Economic Highlights: มูลค่าส่งออกเดือนตุลาคม 2551 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2008 14:52 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

Macro

กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 15,266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.2% (ขยายตัวต่ำสุด ในรอบ 6 ปี) เทียบกับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ที่ขยายตัวสูงถึง 23.9% สำหรับในปี 2552 คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาวิกฤติการเงินโลก ที่เริ่มขยายวงกว้างสู่ภาคเศรษฐกิจจริง

สศช. รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัว 4.0%

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัว 4.0% ชะลอลงจาก 6.0% และ 5.3% ในไตรมาสแรกและไตรมาสสอง ตามลำดับ เนื่องจากอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (Export-Import) ชะลอลงมากเหลือเพียง 0.3% เป็นผลจากการส่งออกบริการสุทธิที่ชะลอลงตามรายได้ภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุน (ไม่รวมส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ) ขยายตัวเพียง 0.6% ส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง 2.9% พร้อมกันนี้ สศช.คาดว่าทั้งปี 2551 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวราว 4.5% (จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.2-5.7%) ก่อนจะชะลอลงเหลือ 3-4% ในปี 2552

หน่วย : %

ปี 2551

                       ไตรมาส 1      ไตรมาส 2      ไตรมาส 3           ทั้งปี            คาดการณ์ปี 2552
อัตราขยายตัว(เดิม)          6.0           5.3           4.0           4.5(5.2-5.7)          3.0-4.0
อัตราเงินเฟ้อ(เดิม)          5.0           7.5           7.3           5.6(6.5-7.0)          2.5-3.5
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

Business

ท่องเที่ยว : วิกฤติการเงินโลกคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยทั้งด้านปริมาณ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มลดลงเพราะการท่องเที่ยวถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อรายได้ของชาวต่างชาติลดลง จึงมีแนวโน้มชะลอการท่องเที่ยวออกไปก่อน ขณะที่ผลกระทบด้านราคา เกิดขึ้นเนื่องจากแนวโน้มที่ลดลงของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและ EU ซึ่งเป็นกลุ่มที่มียอดใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในระดับสูง(เฉลี่ย 4,000 บาทต่อวัน) และใช้เวลาท่องเที่ยวในไทยค่อนข้างนาน(เฉลี่ย 13 วัน) ดังนั้น รายได้ที่สูญเสียไปจากการลดลงของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงิน จึงชดเชยได้ยากจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ทั้งนี้ ผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกทำให้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายน 2551 ลดลง 16.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2550 และคาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 จนถึงต้นปี 2552

ข้าว : สัปดาห์นี้มีข่าวดีเกี่ยวกับการส่งออกข้าว ดังนี้

  • หลายประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น อาทิ ไนจีเรียขยายระยะเวลานำเข้าข้าวอีก 2 เดือน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติอาหาร
เกาหลีใต้อนุมัติงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 161.1 พันล้านวอน เป็น 368.9 พันล้านวอน เพื่อนำเข้าข้าวตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลง WTO ขณะที่ญี่ปุ่นอาจเปิดประมูลนำ เข้าข้าวอีก 2.5 หมื่นตัน หลังจากเลื่อนประมูลมาจากวันที่ 17 กันยายน 2551
  • การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนซึ่งใช้งบประมาณถึง 4 ล้านล้านหยวน เนื่องจาก

นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ผู้นำเข้าข้าวของจีนมีสภาพคล่องมากขึ้น และมีแนวโน้มกลับมาซื้อข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากไทยเช่นเดิมหลังจากชะลอการสั่งซื้อในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้นำเข้าประสบปัญหาด้านการเงินจนต้องลดปริมาณสั่งซื้อข้าวหอมมะลิจากไทยลง โดยเปลี่ยนจากที่เคยซื้อเก็บเป็นสต็อกมาเป็นการซื้อตามปริมาณที่ใช้จริงเท่านั้น รวมถึงขอยืดระยะเวลาชำระเงินจาก 60 วัน เป็น 90-120 วัน

International

Fed คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงและอาจเผชิญภาวะเงินฝืด

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve : Fed) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ เหลือ 0 ถึง 0.3% ในปี 2551 และ -0.2% ถึง 1.1% ในปี 2552 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1 ถึง 1.6% และ 2 ถึง 2.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มหดตัวลงจนถึงกลางปี 2552 จากที่เริ่มหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2551 เนื่องจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ภาคการผลิต การจ้างงาน รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลงมากนอกจากนี้ Fed ยังปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเหลือ 2.3 ถึง 2.5% ในปี 2551 และ 1.5 ถึง 2.0% ในปี 2552 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.2 ถึง 2.4% และ 2 ถึง 2.2% ตามลำดับ โดยปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจที่ส่อเค้าถดถอยส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคและระดับราคาสินค้าในสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2551 (m-o-m) หดตัว 1% จากเดือนกันยายน 2551 นับเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 61 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราคาสินค้าในสหรัฐฯ ลดลงอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด(Deflation) ซึ่งเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากอุปสงค์รวมน้อยกว่าอุปทานรวมจนทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าลงส่งผลให้รายรับและผลกำไรของภาคธุรกิจลดลงตามมา ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ระดับราคาสินค้าที่ลดลงเรื่อยๆ จะไม่จูงใจให้เกิดการผลิตและส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องลดการผลิตลง อันจะทำให้การจ้างงานลดลงในที่สุด

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ถดถอยและความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญภาวะเงินฝืด ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.5% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee : FOMC)ครั้งถัดไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2551

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธันวาคม 2551--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ