หลังการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G-20 * ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2553 ที่นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา สิ้นสุดลง มีประเด็นสำคัญซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน นั่นคือ การให้ประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วลดยอดขาดดุลงบประมาณและรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อป้องกันปัญหาในเชิงโครงสร้างที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
แม้การประชุม G-20 ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศต่างๆ แต่จากวิกฤตหนี้ภาครัฐที่กำลังเกิดขึ้นกับกรีซ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับปัญหาด้านการคลัง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขหนี้ภาครัฐและการขาดดุลการคลัง พบว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีหนี้ภาครัฐและ ขาดดุลการคลังในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา รวมถึงประเทศหัวแถวในกลุ่ม EU ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ซึ่งเป็นไปได้ว่าประเทศเหล่านี้อาจจำเป็นต้องหันมาลดการขาดดุลการคลังและรักษาวินัยทางการคลังตามข้อเรียกร้อง ในการประชุม G-20 ในเร็วๆ นี้
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทาง : FDI ท่องเที่ยว ส่งออก
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางจากปัญหาหนี้ภาครัฐและการว่างงานในระดับสูง ท่ามกลางกระแส ที่หลายประเทศอาจจำเป็นต้องตัดทอนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจลง ทำให้กำลังซื้อหรืออุปสงค์ในประเทศเหล่านั้นอาจชะลอลงได้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาภาคต่างประเทศในระดับสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงพลอยได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ในเบื้องต้นคาดว่าการลดยอดขาดดุลงบประมาณและเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาวินัยทางการคลังในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ EU ญี่ปุ่น และแคนาดา จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทางสำคัญ ดังนี้
- การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ในปี 2552 เศรษฐกิจไทยพึ่งพา FDI จากประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า 50% ของ FDI โดยรวม คิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็น FDI จากญี่ปุ่นถึง 34% ดังนั้นหากกลุ่มประเทศดังกล่าวจำเป็นต้องลดการขาดดุลการคลังลงอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้การลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอลง
- การท่องเที่ยว ในปี 2552 นักท่องเที่ยวจากประเทศพัฒนาแล้วข้างต้นเดินทางเข้ามาในไทยคิดเป็นสัดส่วนราว 41% จำนวนกว่า 5.8 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่มีสัดส่วนสูงถึง 29%หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในไทย ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากหากประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม G-20 ต้องลดภาระการขาดดุลการคลัง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน (ปัจจุบันอัตราว่างงานของหลายประเทศสูงเกือบ 10%) ส่งผลให้ประชากรจากประเทศเหล่านี้เดินทางท่องเที่ยวลดลง
- การส่งออก แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกของไทยได้กระจายความเสี่ยงด้วยการส่งออกไปยังตลาดใหม่มากขึ้น แต่พบว่าเรายังคงพึ่งพาตลาดหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นรวมกันกว่า 30% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หรือมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากความสามารถในการนำเข้าของประเทศดังกล่าวลดลง จะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกสูงถึงกว่า 60% ของ GDP
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยแต่ละรายการจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วน การพึ่งพาการส่งออกไปแต่ละตลาด รวมทั้งลักษณะโครงสร้างของสินค้าแต่ละประเภทว่าเป็นสินค้าจำเป็นต่อ การบริโภค/การผลิตมากน้อยอย่างไรเป็นสำคัญ
( หมายเหตุ * ประกอบด้วย *EU ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลีสหราชอาณาจักรสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่นออสเตรเลีย ตุรกี แอฟริกาใต้ แคนาดา เม็กซิโก อาร์เจนตินา บราซิล จีน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย )
ผลกระทบต่อการส่งออก : จำแนกตามกลุ่มสินค้า
- สินค้าอาหาร : ผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกไปประเทศกลุ่มนี้มาก แต่ความรุนแรงของผลกระทบจะไม่มากนัก เพราะเป็นสินค้าจำเป็น
- สินค้าแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์ : ผู้ส่งออกอาจได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงและรวดเร็ว เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกไปประเทศกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก โดยสินค้าระดับกลางถึงบนเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดการสั่งซื้อลงเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่สินค้าระดับล่างต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับจีน เวียดนาม และบังกลาเทศ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า : ความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นต่อรายได้ของผู้ซื้อเป็นหลัก เนื่องจาก เป็นสินค้าที่สามารถชะลอการซื้อได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคา ทำให้สินค้าไทยอาจเสียเปรียบสินค้าราคาถูกจากจีนได้
- ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ : ผลกระทบคาดว่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงในระยะแรก โดยเฉพาะในเชิงจิตวิทยาเนื่องจากเป็นสินค้าที่เข้าข่ายฟุ่มเฟือย โดยสินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบมาก คือ HDD และแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง
- ยานยนต์และชิ้นส่วน : การส่งออกอาจมีแนวโน้มชะลอลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากพึ่งพาตลาดประเทศพัฒนาแล้วไม่มากนัก ประกอบกับชิ้นส่วนยานยนต์ส่งออกของไทยมีหลายระดับ ทั้ง OEM และ REM จึงตอบสนองความต้องการได้อย่างหลากหลาย
วิธีรับมือของผู้ส่งออกไทย
- เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นกับตลาดส่งออกหลักของไทยในกลุ่ม G-20 จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องหมั่นประเมินสถานการณ์เพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทั้งในเรื่องกระจายความเสี่ยงด้านการส่งออก โดยหันไปเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น รวมถึงใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีให้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันก็ยังจำเป็นที่จะต้องรักษาตลาดหลักเดิมเหล่านี้ไว้ แต่อาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งอาจต้องทบทวนสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขายสินค้ากันอย่างจริงจังมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการหันมาเน้นแข่งขันด้านคุณภาพด้วยการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์แทนการแข่งขันด้านราคา เพื่อลดความรุนแรงจากสงครามด้านราคา ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ การจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าขนส่ง ก็นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ไม่ควรมองข้าม
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กรกฏาคม 2553--