ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2551 ขยายตัว 0.8% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2551 ขยายตัว 3.9% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2552 มาอยู่ที่ระดับ 2.0% (จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.6%) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศส่งผลซ้ำเติมการส่งออก การลงทุน และการบริโภคภายในประเทศ
ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม กนง.
หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ลงเหลือ 2.75% ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ราว 0.5% ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ราว 0.5-1.0% ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารพาณิชย์ยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่มาก เนื่องจากลูกหนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นด้านการชำระหนี้จากภาวะเศรษฐกิจซบเซา รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่สถาบันจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศชั้นนำหลายแห่งทั้ง S&P, Fitch Ratings รวมถึง Moody’s Investors Service ต่างทยอยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ผลิตภัณฑ์ยาง : สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยคาดว่าการส่งออกถุงมือยางของไทยในปี 2552 จะมีมูลค่าราว 31,000 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 5-7% เทียบกับที่ขยายตัว 10% ในปี 2551 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และ EU ส่งผลให้ความต้องการใช้ ถุงมือยางลดลง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 50% ภายหลังรัฐบาลเตรียมประกาศขึ้นราคาก๊าซ LPG ซึ่งปัจจุบัน เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิต (จากเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง) อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกบางส่วนเตรียมขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ อาทิ ประเทศในยุโรปตะวันออก และจีน เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
พลังงาน : ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของประเทศมีแนวโน้มลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้ คณะกรรมการปรับปรุงแผนการพัฒนากำลังผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศเตรียมประชุมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 4 ราย ที่เซ็นสัญญาซื้อขาย กระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปแล้วมาเจรจา เพื่อขอเลื่อนการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบออกไป 1 ปี จากสัญญาเดิม ภายใต้ เงื่อนไขที่อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต้องไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะเจรจาเลื่อนโครงการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศออกไป 1-2 ปี และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าวังน้อย และโรงไฟฟ้าจะนะ ตลอดจนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ออกไป เช่นเดียวกับ การชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไป 1-2 ปี หากยังไม่มีความพร้อม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ประเมินความต้องการใช้กระแสไฟฟ้า เป็น 3 กรณี ได้แก่ 1) กรณีเศรษฐกิจขยายตัว 3% ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 5% 2) เศรษฐกิจขยายตัว 2% ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้า ลดลง 10% และ 3) เศรษฐกิจขยายตัว 1% ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 15%
ถ่านหิน : ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับลดลงเหลือ 79 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากที่เคยสูงถึง 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในช่วงกลางปี 2551 สำหรับในปี 2552 โอกาสที่ราคาถ่านหินจะปรับสูงขึ้นเหมือนที่ผ่านมาเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทั้งนี้ คาดว่าราคาถ่านหินในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับ 80 (บวก/ลบ 10) ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หากไม่มีปัจจัยบั่นทอน ที่รุนแรงกว่าในปัจจุบัน สำหรับตลาดถ่านหินในประเทศ คาดว่าความต้องการใช้ในปี 2551 จะใกล้เคียงกับปี 2550 โดยเป็นถ่านหินลิกไนต์ที่ใช้ ในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 18 ล้านตัน และถ่านหินนำเข้า 17 ล้านตัน
เศรษฐกิจโลกปี 2552 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 26 ปี
ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลงเหลือ 2.5% ในปี 2551 และ 0.9% ในปี 2552 (ต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี) จากที่ขยายตัว 3.7% ในปี 2550 เนื่องจากผลกระทบของวิกฤติการเงินโลก ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งสหรัฐฯ ญี่ป่น และ EU ชะลอลงในปี 2551 และหดตัวในปี 2552 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจตลาดหลัก พร้อมกันนี้ธนาคารโลกคาดว่ามูลค่าการค้าโลกปี 2552 จะหดตัว 2.1% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 26 ปี จากที่ประมาณการว่าจะขยายตัว 6.2% ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2553 ที่ระดับ 3.0% เนื่องจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบรรดาประเทศต่าง ๆ เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น
Countries
2551 e 2552 f 2553 f World 2.5 0.9 3.0 High-income Countries 1.3 -0.1 2.0 United States 1.4 -0.5 2.0 Euro Area 1.1 -0.6 1.6 Japan 0.5 -0.1 1.5 Developing Countries 6.3 4.5 6.1 East Asia and the Pacific 8.5 6.7 7.8 - China 9.4 7.5 8.5 - Indonesia 6.0 4.4 6.0 - Thailand 4.6 3.6 5.0 Europe and Central Asia 5.3 2.7 5.0 - Poland 5.4 4.0 4.7 - Russia 6.0 3.0 5.0 - Turkey 3.0 1.7 4.9 Latin America and the Caribbean 4.4 2.1 4.0 - Argentina 6.6 1.5 4.0 - Brazil 5.2 2.8 4.6 - Mexico 2.0 1.1 3.1 Middle East and North Africa 5.8 3.9 5.2 - Algeria 4.9 3.8 5.4 - Egypt 7.2 4.5 6.0 - Iran 5.6 3.5 4.2 South Asia 6.3 5.4 7.2 - Bangladesh 6.2 5.7 6.2 - India 6.3 5.8 7.7 - Pakistan 6.0 3.0 4.5 Sub-Saharan Africa 5.4 4.6 5.8 - Kenya 3.3 3.7 5.9 - Nigeria 6.3 5.8 6.2 - South Africa 3.4 2.8 4.4
Notes : e = estimated. f = forecasted.
Source : World Bank, December 10, 2008.
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธันวาคม 2551--