ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการใช้ AFTA ให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 14:58 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ภายใต้เป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)หนึ่งในภารกิจสำคัญที่เป็นกรอบนำร่องของการมุ่งสู่จุดหมายดังกล่าวคือ การเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA)”

เรื่องของ AFTA กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ต้องลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหลือ 0% สำหรับสินค้าที่อยู่ในบัญชีลดภาษี (Inclusion List : IL) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 99% ของจำนวนสินค้าทั้งหมดที่ค้าขายกัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่4 ประเทศ ได้แก่ พม่า สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องทยอยลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าในกลุ่ม IL จนเหลือ 0% ภายในปี 2558 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ ภายใต้ข้อตกลง AFTA สินค้าส่งออกของไทยอะไรบ้างที่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาว่าสินค้าชนิดใดจะได้ประโยชน์จาก AFTA จำเป็นต้องแยกพิจารณาตลาดอาเซียนเดิม 5 ประเทศและตลาดอาเซียนใหม่ 4 ประเทศออกจากกัน เนื่องจากในตลาดอาเซียนเดิม ซึ่งกำหนดให้ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2553 แต่ในทางปฏิบัติกว่า 80% ของสินค้าทั้งหมดได้ลดอัตราภาษีลงเหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2550 ทำให้ในปัจจุบันเริ่มเห็นชัดเจนว่าการส่งออกสินค้าภายใต้ AFTA ไปยังตลาดอาเซียนเดิม 5 ประเทศมีสินค้าใดได้ประโยชน์บ้าง โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์จาก AFTA ต้องเข้าข่ายองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

  • แต้มต่อทางภาษี สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติ (MFN Rate) และอัตราภาษีพิเศษภายใต้ AFTA (Common Effective Preferential Tariff : CEPT Rate) ทั้งนี้ แม้กว่าร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมดที่ค้าขายกันกับประเทศในอาเซียนเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ AFTA (CEPT Rate เท่ากับ 0%) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าจำนวนไม่น้อยที่มีอัตราภาษีนำเข้าปกติ(MFN Rate) เท่ากับ 0% อยู่แล้ว ซึ่งถือได้ว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้รับแต้มต่อทางภาษี ทำให้ผู้ส่งออกรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องส่งออกโดยใช้สิทธิ AFTA ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า และมีค่าใช้จ่ายมากกว่า เช่น กรณีของประเทศสิงคโปร์ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มีภาษีนำเข้า MFN Rate เป็น 0% อยู่แล้ว ทำให้ผู้ส่งออกไทยได้ประโยชน์ด้านภาษีจากข้อตกลงAFTA ในการส่งออกไปยังสิงคโปร์ไม่มากนัก
  • การใช้สิทธิประโยชน์ สินค้าบางประเภทแม้ได้รับแต้มต่อทางภาษีภายใต้ AFTA แต่อัตราการใช้สิทธิทางภาษีจาก AFTA กลับอยู่ในระดับต่ำ อาทิ การส่งออกเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ไปตลาดบรูไน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ AFTA ขณะที่ภาษี MFN Rate สูงถึง 500% แต่ปรากฏว่าผู้ส่งออกไทยกลับใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA ในการส่งออกสินค้าดังกล่าวเพียง 30-40% ของมูลค่าส่งออกรวม หรือ การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปอินโดนีเซีย ซึ่งไทยได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ AFTA ขณะที่อัตราภาษี MFN Rate อยู่ที่ราว 10-15% แต่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก AFTA เพียง 50% ของมูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมดไปตลาดอินโดนีเซีย ทั้งนี้ มีสาเหตุหลายประการซึ่งทำให้ผู้ส่งออกไม่ใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ AFTA อาทิ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นๆ ไม่เป็นไปตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins) บางประเทศมีการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างเข้มงวด รวมไปถึงผู้ประกอบการบางรายขาดความรู้ในเรื่อง AFTA เป็นต้น
  • ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยถือเป็นปัจจัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ส่งออกได้รับ โดยในเบื้องต้นความสามารถในการแข่งขันอาจวัดได้จากส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยบางรายการ แม้ได้รับแต้มต่อทางภาษี ขณะที่อัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับสูง แต่ไทยกลับต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งได้ประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ AFTA เช่นกัน เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอาจด้อยกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในอาเซียน อาทิการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปอินโดนีเซีย แม้สินค้าไทยได้แต้มต่อด้านภาษีในอัตราสูง (CEPT Rate อยู่ที่ 0% ขณะที่ MFN Rate อยู่ที่ 5-20%) ขณะเดียวกันอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ก็สูงกว่า 80% แต่ไทยกลับเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับมาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงในสินค้าดังกล่าว และได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ AFTA เช่นเดียวกัน

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการใช้ประโยชน์จากข้อตกลง AFTA ในการส่งออกไปตลาดอาเซียนเดิม 5 ประเทศ อยู่ที่สินค้านั้นต้องได้รับแต้มต่อทางภาษี มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับสูง และขณะเดียวกันต้องเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียนด้วยกันเอง ดังปรากฏในตาราง

สำหรับตลาดอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ แม้ปัจจุบันผู้ส่งออกยังใช้ประโยชน์จาก AFTA ไม่มากนัก แต่จากข้อตกลง AFTA ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศต้องลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าในกลุ่ม Inclusion List ให้เหลือ 0% ภายในปี 2558 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้คาดว่าจะมีสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการที่น่าจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวในระยะถัดไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK

โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 2105

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มิถุนายน 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ