ธุรกิจท่องเที่ยว : ฟ้าหลังฝนมีวันสดใส..อานิสงส์เปิดเสรีภาคบริการอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 15:58 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ท่ามกลางปัจจัยลบที่บั่นทอนธุรกิจท่องเที่ยวของไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แม้ในช่วงต้นปี 2553 ที่เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีแนวโน้มกระเตื้อง แต่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองก็กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านความมั่นคงในประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากพายุลมแรงพัดผ่านไปคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง เพราะด้วยปัจจัยพื้นฐานแล้ว ภาคเอกชนของไทยในธุรกิจ ท่องเที่ยวนับว่ามีความเชี่ยวชาญในการให้บริการและการทำตลาด ผนวกกับมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการในตัวอุตสาหกรรมเอง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมกระจายอยู่ทั่วประเทศโรงแรมที่พักในประเทศไทยมีหลายระดับราคา และมีหลายประเภทให้เลือก อีกทั้งอาหารไทยและการให้บริการด้วยไมตรีจิตที่ดีเยี่ยมของคนไทยก็เป็นที่เลื่องชื่อไปทั่วโลก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในไทยก็ไม่สูงมาก นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของประเทศไทยซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็เป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวต่อยังประเทศอื่น สะดวกขึ้น จุดแข็งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรายรับด้านการท่องเที่ยวของไทยที่สูงสุดในอาเซียน

เปิดเสรีภาคบริการอาเซียน...ขยายโอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทย

ความร่วมมือเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศในอาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือและเงินทุนอย่างเสรีภายในปี 2558 โดยในส่วนของภาคบริการของประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ได้มีการเปิดเสรีใน 4 สาขาบริการเร่งรัด (Priority Services Sectors) ประกอบด้วยสาขาท่องเที่ยว โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ (e-Asean) สุขภาพ และการขนส่งทางอากาศ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้ามาถือหุ้นในสาขาดังกล่าวในประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมได้ไม่น้อยกว่า 70% ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมต้องเร่งขจัดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Market Access) รวมทั้งต้องประติบัติต่อนักลงทุนต่างชาติเยี่ยงนักลงทุนในชาติ (National Treatment) ทั้งนี้ นอกเหนือจากบริการใน 4 สาขาข้างต้นแล้ว ยังมีการทยอยขยายขอบเขตการเปิดเสรีในสาขาโลจิสติกส์ในปี 2556 และบริการอื่นๆ ทุกสาขาให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 อีกด้วย

จากการเปิดเสรีในสาขาบริการข้างต้น เป็นที่คาดว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในสาขา e-ASEAN และโลจิสติกส์ เนื่องจากสิงคโปร์มีความพร้อมในด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เทคโนโลยีและบุคลากรที่มีทักษะเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยสนับสนุนและข้อได้เปรียบต่างๆ ในสาขาท่องเที่ยวของไทยดังได้กล่าวมาแล้ว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยและบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สปา นวดแผนไทย บริษัทนำเที่ยว ตลอดจนธุรกิจสุขภาพที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดูแลสุขภาพ (Health Care) ธุรกิจบริการรักษาทางการแพทย์ (Medical Care) ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Aging Care) และธุรกิจเสริมความงาม (Beauty Care) จะได้ประโยชน์อย่างมากจากการเปิดเสรีดังกล่าวในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากในและนอกอาเซียนที่จะเพิ่มขึ้น

เปิดเสรีภาคบริการภายใต้ AEC..สู่มิติใหม่ของการขยายเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวนอกประเทศ

ภายใต้ข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ ที่มีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับการถือหุ้นที่ผ่อนปรนลง นับเป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพในการขยายเครือข่ายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อาทิ

  • ธุรกิจร้านอาหาร สปาและนวดแผนไทยในประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย
  • ธุรกิจโรงแรมระดับกลางขึ้นไปหรือการรับจ้างบริหารโรงแรม บริษัทนำเที่ยว ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมาก
  • ธุรกิจโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตามเมืองหลวงหรือเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ซึ่งยังมีความต้องการบริการเหล่านี้อีกมากทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพอย่างไรก็ตาม มีข้อที่ต้องตระหนักว่าการเปิดเสรีที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรมที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงและต้องการบุคลากรที่มีทักษะ โดยเฉพาะด้านภาษาซึ่งยังเป็นข้อจำกัดสำคัญของบุคลากรไทย

เร่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอาเซียนพร้อมสร้างแบรนด์ท่องเที่ยวไทย

การที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องหันมาคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศประกอบกันอย่างเป็นระบบ โดยเน้นใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในการเปิดเสรีระหว่างประเทศอย่าง AEC อาทิ ร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงกันระหว่างประเทศอาเซียน โดยจัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยวที่ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ครบทุกประเทศ ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม บริษัททัวร์และร้านอาหารในการต่อยอดและขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ไทยควรสร้างความโดดเด่นหรือสร้างแบรนด์ด้านการท่องเที่ยวของตัวเอง ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวนึกถึงประเทศไทยจะนึกถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอันดับแรก อาทิ การให้บริการด้วยรอยยิ้มและความมีมิตรไมตรีของคนไทย ความโดดเด่นของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ผสมผสานไปกับวิถีชีวิตของคนไทย เช่น การพาเที่ยวพร้อมสอนทำอาหารและขนมไทย การท่องเที่ยวและพักในรูปแบบโฮมสเตย์ เป็นต้น อีกทั้งการสร้างจุดขายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาค อันเป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาพักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ หากภาคการท่องเที่ยวของไทยสามารถปรับใช้กลยุทธ์ต่างๆ ข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูญเสียไปเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่คาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกเช่นในอดีตที่ผ่านมา

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มิถุนายน 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ