รมช.คลัง มอบนโยบายให้ EXIM BANK ขยายขีดความสามารถในการส่งเสริมการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนอย่างเต็มที่ ขณะที่ EXIM BANK เตรียมเปิดบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อซัพพลายเออร์ส (EXIM for Your Suppliers)”และ “บริการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ (Buyer’s Credit)” และเปิดสาขาย่อยเพิ่ม 4 แห่งภายในปีนี้ หลังทำกำไรสุทธิ 104 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2552
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายในโอกาสตรวจเยี่ยมธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 ว่า EXIM BANK ควรต้องมีขีดความสามารถที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนได้อย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและการพัฒนาประเทศของไทย โดยการรุกสร้างโอกาสทางการค้า ลดปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรักษาตลาดการค้าเดิมควบคู่กับการบุกตลาดใหม่ได้ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร และเทคโนโลยีการผลิตควรได้รับการส่งเสริม เพื่อใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าของไทยให้แข่งขันได้ในตลาดการค้าระดับบนทั่วโลก นอกจากนี้ EXIM BANKควรเร่งขยายบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” โดยเข้าไปสนับสนุนโครงการลงทุนภายในประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ พลังงานและพลังงานทดแทน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพร้อมจะสนับสนุน EXIM BANK ทั้งด้านการเพิ่มทุนเพื่อให้ EXIM BANK มีกำลังและความเข้มแข็งในการขยายภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย และการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ
ด้าน ดร.อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้รายงานผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในช่วงครึ่งแรกปี 2552 แก่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในโอกาสนี้ว่า EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินใหม่สำหรับสินเชื่อและบริการประกันการส่งออกจำนวนทั้งสิ้น 13,372 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนแก่ผู้ส่งออกและนักธุรกิจไทย และมีวงเงินสินเชื่ออยู่ในระหว่างการเจรจาลงนามในสัญญาอีก 12,992 ล้านบาท จึงคาดว่าในปี 2552 EXIM BANK จะบรรลุเป้าหมายวงเงินอนุมัติเพิ่มใหม่ที่ตั้งไว้ 19,700 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 104 ล้านบาท
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 EXIM BANK มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อจำนวน 46,214 ล้านบาท ภาระผูกพันประกันการส่งออก 13,071 ล้านบาท และสินทรัพย์ 59,628 ล้านบาท สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans : NPLs) มีจำนวน 4,113 ล้านบาท อัตราส่วน NPLs ต่อเงินให้สินเชื่อลดลงจาก 9.24% ณ สิ้นปี 2551 เหลือ 8.84% ทั้งนี้เป็นผลจากความสำเร็จในการแก้ไขหนี้จำนวน 1,522 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และคาดว่าในครึ่งหลังของปี 2552 NPLs จะลดลงอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท
ในการเร่งขยายธุรกิจและบริการเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกต่อผู้ส่งออกไทย EXIM BANK ได้จัดทำโครงการประกันการส่งออก โดยลงนามในบันทึกความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐรวม 10 แห่งเพื่อขยายบริการประกันการส่งออก EXIMSurance) คุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของธนาคารนั้นๆ รวมทั้งช่วยให้ผู้ส่งออกมีโอกาสได้รับการขยายสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากกรมธรรม์ EXIMSurance เป็นหลักประกันประเภทหนึ่งที่สามารถโอนสิทธิการรับค่าชดเชยสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ได้ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินใหม่สำหรับบริการประกันการส่งออกระยะสั้นจำนวน 2,695 ล้านบาท เทียบกับ 1,547 ล้านบาทในปี 2551
ขณะเดียวกัน EXIM BANK ได้พัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจาก “เอ็กซิมฟอร์เอสเอ็มอี (EXIM 4 SMEs)” บริการประกันการส่งออกเพื่อผู้ส่งออก SMEs ซึ่งมีอัตราค่าเบี้ยประกันถูกกว่ากรมธรรม์แบบปกติถึง 35% และอนุมัติกรมธรรม์ภายใน 1 สัปดาห์ เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 และภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ EXIM BANK จะเปิดตัว 2 บริการใหม่ได้แก่ “บริการสินเชื่อเพื่อซัพพลายเออร์ส (EXIM for Your Suppliers)” เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก (ซัพพลายเออร์) ของลูกค้า EXIM BANK และ “บริการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ (Buyer’s Credit)” เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศและส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการของไทย ซึ่งปัจจุบัน EXIM BANK มีความร่วมมือกับธนาคารในต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าและบริการจากไทยเป็นวงเงินรวม 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ลงนาม Revolving Trade Financing Facility (RTFF) กับ PT. Bank Ekspor Indonesia (Persero) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 และกำลังจะลงนามกับธนาคารในรัสเซียอีก 4 แห่งในเร็วๆ นี้
EXIM BANK ได้ปรับโครงสร้างการทำงานของสาขาและเปิดสาขาย่อยภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารออมสินตามแนวนโยบาย “1 สาขา 2 ธนาคาร” เพื่อใช้พื้นที่สาขาร่วมกันและความเชี่ยวชาญของกันและกันให้บริการทางการเงินและคำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการในย่านธุรกิจและแหล่งชุมชน โดยปัจจุบัน EXIM BANK มีสาขาย่อยเปิดให้บริการณ ที่ทำการสาขาของธนาคารออมสินรวม 3 แห่ง ได้แก่ สาขาย่อยบางรัก วงเวียนใหญ่ และอ้อมใหญ่ และในครึ่งหลังปี 2552 จะเปิดสาขาย่อยเพิ่มอีก 4 แห่งได้แก่ สาขาย่อยติวานนท์ สาธุประดิษฐ์ จักรวรรดิ และสุราษฎร์ธานี
EXIM BANK ยังคงเดินหน้าบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” และเร่งสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินในต่างประเทศและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 EXIM BANK ร่วมกับซูมิโตโมมิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น และไดว่า ซิเคียวริตี้ เอสเอ็มบีซี ได้นำเสนอโครงการระดมทุนโดยการออกพันธบัตรเอเชีย(Asian Bond) ให้แก่ สปป.ลาว เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารการค้าต่างประเทศ สปป.ลาว (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao : BCEL) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และโอกาสทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการค้า และการลงทุนไทย-สปป.ลาว นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ร่วมมือกับ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) ด้านการฝึกอบรมบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการวิเคราะห์สินเชื่อโครงการลงทุน (Project Finance)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-8
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กรกฎาคม 2552--