Economic Highlights: หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งเสนอ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 18, 2008 15:39 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

Macro

ปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มีทีท่าจะบรรเทาลง ประกอบกับวิกฤติการเงินโลกที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องไปถึงปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงตั้งแต่ต้นปี 2551 ส่วนดัชนี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี ขณะที่แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อเริ่มบรรเทาลงตามระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญรวมทั้งสถาบันการเงินหลายแห่งเสนอแนะให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ลงราว 0.50% (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.75%) ในรอบการประชุม กนง. ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง

Business

ข้าว : ปริมาณส่งออกข้าวในเดือนพฤศจิกายน 2551 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เหลือเพียง 4.5 แสนตัน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าปริมาณส่งออกข้าวทั้งปี 2551 อาจไม่บรรลุเป้าหมายที่ระดับ 9.5 ล้านตัน สำหรับสถานการณ์ราคาส่งออกข้าวในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม — 5 พฤศจิกายน 2551 พบว่า ข้าวหอมมะลิชั้น 1 ราคาลดลงเหลือตันละ 796 ดอลลาร์สหรัฐ (จากตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ) ข้าวขาวชั้น 2 ราคาลดลงเหลือตันละ 591 ดอลลาร์สหรัฐ (จากตันละ 595 ดอลลาร์สหรัฐ) และข้าวขาว 5% ราคาลดลงเหลือตันละ 576 ดอลลาร์สหรัฐ (จากตันละ 580 ดอลลาร์สหรัฐ) ราคาส่งออกข้าวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ส่งออกปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ในช่วงขาลงด้วยการจัดหาข้าวให้เพียงพอกับปริมาณคำสั่งซื้อที่ได้รับเท่านั้น โดยไม่สต็อกข้าวเป็นจำนวนมากเหมือนในช่วงก่อนหน้า

อาหารทะเล : มูลค่าส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าลดลงเฉลี่ย 10-20% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องปรับลดลงตาม อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณส่งออกปลาทูน่ากระป๋องจะยังทรงตัวทั้งในตลาดสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น เนื่องจากปลาทูน่ากระป๋องเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

พลังงาน : ราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับลดลงเหลือเพียง 102.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในปัจจุบัน จากที่เคยสูงถึง 180-190 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันอย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวยังสูงกว่าราคาในช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 83.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แสดงถึงความต้องการใช้ถ่านหินที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเพื่อใช้สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน ทำให้ราคาถ่านหินไม่ได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกมากนัก ทั้งนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) คาดว่าราคาถ่านหินมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ตามความต้องการที่ยังมีอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ขณะที่แหล่งถ่านหินใหม่อยู่ระหว่างการพัฒนาและมีต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น ดังนั้น ปริมาณถ่านหินที่จะออกสู่ตลาดจึงยังมีจำกัด

International

ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2552 ขยายตัวเพียง 1%

ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลงเหลือ 2.6% ในปี 2551 และ 1% ในปี 2552 จากที่ขยายตัว 3.7% ในปี 2550 เนื่องจากวิกฤติการเงินโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มดังกล่าวชะลอตัวลงมากในปี 2551 และหดตัวในปี 2552 ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลงตามกำลังซื้อที่ลดลงในตลาดหลัก การเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับไปเสริมสภาพคล่องในประเทศที่เกิดวิกฤติ รวมทั้งการชะลอโครงการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัว 3.1% ในปี 2553 เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแก้ไขปัญหาใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ ธนาคารโลกประกาศพร้อมให้เงินกู้ใหม่จำนวน 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2552-2554) เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้

          ประเทศ                         2550 e        2551 f        2552 f        2553 f
World                                      3.7           2.6           1.0           3.1
  High-income Countries                    2.5           1.4          -0.1           2.1
          - OECD Countries                 2.4           1.2          -0.2           1.9
          - Non-OECD Countries             5.6           4.6           3.2           5.4
  Developing Countries                     7.9           6.5           4.5           6.2
          - East Asia and Pacific         10.5           8.8           6.7           8.0
          - Europe and Central Asia        7.1           6.0           3.5           5.4
          - Latin America and Caribbean    5.7           4.5           2.1           4.0
          - Middle East and North Africa   5.7           5.7           3.5           5.2
          - South Asia                     8.4           6.3           5.4           7.2
          - Sub-Saharan Africa             6.3           5.4           4.6           5.8

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤศจิกายน 2551--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ