EXIM BANK ผนึกกำลัง NEXI คุ้มครองความเสี่ยงธุรกิจส่งออกไทย-ญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 24, 2009 15:38 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

EXIM BANK จับมือ NEXI คุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่ใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังตลาดโลก เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของไทยในระยะยาว

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงการประกันต่อ (Reinsurance Agreement) ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) และองค์กรรับประกันการส่งออกและลงทุนแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance : NEXI) ซึ่งมี ดร.อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายฟูมิฮิโกะ คาโต้ รองประธาน กรรมการ NEXI เป็นผู้ลงนาม ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ EXIM BANK จะให้บริการประกันการส่งออกแก่บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวญี่ปุ่น และบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นซึ่งประกอบกิจการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังประเทศต่างๆ ยกเว้นญี่ปุ่น โดยมี NEXI เป็นผู้รับประกันต่อ (Reinsurer) นอกจากนี้ EXIM BANK จะให้บริการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อในต่างประเทศเพื่อให้นักธุรกิจญี่ปุ่นหรือบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำการค้าหรือเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่เหมาะสมและแข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อ และหากผู้ส่งออกญี่ปุ่นไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าอันเนื่องมาจากความเสี่ยงทางการค้าหรือการเมือง EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนช่วยติดตามหนี้ให้เมื่อมีปัญหา

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นในไทยมีจำนวนกว่า 1,500 ราย ซึ่งถือว่าไทยเป็นฐานการลงทุนของญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างมาก ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่หลายรายในไทยต่างก็เป็นลูกค้าของ NEXI ด้วยเช่นกัน ความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กรนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคส่งออกของไทย ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชียโดยรวม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร

โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-8

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มิถุนายน 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ