เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำอย่างหนักในปี 2552 สร้างความเสียหายไม่เพียงแต่สหรัฐฯ ที่เป็นประเทศต้นตอของปัญหาแต่ยังลุกลามไปยังประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ทั้งสหภาพยุโรป (European Union : EU) และญี่ปุ่นซึ่งล้วนเป็นผู้เล่นหลักในเวทีการค้าการลงทุนของโลก สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ผ่านทั้งภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะถดถอยอย่างรุนแรงอีกครั้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ Great Depression ในช่วงทศวรรษที่ 1930
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาภาคส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังเห็นได้จากสัดส่วนมูลค่าส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(Gross Domestic Product : GDP) ที่สูงกว่า 60% ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อประเทศคู่ค้าต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าภาคส่งออกของไทยก็ย่อมถูกกระทบ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่พึ่งพาตลาดหลักในสัดส่วนสูง อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนีนั้บเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องหันมาทบทวนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้การค้าการลงทุนของประเทศเดินหน้าต่อไปได้และพร้อมฝ่าฟันกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้คาดว่าทิศทางการค้าและการลงทุนของไทยในปี 2553 จะมีการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปดังนี้
ตลาดใหม่จะยิ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการรักษาตลาดหลักเดิม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้บั่นทอนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทยไปมาก ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะจีนอินเดียและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนประเทศในตะวันออกกลางสามารถประคองตัวได้ค่อนข้างดีสถานการณ์เช่นนี้สท้อนให้เห็นว่าศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเปลี่ยนถ่ายจากโลกตะวันตกมาสู่โลกตะวันออกชัดเจนขึ้นพร้อมๆ กับการที่ตลาดใหม่เริ่มขยับสถานะเทียบชั้น ประเทศเศรษฐกิจหลักเดิมมากขึ้นบทบาทของตลาดใหม่ที่เพิ่มขึ้น ในเวทีการค้าโลกนี้เองทำให้มีการเสนอให้ใช้เวทีการประชุม G20 ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ให้เป็นเวทีในการกำหนดทิศทางและกติกาเศรษฐกิจระหว่างประเทศแทน จากเดิมที่การกำหนดนโยบายทำโดยประเทศในกลุ่ม G8 ซึ่งมีแต่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้นสภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นเสมือนเข็มทิศบอกทางให้ทราบว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยควรต้องรีบเข้าไปยึดหัวหาดในตลาดใหม่อย่างจริงจังในภาวะที่ตลาดเหล่านี้ยังขาดแคลนสินค้าและบริการอีกมากทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ประกอบกับคู่แข่งยังมีไม่มากนัก ขณะที่ประเทศไทยเองมีความพร้อมหลายด้านในการเข้าไปเจาะตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดใหม่ในเอเชีย โดยอาศัยจุดแข็งในเรื่องทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กัน การมีเครือข่ายคมนาคมโยงใยกว้างขวาง ที่สำคัญการผลิตของไทยมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายเพียงพอที่ทำให้เกิดการผลิตอย่างครบวงจร อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหลักเดิมก็ยังมีความสำคัญและไม่ควรละทิ้งเพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง แต่การทำตลาดอาจต้องปรับกลยุทธ์ไปจากเดิม โดยหันมาทำตลาดแบบแยกส่วน (Market Segmentation) มากขึ้น เพื่อเจาะลึกลงรายละเอียดในแต่ละกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการสินค้าที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นหลัก กลุ่มเด็กที่พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจซือ้ จะคำนึงถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยมากพอๆ กับปัจจัยด้านราคา เป็นต้น
การค้าภายใต้เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) จะกลับมาคึกคักขึ้นหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวรอบใหม่ พร้อมๆ กับการที่ภาครัฐจะเดินหน้าเจรจาเปิดเสรีในระดับต่างๆ อย่างจริงจังในฐานะเครื่องมือในการดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบด้านการค้าการลงทุน ทั้งนี้การเปิดเสรีในระดับทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพ นอกจากจะเป็นกลไกสำคัญในการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่อยู่ในรูปของภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อขยายตลาดส่งออกและเป็นการเพิ่มทางเลือกในการนำเข้าปัจจัยการผลิตราคาถูกจากประเทศคู่เจรจาแล้วยังสามารถใช้ประเทศคู่เจรจาเป็นประตูการค้าสู่ประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ขณะเดียวกันแนวทางนีถื้อเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการเมืองทางอ้อม เพื่อใช้เป็นสะพานสร้างอำนาจต่อรองในเวทีการเจรจาในระดับพหุภาคีต่อไปในอนาคต นอกจากกระแสการเปิดเสรีดังกล่าวแล้ว คาดว่าการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเองมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายการผลิต (Production Network) ให้กว้างขวางโดยใช้ประโยชน์จากต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำ ความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ตลอดจนความคุ้นเคยทางวัฒนธรรมโดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
กลยุทธ์การตลาดจะเน้นตอบสนองวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ของผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าแทนการเน้นแข่งขันด้านราคา อาทิ การผลิตสินค้าให้สอดรับกับวิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ รวมทัง้กระแสการบริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการใช้แรงงานในการผลิตอย่างเหมาะสม ตลอดจนความใส่ใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม(Corporate Social Responsibility : CSR) ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและจุดประกายให้ประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะยุโรปหันมากำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าอย่างจริงจังมากขึ้น อาทิ ข้อกำหนดเกี่ยวกับระเบียบฉลากสินค้าไม่ว่าจะเป็น Green Label, Carbon Footprint, Fairtrade Label นอกจากนี้การทำการค้าในเสี้ยววินาทีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E-commerce) ที่สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการการค้าโลกก็เป็นแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามกระแสการค้าและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวและสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative Industry) จะมีบทบาทมากขึน้ ในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ โลกการค้าปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาก ที่สำคัญคือผู้ผลิตรายใหม่ที่เพิ่งเปิดประเทศรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศได้ไม่นานเข้ามามีบทบาทในตลาดอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าระดับล่างที่เน้นแข่งขันด้านราคา ดังนั้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ ประเทศไทยอยู่รอดได้ท่ามกลางคลื่นลูกใหม่ที่ถาโถมเข้าสู่ตลาดตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตซึ่งแต่ละประเทศต้องเร่งหารายได้เพื่อทดแทนส่วนที่หายไปในช่วงที่เศรษฐกิจบอบช้ำ ผู้//ประกอบการไทยจึงควรวาตำแหน่ง (Position) สินค้าและกำหนดจุดยืนที่จะขึ้นมาเป็นผู้เล่นในตลาดระดับกลางถึงระดับบนให้มากขึ้น โดยใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ผสมผสานกับจุดเด่น ทั้งในเชิงศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม หัตถกรรมพืน้ บ้าน อาหาร และการแสดง เพื่อใช้เป็นจุดแข็งในการชิงชัยในสนามการค้าซึ่งยากที่ประเทศใดจะมาเลียนแบบ ซึ่งกรณีตัวอย่างของประเทศที่ดำเนินตามวิถีทางดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชมคือ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้สร้างตำนานในการดึงจุดเด่นทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวและภาพยนตร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
สำหรับประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีในการเกาะไปกับกระแสดังกล่าว เพราะรัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าวจากราว 900,000 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 1.8 ล้านล้านบาทภายในปี 2555
การค้าบริการจะมีบทบาทมากขึ้น คู่ขนานไปกับการค้าสินค้า คาดว่าประเทศต่างๆ จะใช้การค้าภาคบริการเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจผ่านพ้นไป ซึ่งนอกจากเป็นช่องทางช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการค้าสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำอีกด้วย สำหรับกรณีของประเทศไทย ธุรกิจบริการที่มีศักยภาพในการรองรับความต้องการของตลาดและสามารถพัฒนาจนก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางการค้าบริการของภูมิภาคได้แก่ บริการด้านการท่องเที่ยวบริการด้านสุขภาพ บริการด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งบริการด้านการถ่ายทำและตัดต่อภาพยนตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ไทยยังสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อต่อยอดกิจกรรมการผลิตที่มีอยู่เดิมให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยการพัฒนาและยกระดับการผลิตให้กลายเป็น ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) ศูนย์กลางการทดสอบคุณภาพสินค้าและศูนย์ซ่อมบำรุง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประกอบและจัดส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไปยังโรงงานต่างๆ ทั่วโลก เป็นต้น
การลงทุนพัฒนาพลังงานทางเลือกเป็นสิ่งจำเป็น เป็นที่แน่ชัดว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลนับวันมีแต่จะร่อยหรอลงและมีราคาสูงขึ่น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นรอบใหม่ ส่งผลให้หลายประเทศมีแนวโน้มกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งเพื่อทดแทนการนำเข้าและสร้างโอกาสสู่การผลิตเพื่อส่งออกสำหรับประเทศที่มีความพร้อมและมีศักยภาพเพียงพอ ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆ จึงเริ่ม จริงจังมากขึ้นกับการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและส่งเสริมการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ ขณะเดียวกันคาดว่าการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานจะคึกคักขึ้น ท่ามกลางราคาพลังงานที่จะกลับมาสูงขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Solar Cell ที่สามารถแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนา Eco-Car ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานและ Hybrid-Car ที่ใช้พลังงานส่วนหนึ่งจากแบตเตอรี่ เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมันที่มีราคาแพงและก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านีล้วนเป็นนวัตกรรมที่มีส่วนช่วยเสริมและต่อยอดการพัฒนาพลังงานทดแทนอีกทางหนึ่ง สำหรับประเทศไทยมีสินค้าในกลุ่มพลังงานทางเลือกที่มีอนาคตไกลและไทยมีศักยภาพ อาทิ ไบโอดีเซลซึ่งคาดว่าความต้องการในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การผลิตของไทยมีความพร้อมในการรองรับความต้องการใช้ในประเทศทั้งปัจจัยสนับสนุนด้านวัตถุดิบ ตลอดจนแรงหนุนสำคัญจากนโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญในการปูพื้นฐานการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมไบโอดีเซลของประเทศ
การลงทุนในต่างประเทศกลายเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับหนทางอยู่รอด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและทางการประมงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก รวมถึงอุตสาหกรรมหนักบางประเภทที่เริ่มประสบข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ลงทุนทั้งนีเพื่อแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสม วัตถุดิบและแรงงาน รวมถึงเป็นการขยายตลาดไปยังประเทศที่เข้าไปลงทุนหรือใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของประเทศที่เข้าไปลงทุนในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ท่ามกลางกระแสการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีผ่านกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) ซึ่งประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วนำมาใช้อย่างแข็งขันขึ้น การลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นทางออกของผู้ประกอบการส่งออกในหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะพบเห็นมากขึน้ ในระยะต่อจากนีไป ขณะที่ผู้ประกอบการไทยส่วนหนึ่งมีประสบการณ์และมีความพร้อมในการเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม การค้าการลงทุนในปี 2553 มีปัจจัยที่ท้าทายผู้ประกอบการไทยอยู่รอบด้าน โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่เป็นตลาดหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นโยบายเศรษฐกิจของประเทศตลาดใหม่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่จะมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและความผันผวนของเงินบาทในทิศทางแข็งค่าขึ้นต้นทุนราคา น้ำมัน//เชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว ปัจจัยต่างๆ เหล่านีล้วน//เป็นสิ่งกำหนดทิศทางการค้าการลงทุนที่สำคัญยิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปี 2553
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2552--