ปัจจุบันทวีปแอฟริกาเป็นตลาดใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ส่งออกและนักลงทุนต่างชาติส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤติซับไพร์มที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มหันไปหาตลาดใหม่อย่างทวีปแอฟริกา ซึ่งมีศักยภาพและได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในปัจจุบันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตลาดใหม่ในภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากทวีปแอฟริกา เป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรกว่า 900 ล้านคน อีกทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ต่าง ๆ ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศแอฟริกาทั้งหลาย แอฟริกาใต้นับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้แอฟริกาใต้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มีดังนี้
- เศรษฐกิจโดดเด่นที่สุดในทวีป แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในทวีปแอฟริกา และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5 ต่อปี อีกทั้งเศรษฐกิจแอฟริกาใต้มีความหลากหลายทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของแอฟริกาใต้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสามารถนำรายได้จำนวนมากเข้าประเทศในแต่ละปี
- ตลาดขนาดใหญ่และประชากรมีกำลังซื้อสูง แอฟริกาใต้เป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรราว 48 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของทวีปแอฟริกา อีกทั้งประชากรมีกำลังซื้อสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ราว 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบกับไทยซึ่งอยู่ที่ราว 4,300 ดอลลาร์สหรัฐ) มากเป็นอันดับต้น ๆ ในทวีปแอฟริกา
- โครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานของแอฟริกาใต้ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนมีความพร้อมและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งของแอฟริกาใต้ซึ่งมีประสิทธิภาพ จึงเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค ซึ่งผู้ส่งออกไทยสามารถใช้เป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้
- การค้ากับไทยขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของแอฟริกาใต้ ขณะที่แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้มีมูลค่า 1,159.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดแอฟริกาใต้ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็กและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่การนำเข้าจากแอฟริกาใต้มีมูลค่า 427.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เหล็ก สินแร่โลหะ และอัญมณี เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภคแอฟริกาใต้
- สินค้าไทยเป็นที่ต้องการในตลาดแอฟริกาใต้ ผู้บริโภคแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่นิยมสินค้าที่มีคุณภาพและผลิตตามกรรมวิธีที่ถูกสุขอนามัย รวมทั้งได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับคุณสมบัติของสินค้าไทยส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขณะที่สินค้าจีนซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดแอฟริกาใต้ค่อนข้างมาก กลับประสบปัญหาด้านคุณภาพจึงได้รับความนิยมน้อยลง ซึ่งนับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดในแอฟริกาใต้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแอฟริกาใต้ยังมีอุปสรรคสำคัญด้านการค้าการลงทุน อาทิ ปัญหาการเมืองการแข่งขันสูงทั้งกับผู้ประกอบการท้องถิ่นและคู่แข่งต่างชาติ ค่าขนส่งสินค้าจากไทยไปแอฟริกาใต้อยู่ในระดับสูงและกฎระเบียบการค้าการลงทุนบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการศึกษารูปแบบตลาด ตลอดจนระเบียบการค้าการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจก่อนตัดสินใจบุกตลาดแอฟริกาใต้
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤจิกายน 2551--