กระทรวงการคลังสนับสนุน EXIM BANK เร่งขยายบริการประกันการส่งออก กระตุ้นผู้ส่งออกไทยทำประกันการส่งออกทุกครั้ง โดย EXIM BANK กำหนดเป้าหมายมูลค่ารับประกันการส่งออกระยะสั้นในปี 2553 เป็น 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69% จากมูลค่ารับประกันการส่งออกระยะสั้นจำนวน 59,200 ล้านบาทในปี 2552
นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากตัวเลขคาดการณ์ของสถาบันประกันการส่งออกชั้นนำของโลกระบุว่า ในปี 2553 จำนวนของธุรกิจที่ล้มละลายในประเทศต่างๆ จะเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 60,700 แห่ง (จาก 43,546 แห่งในปี 2551) สหราชอาณาจักร 37,500 แห่ง (จาก 29,994 แห่งในปี 2551) และฝรั่งเศส 68,600 แห่ง (จาก 57,665 แห่งในปี 2551) ทำให้ผู้ส่งออกไทยควรต้องทำ “ประกันการส่งออก” ทุกครั้ง โดยปัจจุบัน EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีบริการประกันการส่งออก (EXIMSurance) ซึ่งช่วยตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อในต่างประเทศ จ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ส่งออกแล้วไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า รวมทั้งช่วยติดตามหนี้เมื่อมีปัญหา ทำให้ผู้ส่งออกไทยสามารถบุกตลาดใหม่หรือขยายการค้าในตลาดเดิมได้อย่างมั่นใจ
“นอกจากประกันการส่งออกจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถให้เทอมการชำระเงินที่แข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างมั่นใจแล้ว ยังจะสามารถใช้ประกันการส่งออกเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย” นายแพทย์พฤฒิชัยกล่าว
ทั้งนี้ บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK แบ่งเป็น 1) EXIM SURE เป็นบริการประกันการส่งออกที่เหมาะสำหรับผู้ส่งออกที่ต้องการให้ EXIM BANK ช่วยติดตามดูแลการส่งออกทุก Shipment ที่ส่งไปยังคู่ค้าอย่างใกล้ชิด 2) EXIM FLEXI เปิดตัวในปี 2551 เป็นบริการประกันการส่งออกแบบใหม่ซึ่งปรับลดค่าเบี้ยประกัน ลดขั้นตอนการทำงานของธนาคารและผู้ส่งออก และเพิ่มผลประโยชน์ในส่วนของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับผู้ซื้อแต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า 3) EXIM 4 SMEs เปิดตัวในปี 2552 เป็นบริการประกันการส่งออกเพื่อผู้ส่งออก SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี มีอัตราค่าเบี้ยประกันถูกกว่ากรมธรรม์แบบปกติถึง 35% และอนุมัติกรมธรรม์ภายใน 1 สัปดาห์
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มกราคม 2553--