงานและเหมืองแร่หลายแห่งต้องหยุดการผลิตหลังได้รับความเสียหายจากเฮอริเคน Gustav และ Ike ที่พัดกระหน่ำสหรัฐฯ ในช่วง เดือนกันยายนประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง ขณะที่มูลค่าการค้าปลีกในเดือนกันยายน 2551 อยู่ที่ ระดับ 3.755 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 1.2% จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นอัตราการลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดไว้ว่าจะลดลงเพียง 0.7% ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และอาหาร

ดัชนีทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังกล่าวสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 กำลังเข้าสู่ภาวะย่ำแย่ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของนาย Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve : Fed) ที่ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรง (Significant Threat) จากวิกฤติสินเชื่อ โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่าท่าทีดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่า Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย นโยบาย (Fed Funds Rate) ลงในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee : FOMC) ครั้งถัดไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2551

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2551--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ