EXIM BANK แถลงผลการดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในภาวะวิกฤตการเงินโลกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 โดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่จำนวน 34,684 ล้านบาทหรือ 93% ของเป้าหมายรวมจำนวน 37,202 ล้านบาทซึ่งรวมกับจำนวนที่ได้รับมอบหมายเพิ่มจากกระทรวงการคลังแล้ว และอนุมัติสินเชื่อหมุนเวียนฟาสต์แทร็ก 6,633 ล้านบาทหรือ 190% ของเป้าหมาย 3,500 ล้านบาทที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้รวมทั้งการขยายบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK โดยอนุมัติวงเงินรับประกันการส่งออก 4,734 ล้านบาท คิดเป็น 125% ของเป้าหมาย พร้อมเดินหน้าเปิดบริการใหม่และเปิดสาขาย่อยอย่างต่อเนื่อง
ดร.อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ EXIM BANK ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในภาวะวิกฤตการเงินโลก ดังนี้
1. โครงการสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนโครงการสินเชื่อฟาสต์แทร็กของรัฐบาล โดย EXIM BANK ได้รับมอบหมายให้ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก 17,500 ล้านบาทจากเป้าหมายเดิมของ EXIM BANK ที่ตั้งไว้สำหรับปี 2552 จำนวน 19,702 ล้านบาท รวมเป็นเป้าหมายวงเงินอนุมัติใหม่ในปี 2552 จำนวนทั้งสิ้น 37,202 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเดือน 9 เดือนแรกของปี 2552 EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเป็นวงเงิน 34,684 ล้านบาท คิดเป็น 93% ของเป้าหมาย ในจำนวนนี้เป็นการอนุมัติวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการเอ็กซิมเครดิตฟาสต์แทร็กจำนวน 6,633 ล้านบาท คิดเป็น 190% ของเป้าหมาย 3,500 ล้านบาทที่กำหนดไว้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 EXIM BANK มีสินทรัพย์ 62,265 ล้านบาท มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อจำนวน 47,245 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 และเพิ่มขึ้นเป็น 50,490 ล้านบาท ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 160 ล้านบาท
2. โครงการประกันการส่งออก (EXIMSurance) เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดย EXIM BANK ได้รับเพิ่มทุนจำนวน 5,000 ล้านบาท ภายใต้งบไทยเข้มแข็งเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2552 EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินรับประกันการส่งออกจำนวน 4,734 ล้านบาท คิดเป็น 125% ของเป้าหมาย มียอดแจ้งประกันการส่งออกจำนวน 29,785 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของเป้าหมาย และภาระผูกพันการรับประกันจำนวน 14,829 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 16,290 ล้านบาท ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552
3. โครงการบริการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ (Buyer’s Credit) เป็นบริการใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดย EXIM BANK จะนำเสนอเงินกู้หรือแหล่งเงินกู้เพื่อให้ผู้ซื้อในต่างประเทศนำไปใช้ซื้อสินค้าไทย ทั้งนี้ ปัจจุบัน EXIM BANK ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับธนาคารในต่างประเทศภายใต้โครงการ Buyer’s Credit เป็นวงเงินรวม 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ธนาคารในอินโดนีเซียและรัสเซีย รวมทั้งอยู่ระหว่างการลงนามกับธนาคารในศรีลังกา 3 แห่ง วงเงินรวม 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. โครงการสินเชื่อเพื่อซัพพลายเออร์ส (EXIM for Your Suppliers) เป็นบริการใหม่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกซึ่งเป็นลูกค้าของ EXIM BANK โดยในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2552 EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินให้แก่ผู้ส่งออกรวม 188 ราย วงเงิน 2,098 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ EXIM BANK ได้เพิ่มเครือข่ายการให้บริการโดยทยอยเปิดสาขาย่อย ณ ที่ทำการของธนาคารออมสิน ภายใต้ความร่วมมือ “1 สาขา 2 ธนาคาร” เพื่อให้บริการทั้งด้านธุรกิจต่างประเทศการประกันการส่งออก บริการทางการเงิน การให้สินเชื่อ และการร่วมลงทุนแก่ลูกค้าของทั้งสองธนาคาร โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 EXIM BANK ได้เปิดสาขาย่อย 4 แห่งได้แก่ สาขาย่อยอ้อมใหญ่ วงเวียนใหญ่ ติวานนท์ และจักรวรรดิ รวมกับสาขาย่อยบางรักซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 และอีก 2 สาขาย่อยที่จะเปิดดำเนินการใน ไตรมาส 4 ของปี 2552 ได้แก่ สาขาย่อยสาธุประดิษฐ์และสุราษฎร์ธานี ส่วนสาขาเต็มรูปแบบของ EXIM BANK มีจำนวน 9 แห่งในปัจจุบัน ได้แก่ บางนา-ตราด กม. 3 พระราม 2 พระราม 4 รังสิต เสรีไทย ขอนแก่น เชียงใหม่หาดใหญ่ และแหลมฉบัง
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤศจิกายน 2552--